“ข้าวจี่พันอ้อย” อร่อย ครบรส ทั้งคาวและหวาน

Business ธุรกิจ

อยากชวนเพื่อนๆ มาเปลี่ยนบรรยากาศวันหยุดแสนธรรมดาให้เป็นวันแห่งความสุขสุดประทับใจที่ WISDOM FARM พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน) อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี สถานที่ท่องเที่ยวเก๋ๆ สไตล์เกษตรพอเพียง ซึ่งคนทุกเพศทุกวัยสามารถเข้ามาเรียนรู้วิถีชีวิตพอเพียง สนุกกับกิจกรรมป้อนนมลูกแพะ ป้อนหญ้าน้องควายเผือก ช็อป ชม ชิม สินค้าเกษตร อาหารอร่อยๆ ที่ wisdom market อย่าลืมแวะเก็บภาพสวยๆ ที่สะพานไม้ไผ่กลางแปลงนาอินทรีย์และบริเวณฐานการเรียนรู้บ้านเรือนไทย 4 ภาค ด้วยนะจ๊ะ

สำหรับคนที่ชื่นชอบอาหารเพื่อสุขภาพ อยากชวนแวะชมและชิม “ข้าวจี่พันอ้อย” รสชาติอร่อยที่หาชิมได้ที่พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ เพียงแห่งเดียว เมนูข้าวจี่พันอ้อย เกิดจากแนวคิดของ คุณปุณณ์รัศมิ์ โฮมภาราช เกษตรกรชาวจังหวัดสกลนคร ที่ชื่นชอบวิถีเกษตรอินทรีย์ (โทร. (062) 420-6465 เฟซบุ๊ก “โฮมหอมจันทร์ สวนฝันออร์แกนิค”) เธอทำสวนเกษตรอินทรีย์ผสมผสาน และปลูกอ้อยพันธุ์สุพรรณบุรี 50 เพื่อหีบคั้นเป็นน้ำอ้อยออกขาย เธอนำผลผลิตจากไร่มาขายที่พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ ทุกสัปดาห์ แต่ไม่สะดวกในการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์คั้นน้ำอ้อย

เนื่องจากคุณปุณณ์รัศมิ์ชื่นชอบการทำข้าวจี่อยู่แล้ว จึงเกิดแนวคิดประยุกต์ข้าวจี่ อาหารว่าง เมนูบ้านๆ ของภาคเหนือ

ข้าวจี่พันอ้อย ไม้ละ 10 บาท

และอีสาน มารวมร่างกับอ้อยสุพรรณบุรี 50 กลายเป็น “ข้าวจี่พันอ้อย” เมนูแสนอร่อย โดยเธอนำพันธุ์ข้าว เช่น “ข้าวซำบาย” เป็นข้าวขาวพันธุ์พื้นบ้าน ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำสุด มาใช้คู่กับข้าวเหนียวดำพันธุ์ “ลืมผัว” ที่มีคุณค่าทางสารอาหารมากมาย ทั้งวิตามินอี กรดไขมัน โอเมก้า 6 ธาตุเหล็ก สังกะสี โปรตีน แถมมีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งได้อีกด้วย เพิ่มความหวานฉ่ำด้วยอ้อยอินทรีย์ ชุบไข่เยิ้มๆ ย่างบนเตาถ่านร้อนๆ ส่งกลิ่นหอมฟุ้งทั่ว เรียกลูกค้าให้เดินเข้ามาหาได้ตลอด ขายในราคาไม่แพงแค่ไม้ละ 10 บาท ลูกค้าที่มาเป็นครอบครัวก็ซื้อครั้งละ 8-10 ไม้ ข้าวจี่พันอ้อยขายดีมาก แต่ละวันสร้างรายได้หลายพันบาททีเดียว

หากใครได้ไปเที่ยวก็อยากให้ลองแวะไปชิมข้าวจี่พันอ้อยได้ที่เรือนไทย 4 ภาค (ภาคอีสาน)
คุณมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลองชิมข้าวจี่พันอ้อย

