เทรนด์อาชีพ “กิ๊กเวิร์กเกอร์” มาแรง! เงินดี-อิสระ

Business ธุรกิจ

เทรนด์ gig worker มาแรง เหตุจากคนรุ่นใหม่ไม่สนใจงานประจำ หันทำสัญญาจ้างระยะสั้น รับงานเป็นครั้งคราว ได้เงินดีกว่าแถมมีอิสระ ฝ่ายเอชอาร์องค์กรธุรกิจปรับตัวรับจ้าละหวั่น ชี้กระทบแผนปั้นบุคลากรในระยะยาว แก้เกมดึง gig worker ร่วมสอนงาน-เทรนพนักงานประจำให้รู้เท่าทันเทคโนโลยี

นางสาวธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์ ผู้อำนวยการส่วนภูมิภาค-ไทยและเวียดนาม กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า รูปแบบการทำงานในลักษณะเป็นครั้งคราว (gig economy) หรือเศรษฐกิจแบบรับจ้างทำงานชั่วคราว เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในกลุ่มคนรุ่นใหม่และคนยุคปัจจุบัน ขณะเดียวกันหลายองค์กรเริ่มให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดในการ ทำงานของพนักงาน โดยอาจลดหรือจำกัดการจ้างพนักงานประจำลงเรื่อย ๆ แต่เพิ่มการจ้างพนักงานสัญญาจ้าง, ฟรีแลนซ์ เข้ามาทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะกับบางตำแหน่งที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ยิ่งทำให้ gig economy ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

ธุรกิจปรับตัวรับ gig worker

ข้อมูลจากการสำรวจของอเด็คโก้ประเทศไทย ซึ่งมีการเปรียบเทียบระหว่างปี 2016 -2017 พบว่า ผู้สมัครงานต่างให้ความสนใจงานรูปแบบสัญญาจ้างระยะสั้นมากถึง 53% ทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สอดคล้องกับผลสำรวจก่อนหน้านี้ของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เมื่อเดือนสิงหาคม 2560 ซึ่งชี้ว่าตัวเลขของ gig worker (แรงงานชั่วคราว) กว่า 30% ของคนในวัยทำงาน มีความสนใจการทำงานระยะสั้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

“เมื่อแนวทางของแรงงานเปลี่ยนไปเป็น gig worker มากขึ้น ผู้บริหารและฝ่ายเอชอาร์จึงต้องเปลี่ยนกรอบความคิดการทำงานแบบเดิม (rethink talent strategy) โดยไม่นำเงื่อนไขของการจ้างงานประจำมาเป็นโจทย์หลักในการหาคนมาทำงานใน ตำแหน่งต่าง ๆ เหมือนเช่นผ่านมา เพราะ gig worker ไม่มีเงื่อนไขของอายุเข้ามาเกี่ยวข้อง พวกเขาอาจจะอายุน้อยกว่า 20 ปี หรือมากกว่า 60 ปีก็ได้ ถ้าเขามีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ก็สามารถร่วมงานได้ทั้งสิ้น ยิ่งตอนนี้หลายองค์กรธุรกิจพยายามปรับตัวเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการ ทำงานมากขึ้นด้วย จึงเป็นโอกาสของพวก gig worker ที่จะเข้ามาร่วมงาน”

“สั่งงาน” ผ่านออนไลน์

นางสาวธิดารัตน์กล่าวว่า รูปแบบการทำงานของ gig worker นอกจากไม่ต้องทำงานทุกวันเหมือนเช่นพนักงานประจำแล้ว ยังมีอิสระในการทำงานควบคู่ไปกับใช้ชีวิตตามไลฟ์สไตล์ของแต่ละ

