ไอเดีย “มันเทศพร้อมกิน” รับเทรนด์อาหารยุคใหม่ “Ready-to-Eat”

Business ธุรกิจ

ในชีวิตที่เร่งรีบและต้องการความรวดเร็วในยุคปัจจุบัน แม้กระทั่งการรับประทานอาหารก็ยังต้องรวดเร็ว บางทีเราอาจจะเดินไปกินไปเลยก็ได้ อาหารแบบ Ready-to-Eat หรือชื่อย่อว่า RTE จึงเป็นที่ต้องการในตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากการที่มีอาหารสด อาหารที่เรามักซื้อจากตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ต ถูกนำมาทำเป็นอาหารสำเร็จรูปและขายเป็นห่อ ห่อละ 1 ชิ้นตามร้านสะดวกซื้อ เช่น ไข่ ข้าวโพด หรือผลไม้ต่าง ๆ

ในยุคเริ่มแรกอาหาร Ready-to-Eat ถูกเรียกขานกันว่า Meal, Ready to Eat หรือ MRE เป็นอาหารปรุงสุกเรียบร้อยแล้ว บรรจุในซองพร้อมรับประทาน สำหรับทหารอเมริกันเวลาออกรบจับศึก (เสบียงกรัง) แต่ครั้งนั้นรสชาติไม่ได้เรื่อง จนกระทั่งมีคนตั้งชื่อใหม่ในเชิงลบหลายชื่อ เช่น Meal Rejected by Everyone เป็นต้น แต่ทุกวันนี้กองทัพต่างๆ ก็ยังคงมีเสบียงเป็นอาหารประเภทนี้ซึ่งก็ได้รับการพัฒนารสชาติดีขึ้นมาก ซึ่งแน่นอนว่าน่ารับประทานกว่าอาหารแห้งมาก

แม้ว่ายุคแรกอาหารชนิดนี้จะเป็นอาหารที่ใช้ในการศึกสงคราม แต่เมื่อได้รับการพัฒนารสชาติให้อร่อยมากยิ่งขึ้น กลุ่มธุรกิจจึงเห็นเส้นทางที่จะผลิตอาหารชนิดนี้วางขายตามท้องตลาดโดยที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะอาหารแห้งเท่านั้น แต่ยังเป็นการนำอาหารสดมาพัฒนาให้รับประทานง่ายยิ่งขึ้นอีกด้วย

หนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่เข้ามาเจาะตลาดตรงนี้อย่าง บริษัท ซันสวีท จำกัด เจ้าของธุรกิจข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋อง ก็มองว่าธุรกิจนี้เป็นที่นิยมมาก และเป็นตลาดที่สามารถผลิตสินค้าชิ้นใหม่ ๆ มาวางขายตามร้านสะดวกซื้อได้ หลังจากประสบความสำเร็จจากการนำข้าวโพดข้าวโพดหวานสำเร็จรูปที่กินได้ง่ายมาวางขายอยู่ตามเซเว่นอีเลฟเว่นอยู่ในขณะนี้

“วณิชชา ณ ลำปาง” ผู้จัดการฝ่ายภายในประเทศและพัฒนาธุรกิจ กล่าวว่า ขณะที่กิจการข้าวโพดหวานกำลังเติบโตไปได้ด้วยดี บริษัทก็มีแผนที่จะผลิตสินค้าตัวใหม่เอามาวางขายเช่นเดียวกัน ซึ่งก็คือ มันเทศพร้อมกิน

“ธุรกิจหลักของเราคือทำข้าวโพดหวาน และทำสินค้าซื้อมาขายไป ตอนนี้ส่วนแบ่งการขาย 20 เปอร์เซ็นต์ เราขายให้เซเว่นอีเลฟเว่นอยู่ ซึ่งก็คือตัวข้าวโพดหวานพร้อมทานและข้าวโพดปิ้ง ส่งขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ จากนั้นเราก็พยายามพัฒนาสินค้าในกลุ่มเรดดี้ทูอีท (ready-to-eat) ซึ่งมีมะพร้าวแบรนด์ kc ที่เพิ่งส่งออกไปประเทศเกาหลีใต้เมื่อปีที่ผ่านมา ต่อมาปีนี้เรามองว่าสินค้าตัวใหม่ที่เราจะทำคือ มันเทศ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างกระบวนการ R&D (research and develop) โดยเราวางแผนจะขายทั้งในประเทศและต่างประเทศเช่นเดียวกับสินค้าอื่น”