ข้าวจี่พันอ้อยสร้างรายได้ดีกว่าปลูกอ้อยคั้นน้ำ

โดยทั่วไป การปลูกอ้อยคั้นน้ำสุพรรณบุรี 50 จะให้ผลผลิตเฉลี่ย 4,913 ลิตร 9 ตัน ต่อไร่ (12,000 ลำ ต่อไร่) โดยมีค่าความหวาน 16.1 บริกซ์ สำหรับอ้อยอายุ 8 เดือน อ้อยสายพันธุ์นี้แตกกอดี ให้น้ำอ้อยสีเขียวอมเหลือง รสชาติหวานหอม เก็บไว้ในตู้เย็นได้นาน 4-5 วัน แถมมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง มีธาตุเหล็กและมีวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกาย

“อ้อยคั้นน้ำ 1 กอมีจำนวน 20 ต้น ปลูกในพื้นที่ 1 ไร่ ได้ 1,600 กอ เท่ากับ 32,000 ต้น ได้เริ่มทดลองขายข้าวจี่พันอ้อยครั้งแรก ในงานมหกรรม “พระแม่แห่งแผ่นดิน”

โซนของดี 4 ภาค ระหว่างวันที่ 3-4 สิงหาคม 2562 ก็ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี ลองคิดคำนวณรายได้จากการนำอ้อยคั้นน้ำมาแปรรูปเป็นเมนูข้าวจี่พันอ้อยพบว่า สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้จำนวนมาก ยกตัวอย่างอ้อย 1 ต้น 15 ข้อขึ้นไป จะผ่าซีกได้เท่ากับ 90 ชิ้น คำนวณ 90×32,000 เท่ากับ 2,880,000 ชิ้น ต่อไร่ ฉะนั้นอ้อย 1 ไร่ จะแปรรูปเป็นข้าวจี่พันอ้อยได้ 2,880,000 ชิ้น แค่ขายชิ้นละ 10 บาท จะมีมูลค่าเพิ่มเท่ากับ 28,800,000 บาท ต่อไร่ทีเดียว” คุณปุณณ์รัศมิ์ กล่าว

ข้าวจี่พันอ้อยทำได้ไม่ยาก

เมนูข้าวจี่พันอ้อยของคุณปุณณ์รัศมิ์ ทำตามได้ไม่ยาก เพราะใช้วัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ทั่วไปคือ ข้าวเหนียวดำลืมผัว ข้าวซำบายซึ่งเป็นข้าวขาวพันธุ์พื้นบ้าน งาดำ ซีอิ๊วขาว ไข่ไก่ อ้อยพันธุ์สุพรรณบุรี 50 ผ่าซีก

วิธีการทำ คุณปุณณ์รัศมิ์จะแช่ข้าวเหนียวอย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนนำมานึ่งเสร็จแล้วจึงค่อยนำไปมูนข้าว หลังจากนั้น นำมานึ่งอีกครั้ง ใส่งาดำผสมในเนื้อข้าวเหนียวและข้าวดำที่เตรียมไว้ หลังจากนั้น ค่อยนำข้าวมาพันรอบอ้อยผ่าซีกที่เตรียมไว้ ในขั้นตอนนี้ การปั้นข้าวเหนียวลืมผัวรอบแกนอ้อย ต้องใช้เวลาสักเล็กน้อยเพราะข้าวเหนียวดำลืมผัว มีเยื่อใยสูง เนื้อข้าวร่วน เวลาปั้นรอบแกนอ้อยจะทำได้ยากกว่าข้าวขาวซำบายสักน้อย เมื่อปั้นข้าวรอบแกนอ้อยเสร็จจึงค่อยโรยงาดำอีกครั้ง เพื่อเพิ่มความหอมอร่อย

หลังตอกไข่ไก่ ใส่ซีอิ๊วขาวปรุงรสได้ตามที่ต้องการแล้ว จึงนำข้าวเหนียวพันอ้อยที่เตรียมไว้มาย่างบนเตาถ่านร้อนๆ ทาไข่ไก่ลงไปสัก 3 ชั้น แต่ละชั้นจะใช้เวลาย่างประมาณ 5 นาทีกว่าไข่จะสุก สรุปแล้ว การย่างข้าวจี่พันอ้อยแต่ละไม้จะใช้เวลาย่างประมาณ 15 นาทีจึงนำมากินหรือจำหน่ายได้