คนอีกด้วย หลายคนอาจทำงานเพียง 2-3 วันต่อสัปดาห์ หรืออาจทำงานที่บ้านผ่านเทคโนโลยีอันทันสมัย ดังนั้นหากเจ้าของงานต้องการดูความคืบหน้าของงานก็สามารถส่งงานทางออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ได้ทันที ฝ่ายเอชอาร์จึงต้องปรับรูปแบบสัญญาจ้างงานให้มีความหลากหลาย และเป็นธรรมต่อพนักงานมากขึ้น เพราะ gig worker ไม่มีรายได้ประจำ ไม่มีสวัสดิการอื่น ๆ ฝ่ายเอชอาร์จึงต้องจ่ายค่าจ้าง ค่าตอบแทนให้พวกเขาอย่างรวดเร็วด้วย

จี้รัฐออกนโยบายรองรับ

ในส่วนของภาครัฐจึงจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ ด้วยการเร่งออกนโยบายและมาตรการรองรับคนกลุ่มนี้ ขณะเดียวกันก็อำนวยความสะดวกกับการทำงานในรูปแบบของ gig worker เช่น จัดทำมาตรฐานการทำสัญญาจ้างงาน ควบคุมดูแลสภาพการจ้างงาน การทำงาน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งกับนายจ้าง และลูกจ้าง รวมถึงต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงาน การจ่ายค่าจ้าง ค่าตอบแทน และสวัสดิการพื้นฐานต่าง ๆ ด้วย

ไทยแลนด์ 4.0 บูม gig worker

ขณะที่ รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข รักษาการรองผู้อำนวยการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากนี้ไปจนถึงประมาณปี 2568 หรืออีก 6-7 ปีข้างหน้า การจ้างพนักงานประจำจะมีอัตราลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะค่านิยม ความต้องการ และวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ต้องการความอิสระ และคล่องตัว ทั้งนั้นเพราะ generation Y หรือ millennials  เกิดมาพร้อมกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทำให้คนกลุ่มนี้สามารถสื่อสาร ทำธุรกิจ และทำอะไรหลาย ๆ อย่างประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วโดยผ่านโลกออนไลน์

“คนเหล่านี้ไม่ชอบงานประจำที่จำเจ น่าเบื่อหน่าย อยากประสบความสำเร็จเร็ว ๆ ดังนั้นหากพวกเขาไม่ได้เป็นเจ้าของกิจการ ก็มักจะเลือกเป็นฟรีแลนซ์ รับงานอิสระ ยิ่งถ้าคนไหนเป็นคนเก่ง มีฝีมือ ย่อมมีคนมาว่าจ้างงาน แนวโน้มต่อจากนี้ไปในอนาคต คนจะหันมาทำงานในลักษณะนี้มากขึ้นอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันประเทศก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งจะมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีมากขึ้น gig worker ก็จะเกิดมากขึ้นด้วย”

gig worker-หุ่นยนต์ ลดต้นทุน

ยิ่งปัจจุบันองค์กรใหญ่ ๆ เริ่มปรับขนาดองค์กรให้เล็กลง เพราะต้องการควบคุมเรื่องต้นทุน ดังนั้นการจ้างงานอย่างพร่ำเพรื่อ ต่อไปคงเห็นน้อยลง เพราะผู้บริหารสามารถจ้าง gig worker มาทำงานทดแทนได้ ผลเช่นนี้จึงทำให้เชื่อว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ภาพเหล่านี้จะชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ หรืออย่างตอนนี้องค์กรในภาคการผลิตหลายแห่งก็เริ่มนำหุ่นยนต์เข้ามาทดแทน บ้างแล้ว

“หรือแม้แต่สถาบันการเงินก็เริ่มใช้เทคโนโลยีมาทดแทนแรงงานคนมากขึ้น ทั้งยังคาดว่าอีก 5-7 ปีข้างหน้าคงนำ artificial intelligence (AI) มาแทนนักวิเคราะห์ที่หายาก และค่าตัวแพงกันมากขึ้นด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นแน่นอน” รศ.ดร.ศิริยุพากล่าว

 


ที่มา นสพ.ประชาชาติธุรกิจ