ไอเดียสุดแจ๋ว ทำกระเป๋าจาก “ถุงกระสอบ” เพิ่มมูลค่า แถมช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม

Business ธุรกิจ

ปัจจุบันที่ผู้คนทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของภาวะโลกร้อนมากยิ่งขึ้น ทำให้เริ่มมีการรณรงค์ลดใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นการไม่รับถุงเมื่อซื้อสินค้าน้อยชิ้นของร้าน ประเทศไทยเองก็เริ่มมีการรณรงค์ลดการใช้พลาสติกให้เห็นกันมากขึ้น

ทำให้ผู้ประกอบการรวมไปถึงเหล่าคนหัวใส คิดทำสิ่งของทดแทนขึ้นมาใช้กันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นถุงผ้าต่างๆ รวมไปถึง ถุงกระสอบประเภทต่างๆ ที่นำมาต่อยอดแปรรูปให้เป็นกระเป๋าน่าใช้

คุณเอ้ – อาทิมา ภักดีวุฒิ เป็นอีกคนหนึ่ง ที่มีไอเดียและหยิบเอาของเหลือใช้อย่าง ถุงกระสอบ มาแปรรูปให้ใช้งานได้หลากหลาย โดยเธอเล่าให้ฟังว่า เธอเปิดขายของเล่นเด็กอยู่ในศูนย์อาหารไปรษณีย์ไทย สาขาเซ็นทรัลแจ้งฯ และเป็นฟรีแลนซ์ ทำเกี่ยวกับการออกแบบงานกราฟิก

ด้วยกระแสรักษ์โลกที่มีมาอย่างต่อเนื่อง จนประมาณปีที่แล้ว ทางไปรษณีย์มีการรณรงค์ให้ลดการใช้ถุงพลาสติก ประกอบกับเธอได้ไปเที่ยวที่ประเทศเวียดนาม ก็ได้เห็นว่าที่นั่นมีการนำถุงกระสอบต่างๆ มาทำเป็นกระเป๋าขาย แถมราคาไม่สูง จึงซื้อกลับมาเพื่อใช้เป็นถุงสำหรับใส่สินค้าให้ลูกค้าประจำที่มาซื้อของที่ร้านของเธอ

“ตอนเอามาใช้แรกๆ คนก็ไม่ได้สนใจอะไรหรือว้าวมากนัก แต่พอผ่านไปสักพักคนก็เริ่มสนใจ ทีนี้พี่ก็ไปเวิร์กช็อปกับทาง SCG ก็เห็นเขาเอาถุงปูนของเขามาทำเป็นกระเป๋าสตางค์ พี่เป็นคนชอบออกแบบอะไรพวกนี้อยู่แล้ว แล้วมีเพื่อนที่สนิทคนหนึ่ง เขาชอบวาดรูป ทำของขาย แล้วเขาไปเอาพวกไวนิลมาวาดๆ ทำงานของเขา ก็เลยได้คุยกัน ว่าพี่อยากทำกระเป๋าที่ทำมาจากพวกถุงกระสอบ คุยกันเสร็จก็ลงมือเลย” คุณเอ้ เล่าถึงจุดเริ่มต้นให้ฟัง

เธอเล่าต่อว่า ถุงกระสอบเวอร์ชั่นแรก วางเอาไว้ว่าจะใช้ถุงกระสอบอาหารสัตว์ แต่เมื่อทำความสะอาดแล้วไม่นำมาใช้เลยถุงจะมีกลิ่นหืน จึงมองหาถุงกระสอบอย่างอื่น เพื่อนคุณเอ้ได้แนะนำให้ใช้ถุงกระสอบข้าว เพราะสะอาด เหนียว ไม่ขาดง่าย อีกทั้งมีลายและดีไซน์เยอะ จึงนำมาลองให้เพื่อนเย็บดู โดยมีถุงกระสอบที่ซื้อมาจากเวียดนามเป็นต้นแบบ