คุณปุณณ์รัศมิ์ โฮมภาราช (ขวา) กำลังขายข้าวจี่พันอ้อยแก่ลูกค้าที่สนใจ

ระหว่างย่างข้าวจี่พันอ้อย ต้องคอยพลิกข้าวจี่บนเตาอย่างสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้ข้าวจี่ไหม้และได้รับความร้อนอย่างสม่ำเสมอจนไข่สุก คุณปุณณ์รัศมิ์บอกว่า แต่ละท้องถิ่นจะมีสูตรการทำข้าวจี่แตกต่างกันออกไป บางรายจะใส่น้ำมันหมู แต่คุณปุณณ์รัศมิ์ไม่ใช้สูตรนี้เพราะข้าวจี่พันอ้อยใส่งาคั่วอยู่แล้ว นอกจากนี้ เธอมองว่า ผู้บริโภคบางรายกินเจ หากใส่น้ำมันหมูอาจไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ข้าวจี่พันอ้อยจะได้รสชาติอร่อยต้องกินช่วงร้อนๆ หลังย่างเสร็จใหม่ๆ ได้รสชาติอร่อย หอมหวานมันของกะทิและงาดำ ข้าวจี่พันอ้อยที่ใช้ข้าวเหนียวลืมผัวจะให้รสสัมผัสคล้ายกับการกินเนื้อข้าวหลามอีกด้วย

ไข่ไก่สดอินทรีย์ วัสดุในการชุบข้าวจี่พันอ้อย
ข้าวจี่พันอ้อย บนเตาย่างร้อนๆ

“ข้าวจี่พันอ้อย เป็นอาหารว่างที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เพราะได้คุณค่าทางอาหารมากมายจากข้าวพื้นบ้าน งาดำ และอ้อยสด เป็นการกินของคาว คือ “ข้าวจี่” แล้วตบท้ายด้วยของหวาน “อ้อย” ไปพร้อมๆ กัน เมนูข้าวจี่พันอ้อย เปิดโอกาสให้เด็กเยาวชน คนรุ่นใหม่ได้หันมากินอ้อยอีกครั้ง เพราะจากการพูดคุยกับลูกค้าพบว่า หลายรายไม่รู้จักอ้อย ไม่เคยกินอ้อยมาก่อนด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะการกินอ้อยสด มีรสชาติอร่อยแล้ว ผู้บริโภคยังได้คุณค่าทางอาหารอีกมากมาย แถมการกินอ้อยยังช่วยขัดฟัน รักษาสุขภาพฟันไปด้วยในตัว” คุณปุณณ์รัศมิ์ กล่าว

เมนูข้าวจี่พันอ้อย นับเป็นนวัตกรรมอาหารพื้นบ้านที่น่าสนใจเรียนรู้เหมาะเป็นเมนูอาหารว่างประจำครอบครัว หรือทำเป็นอาชีพก็น่าสนใจเช่นกัน เมื่อช่วงปลายปี 2562 สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงบรรจุเมนูข้าวจี่พันอ้อย เป็นหนึ่งในกิจกรรมเวิร์กช็อปแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้บริโภคที่ชื่นชอบอาหารเพื่อสุขภาพ ได้มีโอกาสเรียนรู้เทคนิคและเคล็ดลับความอร่อยพร้อมกัน โดยเสียค่าอบรมแค่คนละ 150 บาทเท่านั้น ได้อิ่มท้องและได้ความรู้กลับบ้าน คุ้มเสียยิ่งกว่าคุ้ม

หากใครอยากลิ้มลองรสชาติความอร่อยของข้าวจี่พันอ้อย ขอเชิญแวะไปได้ที่  WISDOM FARM เรือนไทย 4 ภาค พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จังหวัดปทุมธานี นอกจากนี้ ทางพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ ยังมีกิจกรรมดีๆ อีกมากมาย สามารถคลิกดูรายละเอียดได้ทาง website : www.wisdomking.or.th หรือ facebook/Instagram : wisdomkingfan หรือ Line ID : @wisdomkingfan

ที่มา : ผลิตภัณฑ์น่าชิม                                                                                                                                                                                                                                                                                                            ผู้เขียน : สาวบางแค22