“ข้าวเหนียว-หมูปิ้ง” ลงทุนน้อย กำไรงาม!

Business ธุรกิจ

ธุรกิจการทำอาหารจำหน่าย ดูจะเป็นธุรกิจที่ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการหน้าใหม่ๆ มากที่สุด เพราะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยสี่ของมนุษย์ ที่ต้องกินทุกวัน วันละ 3 มื้อและการลงทุนในธุรกิจประเภทนี้มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งชนิด และขนาดการลงทุน

อาหารประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยม ทั้งจากผู้ประกอบการและผู้บริโภค เนื่องจากเป็นอาหารกินง่าย ราคาไม่แพง อีกทั้งลงทุนไม่มาก นั่นคือ การขายหมูปิ้ง ซึ่งจะว่าไปแล้ว จะเรียกว่าเป็นธุรกิจอาหารก็ไม่เชิงนัก เพราะเป็นหน่วยการลงทุนที่เล็กจริงๆ ทว่า การลงทุนเล็กๆ อย่างนี้ มีตัวอย่างที่สามารถสร้างเป็นธุรกิจระดับเงินแสน และขยายการลงทุนในรูปแบบแฟรนไชส์มาแล้วอีกด้วย

ดังนั้น ธุรกิจเล็กๆ แต่ไม่ธรรมดาอย่างนี้ มองข้ามไม่ได้เลย

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจการทำอาหารประเภทนี้ วันนี้มีตัวอย่างมาเล่าให้ฟัง ในการเดินเข้าสู่อาชีพนี้ แน่นอนว่า ไม่มีใครสามารถบอกสูตรสำเร็จได้อย่างถ่องแท้ละเอียดลออ เพียงแต่ ต้องนำไปปรับ ไปพัฒนาต่อยอดจากสิ่งที่ได้จากเรื่องราวต่อไปนี้

ผู้ที่สนใจอาชีพขายหมูปิ้ง มี 4 ทางเลือก ให้เลือกเดิน นั่นคือ
1. เริ่มต้นจากการพัฒนาสูตรเอง ขายเอง
2. การเข้ารับการอบรม ฝึกการทำหมูปิ้ง ซึ่งมีอยู่ทั่วไป
3. ซื้อหมูดิบ ที่ผ่านการหมัก เสียบไม้แล้ว มาหาทำเล ปิ้งขายอย่างเดียว
4. การลงทุนในลักษณะการซื้อแฟรนไชส์

ทางเลือกแรก อาจจะเหนื่อยหน่อย ที่ต้องทดลองทำเอง หาสูตรที่เหมาะสมสำหรับตัวเอง
ส่วนทางเลือกที่ 2 จะได้สูตรและเทคนิคการทำทั้งหมด แต่ก็ต้องนำไปพัฒนาเพื่อให้เหมาะกับการค้าขายของตนเอง

ทางเลือกที่ 3 สะดวกขึ้นมาอีกนิด แต่ก็ต้องยอมรับเงินส่วนต่าง (กำไร) ที่อาจจะไม่มากนัก ให้ได้
ส่วนทางเลือกที่ 4 ทำในลักษณะซื้อมาขายไป ได้ของดี ของอร่อย โดยไม่ต้องลองถูกลองผิดเอง สะดวกสบาย แต่แน่นอนว่ากำไรที่ได้ย่อมน้อยลงเป็นธรรมดา และต้องเดินตามข้อกำหนดของบริษัทแม่ นั่นคืออิสระหายไปส่วนหนึ่ง

สำหรับ สูตรการทำหมูปิ้ง
สอบถามจากผู้รู้ในการทำหมูปิ้ง ได้ความว่า ใช้หมูส่วนสะโพก ไม่ติดมัน หั่นสไลซ์เป็นชิ้น พอเสียบไม้ได้ กว้างประมาณ 1 1/2 นิ้ว ยาวประมาณ 4-5 นิ้ว ถ้าสไลซ์แล้วได้ชิ้นเล็กกว่านี้ พยายามหาหมูชิ้นเล็กมาเสียบแทนเป็นไม้ละ 2 ชิ้นต่อๆ กัน

