แกะรอยอักษรไทย “ฌ” จาก “จินดามณี” ถึงรัตนโกสินทร์

Culture ศิลปวัฒนธรรม

อเกาะกระแสละครฮิตอีกสักหน่อย เกี่ยวกับอักษรไทย ตามอย่างในละคร บุพเพสันนิวาส ที่กล่าวถึงออกญาโหราธิบดี ผู้ประพันธ์หรือแต่งหนังสือ “จินดามณี” แบบเรียนในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ จนกระทั่งกลายมาเป็นต้นเค้าของตำราเรียนภาษาไทยที่ใช้ในยุคปัจจุบัน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ อาจารย์นิตยา กาญจนะวรรณ ผู้เชี่ยวชาญภาษาไทย เขียนไว้ในนิตยสาร “มติชนสุดสัปดาห์” ตอนหนึ่ง ว่า ตำราภาษาไทยนับแต่จินดามณี ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นต้นมา เมื่อกล่าวถึงอักษรไทย ก ถึง ฮ ก็เรียกแต่ ก ข ค ง โดยไม่มีชื่อกำกับว่า ก ไก่ ข ไข่ ดังในปัจจุบัน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 (พ.ศ.2367-2394) ตัว ก ข ค ง ฯลฯ จึงเริ่มมีชื่อกำกับอยู่ 36 ตัว (จากจำนวน 44 ตัว) แต่ก็เป็นไปเพื่อการเล่นหวยเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อการศึกษา

ในครั้งนั้น ฌ ได้ชื่อว่า “ฌ ฮวยกัง” หรือ “ฌ ฮวยกัว”

สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (พ.ศ.2411-2453) พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) จึงได้คิดคำกำกับพยัญชนะเฉพาะ ที่มีเสียงพ้องกัน 26 ตัวขึ้น ในครั้งนั้น ฌ ได้ชื่อว่า “ฌ ฌาน” ต่อมาใน พ.ศ.2442 หนังสือแบบเรียนเร็ว ฉบับที่โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งที่ 10 ก ถึง ฮ จึงเริ่มมีชื่อกำกับครบทั้ง 44 ตัวเป็นครั้งแรก รวมทั้งมีภาพประกอบด้วย แบบเรียนเร็วนี้เป็นพระนิพนธ์ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ในครั้งนั้น ฌ ได้ชื่อว่า “ฌ เฌอ” จากนั้นตำราเรียนในยุคหลังๆ ก็ล้วนแต่มีชื่อกำกับให้ ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก ทั้งสิ้น

เล่มที่สำคัญ มีดังนี้

“ดรุณศึกษา” ของ ฟ.ฮีแลร์ เริ่มใช้ในโรงเรียนอัสสัมชัญ และเริ่มพิมพ์เป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2453 ต้นรัชกาลที่ 6 ในครั้งนั้น ฌ ก็ยังคงเป็น “ฌ เฌอ”

“มูลบทบรรพกิจ” ฉบับโรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ หรือโรงพิมพ์วัดเกาะ พ.ศ. 2458 และ 2463 มีคำเรียก ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก แถมมาให้ด้วย ในครั้งนั้น ฌ ได้ชื่อ “ฌ ฤๅษีเข้าฌาน”

ส่วนฉบับของโรงพิมพ์ห้างสมุด พ.ศ.2465 ฌ กลายเป็น “ฌ อุปัชฌาย์” และฉบับของโรงพิมพ์พานิชศุภผล ซึ่งพิมพ์ในปีเดียวกัน เรียก ฌ ว่า “ฌ คิชฌะ” (แร้ง)

ต่อจากนั้นมีการแต่ง ก ไก่ คำกลอน เพื่อให้จดจำง่ายยิ่งขึ้น ที่เก่าแก่ที่สุดคือคำกลอนของ ย้วน ทันนิเทศ ซึ่งอยู่ในหนังสือแบบเรียนไว พ.ศ. 2473 ซึ่งเขียนว่า “ฌ เฌอ ริมทาง” แต่ พ.ต.อ.(พิเศษ) ฉลาด พิศาลสงคราม จำข้อความได้เป็นว่า “ฌ กะเฌอ ริมทาง” ต่อมา พยงค์ มุกดา ได้นำคำกลอนนี้มาแต่งเป็นเพลง และได้ใช้ถ้อยคำ “ฌ กะเฌอ ริมทาง”

อย่างไรก็ตาม ได้มีผู้แต่งคำกลอนนี้ขึ้นมาใหม่อีก ที่มีชื่อเสียงมากและได้เข้ามาแทนที่คำกลอนของย้วน ทันนิเทศ ก็คือคำกลอนที่ปรากฏใน แบบเรียน ก ไก่ ชั้นเตรียมของบริษัทประชาช่าง พิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2490 ซึ่งใช้ว่า “ฌ กะเฌอ คู่กัน” หนังสือ ก ไก่ ภาพเรียนเขียนอ่าน ของบริษัทประชาช่าง ฉบับราว พ.ศ.2500 ใช้ว่า “ฌ กะเฌอ ริมทาง” หนังสือแบบเรียน ก ไก่ อนุบาล ของบริษัทประชาช่าง พ.ศ. 2533 ใช้ว่า “ฌ เฌอ คู่กัน”

ในปี พ.ศ.2535 มนตรี ศรีบุษรา ได้เสนอว่า “เฌอ” เป็นภาษาเขมร แปลว่า “ไม้” ถ้าจะให้มีความหมายว่า “ต้นไม้” ต้องมีคำว่า “เดิม” อยู่ข้างหน้าด้วย เป็น “เดิมเฌอ” ฉะนั้น ฌ ควรจะเป็น “ฌ เดิมเฌอ”

จะเห็นได้ว่า ฌ มีชื่อเรียกมาอย่างมากมาย คือตั้งแต่ ฌ ฮวยกัง (ฮวยกัว) มาจนถึง ฌ เฌอ ในปัจจุบัน ชื่อที่เรียกต่างกันไปนั้น บางครั้งผู้คิดก็ให้เหตุผลไว้ บางครั้งก็มิได้ให้ เช่น พระยาศรีสุนทรโวหาร ไม่อยากให้เอาชื่อหวยมาเป็นชื่อตัวอักษร ส่วนที่มีพยางค์ “กะ” หรือ “กระ” มานำอยู่ข้างหน้านั้น สามารถใช้เรื่องเสียงมาอธิบายได้ว่า เพื่อให้ออกเสียงได้ถนัดกว่าที่จะพูดแยกกันเป็นคำๆ