“จริงๆ ตอนแรกไม่ได้กะจะทำขายจริงจัง กะจ้างเพื่อนเย็บเล่นๆ เอาไว้ใช้เอง แล้วก็แขวนในร้านอวดคนอื่นเฉยๆ ถ้าลูกค้าประจำก็ใช้เป็นถุงใส่ของให้เขา บางคนเขาเห็นก็เข้ามาถาม มาขอซื้อก็ขายให้บ้างไม่ขายบ้าง แล้วแต่อารมณ์เราด้วย พอคนสนใจมากขึ้นก็เริ่มคิดทำขายล่ะ เพราะพี่ก็อยากหาของอย่างอื่นมาขายในร้านด้วย ก็ไปตระเวนหาถุงกระสอบข้าวตามร้านขายข้าวสารนั่นแหละ แล้วก็ให้เพื่อนที่อยู่เชียงใหม่ช่วยหาให้บ้าง ถ้าเจอกระสอบไหนมีลายสวยถูกใจ ก็เข้าไปขอซื้อ เถ้าแก่ร้านก็ขายให้ 3 บาทบ้าง 5 บาทบ้าง ขายใบละ 10 บาทพี่ก็ซื้อ ทำให้ต้นทุนแต่ละครั้งที่หาถุงมาทำมันไม่เท่ากัน ถึงราคามันจะแพงหน่อยแต่พี่ได้เลือกลาย ได้ลายแปลกๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนมันก็สนุกดี มันก็เป็นความสุขเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตพี่อย่างหนึ่ง” คุณเอ้ เล่าให้ฟังอย่างนั้น

และเนื่องจากเธอไม่มีความรู้จริงจังในเรื่องการเย็บ ประกอบกับเพื่อนสนิทที่เคยคุยงานกัน อยากทำงานของเขาเอง ก็ได้แยกตัวออกไป คุณเอ้จึงต้องจ้างช่างเย็บผ้าคนหนึ่งให้ช่วยเย็บให้ โดยมีเธอเป็นผู้ออกแบบเลือกลาย

คุณเอ้ - อาทิมา ภักดีวุฒิ

“ตอนจะทำขายจริงจัง พี่ก็คิดแล้วว่าจะตัดเย็บโดยใช้ถุงทั้งใบให้คุ้มค่าที่สุด เย็บหูหิ้วให้แน่นจะได้ไม่ขาดง่าย ทำเสร็จก็โพสต์อวดลงเฟซ คนสนใจก็ทักมาขอซื้อขอสั่งทำไปแจก ตอนนี้เพิ่งเริ่มทำขายได้ไม่นาน ราคาก็มีตั้งแต่ 100 – 150 บาท คือถุงกระสอบมันมีหลายขนาด พี่ก็ยึดราคาขายตามขนาดถุงมากกว่า เคยมีออร์เดอร์เข้ามา 50 ใบก็ทำไม่ค่อยไหว เพราะพี่ก็ทำงานกับช่างกันแค่สองคน ก็เลยขายให้คนรู้จัก เพื่อน ลูกค้าประจำมากกว่า” เจ้าของร้านขายของเล่นคนเดิม กล่าว

อดถามความเห็นของคุณเอ้ไม่ได้ ว่าถุงกระเป๋าจากกระสอบ จะสามารถเข้ามาแทนที่ถุงพลาสติกได้จริงหรือไม่ เธอตอบว่า แนวโน้มตลาดในปัจจุบัน มีความต้องการถุงที่เป็นทางเลือกแบบนี้มาแทนถุงพลาสติกมากขึ้น ในตัวถุงเอง ก็มีหลากหลายดีไซน์ให้เลือกใช้เยอะขึ้นเช่นกัน โดยส่วนตัวเธอคิดว่า สามารถเข้ามาแทนที่ถุงพลาสติกได้ในระดับหนึ่ง เพราะในชีวิตประจำวัน ยังไงๆ ก็ต้องใช้ถุงพลาสติกอยู่แล้ว อาทิ ถุงใส่แกงก็ยังเป็นถุงพลาสติกอยู่ ปัจจุบันเริ่มเห็นคนพกกล่องข้าว ปิ่นโตกันก็จริง แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่สะดวกพกของไปไหนมาไหนเยอะแบบนั้น

“ในอนาคต ถ้าผลตอบรับเพิ่มขึ้น ก็อยากออกแบบให้เป็นถุงแบบอื่นด้วย ให้มีความหลากหลาย สามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น ก็ต้องรอดูกันไปก่อน ตอนนี้ก็ขอทำเป็นความสุข ขายสนุกๆ ไปก่อนแล้วกัน” คุณเอ้ ทิ้งท้ายมาว่าอย่างนั้น

หากใครสนใจ สามารถเข้าไปดูหรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ เพจ Upcycled Tote Bags

ที่มา : เส้นทางเศรษฐีออนไลน์                                                                                                                                                                                                                                                                                              ผู้เขียน : พัชรพร องค์สรณะคมกุล