ก่อนนำหมูมาเสียบ ให้นำไปหมักข้ามคืน
ส่วนผสมในการหมักมีดังนี้ รากผักชี พริกไทย กระเทียม น้ำมันหอย น้ำปลา น้ำตาลทราย แป้งข้าวโพด (เพื่อให้หมูนุ่ม) น้ำมันพืช และนมสด การหมักหมู ถ้าหมักไว้มากๆ เพื่อขายหลายวัน ให้แช่แข็งในตู้เย็น แต่ถ้าขายวันต่อวัน ให้แช่ช่องธรรมดา

การปิ้งหมู ควรใช้ไฟอ่อน และพรมด้วยนมสด หรือน้ำกะทิ (หัวกะทิ) ตลอดเวลา เพื่อให้เนื้อหมูไม่แห้ง และกะทิ หรือนมสดจะทำให้หมูดูชุ่มฉ่ำ น่ากิน ในขณะที่บางสูตร อาจจะใช้มันหมูเสียบเข้าไปด้วย เพื่อให้หมูทั้งไม้ มีน้ำมันเคลือบ ดูน่ากินกว่า หมูแห้งๆ

สำหรับการลงทุน ไม่เกิน 5,000 บาท รวมเตาปิ้งด้วยแล้ว เตาปิ้งมีขายทั่วไป ถ้าเป็นเตาไฟฟ้าไร้ควัน ตกเครื่องละ 1,000-1,500 บาท หากเป็นเตาอะลูมิเนียม ใช้ถ่าน ราคาถูกกว่านี้ ส่วนไม้เสียบหมู มีขายในตลาดทั่วไป ขนาดความยาว 7 นิ้ว 200 ไม้ ราคาไม่เกิน 40 บาท การลงทุนอื่นๆ ได้แก่ ถ่าน ถุงพลาสติก ถาดใส่หมู ร่ม โต๊ะ เก้าอี้ ซึ่งนับเป็นอุปกรณ์ที่หาได้ทั่วไป

บางสูตรมีน้ำจิ้ม แถมให้ด้วย เป็นน้ำจิ้ม คล้ายๆ น้ำจิ้มแจ่ว อันมีส่วนผสมได้แก่ น้ำปลา น้ำตาลปี๊บ หรือน้ำตาลทราย น้ำมะขามเปียก พริกป่น ต้นหอมซอย หอมแดง น้ำจิ้มที่มีไว้นี้ทำให้หมูปิ้งดูน่ากินมากขึ้น และที่ขาดไม่ได้สำหรับการขายหมูปิ้ง นั่นคือ ข้าวเหนียว ใส่ถุงพลาสติกขายกันห่อละ 5-10 บาท แล้วแต่ทำเล

มาถึงทางเลือกที่ 2 สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการเสียเวลาลองผิดลองถูกเอง แต่ต้องการสูตรสำเร็จ และเคล็ดลับที่สามารถทำได้ทันที ได้แก่ การเข้ารับการอบรม ซึ่งเป็นหลักสูตร 1 วัน ราคา 2,140 บาท สอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์อาชีพและธุรกิจ มติชน (โทร. 02-954 3977-84) บอกได้เลยว่า มีผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรนี้ไปแล้วมากมายที่สามารถเปิดร้านขายหมูปิ้งได้ นับเป็นการเข้าสู่อาชีพนี้ที่สะดวก และมั่นใจได้อีกทางหนึ่ง

ทางเลือกที่ 3 ได้แก่ การซื้อหมูหมักเสียบไม้ ไปหาทำเลปิ้งขายเอง ต้นทุนลักษณะนี้อยู่ที่ประมาณ 6-7 บาทต่อไม้ ส่วนราคาขายขึ้นกับทำเล
ทางเลือกสุดท้าย คือ การลงทุนในลักษณะแฟรนไชส์ ซึ่งมีให้เลือกมากมาย ซึ่งผู้ที่สนใจอาจจะต้องศึกษารายละเอียดและเงื่อนไข อย่างรอบคอบ

และนี่คือ เส้นทางการเข้าสู่อาชีพ การขายข้าวเหนียว หมูปิ้ง ที่มีคนประสบความสำเร็จกับอาชีพนี้มาแล้วนับไม่ถ้วน หรือแม้จะพลาด ไม่ประสบความสำเร็จ ก็ยังเจ็บตัวไม่มาก เนื่องจากการลงทุนเริ่มต้นใช้เงินทุนไม่มาก นั่นเอง

ที่มา : เส้นทางเศรษฐีออนไลน์                                                                                                                                                                                                                                                                                              ผู้เขียน : เสาวลักษณ์ สวัสดิ์กว้าน