วณิชชา กล่าวต่ออีกว่า ตอนนี้บริษัทกำลังแก้ปัญหาเรื่องขนาดของมัน เนื่องจากหัวมันนั้นมีขนาดหลากหลายมาก ทั้งอ้วนกบม ยาว หรือเล็ก โดยกำลังปรึกษากับฝ่ายการตลาดอยู่ว่าจะแก้ไขปัญหาตรงนี้อย่างไร รวมถึงการพัฒนาคุณภาพของตัวมันให้ใกล้เคียงกับต้นตำรับการปลูกมันอย่างประเทศญี่ปุ่น และปริมาณที่ควรผลิตออกมาในหนึ่งวันด้วย

“ตอนนี้เราวางแผนจะเริ่มวางขายในประเทศก่อน ส่วนมันที่ใช้ในตอนนี้ ระดับความหวานถือว่าใกล้เคียงกับต้นตำรับญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของแหล่งซื้อมันและคุณภาพ เรากำลังเตรียมจะทำโครงการร่วมกันกับโครงการหลวงเพื่อพัฒนาคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น อีกด้านหนึ่งเราก็มีการพูดคุยกับผู้ปลูกโดยตรงจากหลายแหล่ง เช่น จากโคราช เพื่อตกลงเรื่องของขนาดและคุณภาพ ในขณะที่การนำเข้า กำลังคิดว่าจะนำมันสำเร็จรูปสายพันธุ์ญี่ปุ่นที่ปลูกในเวียดนาม มาใส่ในถุงบ้านเราเพื่อส่งขายเช่นเดียวกัน”

ขณะที่ปัจจุบันคนหันมานิยมการกินอาหารเพื่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น จึงทำให้มันเทศเป็นสินค้าที่น่าจับตามองอย่างมาก ซึ่งมันเทศที่จะผลิตออกมาจะมีทั้งหมด 3 ชนิด คือ มันม่วง มันส้ม และมันเหลือง ด้วยสนนราคาที่ไม่แพงมาก อยู่ที่ระหว่าง 20-35 บาท และทำพาสเจอไรซ์เก็บได้ประมาณ 7-10 วัน โดยจะยึดคอนเซ็ปต์ “Ready-to-Eat และ Easy-to-Take”

ทั้งนี้ หลังจากนำสินค้าใหม่มาให้ลูกค้าทดลองชิมในงาน ThaiFex World of Food Asia 2018 ปรากฏว่าได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี รวมถึงข้าวโพดหวานสองสี อีกหนึ่งสินค้าใหม่ที่มีความหวานมากกว่าข้าวโพดปกติด้วย ซึ่งหากผลิตออกมาจะถือว่า บริษัทจะเป็นผู้ผลิตมันที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อเป็นที่แรก แม้ว่าจะมีอุปสรรคเรื่องค่าเงินที่แปรผันบ้าง แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่

“เรามีฐานข้อมูลว่าคนไทยกินข้าวโพดจากในร้านสะดวกซื้อวันละเกือบ 2 หมื่นชิ้นทั่วประเทศ และเดลิเวอรี่ทุกวัน ถ้าใช้ฐานจากข้าวโพด ฐานของมันก็ไม่น่าจะต่างไปจากตรงนี้ บางทีอาจจะมากกว่า เพราะดูจากที่สำรวจตลาดแล้ว ถ้าสามารถทำให้มันกลายเป็นอาหารที่ ready to eat และ easy to take ยังไงคนก็ซื้อแน่นอน” วณิชชากล่าว