สอนทำธุรกิจ! บทบาท Business School ไทย ต้องไปทางไหน?

Business ธุรกิจ

ครบรอบ 80 ปี คณะบัญชี จุฬาฯ จัดปาฐกถา ชี้บทบาท Business School ไทย ต้องสร้างนิสิตนักศึกษาตอบโจทย์โลกธุรกิจในบริบท VUCAS

ในโอกาสครบรอบ 80 ปีของการสถาปนาคณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ปฏิวัติธุรกิจ ปฏิรูปการศึกษา Business Transformation through Flagship Education” โดย ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ศาสตราภิชานกองทุนเพื่อการบริหารวิชาการและการศึกษาของคณะฯ และดำรงตำแหน่งประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ และกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวว่าบริบทของโลกธุรกิจยุคใหม่มีลักษณะที่เรียกว่า VUCAS กล่าวคือมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลาจนยากจะคาดเดาเพื่อเตรียมการณ์รับมือ อีกทั้งยังมีความซับซ้อนจนยากที่จะตัดสินใจได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ซึ่งเป็นปรากฎการณ์สำคัญที่ผลักดันให้ Business School ต้องปรับหลักสูตรในการผลิตนิสิตนักศึกษาให้ออกไปเป็นผู้นำในการนำพาองค์กรก้าวผ่านช่วงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญนี้

ทั้งนี้ VUCAS เป็นการสะท้อนบริบทโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปใน 5 มิติที่สำคัญคือ

ความผันผวน (Volatile) ที่เกิดจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในอัตราเร่งตัว

ความไม่แน่นอน (Uncertain) ปรากฎการณ์จากความผันผวนทำให้หลายเรื่องไม่เป็นไปตามที่คาด เช่น สหรัฐอเมริกา ผู้นำการค้าเสรี แต่กลับมาดำเนินนโยบายกีดกันการค้าเสียเอง หรือแม้แต่รถยนต์ไร้คนขับของ Tesla เกิดอุบัติเหตุในหลายพื้นที่จนเป็นผลให้ราคาหุ้นตกลงอย่างรุนแรง

ความซับซ้อน (Complex) ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้เกิดความซับซ้อน และมีปัจจัยแวดล้อมที่ต้องคำนึงถึงมากกว่าเดิม เช่น การเกิดขึ้นของ Cryptocurrencies หรือ Blockchain ซึ่งผู้กำกับดูแลต้องชั่งน้ำหนักหลายอย่างในการเขียนกฎให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งต้องแยกระหว่างเทคโนโลยีกับปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น

ความยากที่จะคาดเดา (Ambiguous) ในโลกที่มีความซับซ้อน ผันผวน และไม่แน่นอนนี้ทำให้การคาดเดาเพื่อเตรียมการณ์ที่เหมาะสมทำได้ยาก สิ่งที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดคือการกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม เช่น ธุรกิจค้าปลีกที่ต้องบาลานซ์ระหว่าง online และ offline ในวันที่ยังไม่รู้ว่าทิศทางการปรับตัวของธุรกิจจะไปในทิศทางใดกันแน่

มาตรฐาน (Standard) ธุรกิจกำลังเผชิญกับการกำกับดูแลด้านธรรมาภิบาล สิ่งแวดล้อม การคุ้มครองผู้บริโภค การแข่งขันที่เป็นธรรม รวมถึงการดูแลสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์เข้มข้นขึ้น และมีการแสดงออกถึงจุดยืนในเรื่องเหล่านี้ในทุกระดับ

“ในโลกของ VUCAS ทำให้โจทย์ของ Business School เปลี่ยนไปตามความคาดหวังของภาคธุรกิจที่ต้องปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของโลก นิสิตนักศึกษาที่จะมาเป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันองค์กรให้ก้าวข้ามผ่านช่วงเวลานี้ไปได้จะต้องมีลักษณะของความเป็นผู้นำ ซึ่งไม่ใช่การมาเป็นซีอีโอของบริษัท แต่หมายถึงการมีมุมมองความคิดที่จะนำพาองค์กรไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืนได้ ซึ่งลักษณะที่สำคัญของคนที่มีความคิดเป็นผู้นำคือ การดึงความสามารถของผู้ที่เกี่ยวข้องมาตอบโจทย์ที่ซับซ้อน มีกรอบความคิดที่ยืดหยุ่น และพร้อมยอมรับข้อแตกต่าง”

จากผลการสำรวจความเห็นผู้บริหารของบริษัทชั้นนำมากกว่า 70 แห่งทั่วโลก พบว่าส่วนใหญ่มองว่าหลักสูตร Business School ที่สอดคล้องกับบริบทโลก VUCAS ต้องให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติงานบนภาคสนามจริงมากขึ้น และเห็นผลในสิ่งที่ลงมือทำ ขณะที่อาจารย์ต้องมีประสบการณ์หรือรู้จักโลกธุรกิจจริง และประยุกต์เข้าสู่บทเรียนได้

“วิธีออกแบบหลักสูตรมีหลายวิธี แต่วิธีที่ผมคิดว่าน่าสนใจคือ การให้นิสิตนักศึกษาได้ทำงานจริงกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกลุ่มต่างๆ ทั้งชุมชน เอ็นจีโอ ภาคธุรกิจ หน่วยงานภาครัฐ สลับกับการเรียนรู้ในห้องเรียน ซึ่งมีทั้งเทคนิค และซอฟท์สกิล เพื่อให้นิสิตนักศึกษาได้เห็นโลกในหลายมิติ ก่อนเลือกทำโครงการที่สร้างคุณค่า หรือแก้ปัญหาให้บ้านเมืองจริงอย่างน้อย 1 โครงการ” ดร.ประสารกล่าวในตอนท้าย