ไม่ไป ไม่รู้ ไม่ดูก็ไม่เห็น ไต้หวัน เมืองเล็กๆ แต่ใจใหญ่

Content พาเพลิน

 

ไต้หวัน เมืองเล็กๆ แต่ใจใหญ่

 

            10 สถานที่กับ 4 วัน นี่คือเป้าหมายของการเดินทางไปไต้หวันครั้งนี้  ทันทีที่เท้าแตะพื้นสนามบินกลับสัมผัสได้ถึงความรู้สึกสะดวกสบาย ปลอดภัยและเป็นระเบียบ อีกทั้งยังอุ่นใจทันทีที่เห็นรอยยิ้มของคุณ Chi-Ping Yen เจ้าหน้าที่จากกระทรวงวัฒนธรรม ผู้ที่จะติดตามและอำนวยความสะดวกให้คณะของเรา และที่ตะลึงตามสัญชาตญาณของคนรุ่นใหม่ ที่ใดมี wifi ที่นั่นไม่โดดเดี่ยว แทบทุกตารางเมตรของไต้หวัน free wifi มีอยู่จริง


 

 

            จูหมิง มิวเซียมเป็นที่แรก แต่เป็นสถานที่ที่ดูดพลังชาวคณะได้อย่างมหัศจรรย์ใจ ซ้ายติดภูเขาขวาติดทะเล ถนนคดเคี้ยวคับแคบทำเอาหลับไม่ลง ทันทีที่รถจอด เห็นประติมากรรมที่มีรูปทรงแปลกตาดึงดูดให้เร่งฝีเท้ามากขึ้น พื้นที่แสดงงานมีทั้งในอาคารและลานกลางแจ้ง โดยจัดสัดส่วนแบ่งโซนได้อย่างน่าสนใจ ประติมากรรมโซนทหาร, ประติมากรรมชุดไทเก๊ก, ประติมากรรมแม่ลูก ส่วนภายในอาคารแสดงผลงานศิลปะการแกะสลักไม้ให้ดูเหมือนหิน ล้วนแล้วแต่เป็นผลงานศิลปะของคุณจูหมิงแทบทั้งหมด แต่ที่น่าสนใจและน่าขบคิดคือ ท่ามกลางสวนสาธารณะที่แสดงผลงานมูลค่ามหาศาลยังมีการแบ่งพื้นที่สำหรับเยาวชนให้ได้มีโอกาสเรียนรู้ ได้ทำกิจกรรม ได้แสดงออกอย่างเรียบง่ายและสะดวกกับตู้หยอดเหรียญอัตโนมัติเพื่อแลกกับชอล์คสีให้เด็กๆ ได้ใช้จินตนาการลงบนถนนระหว่างทางเดิน อีกทั้งฝาผนังปูนเปลือยที่ดูเหมือนว่างเปล่า ให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับเด็กๆ ใช้แปรงจุ่มน้ำแล้ววาดภาพปลดปล่อยจินตนาการ และอีกหลายจุดในพิพิธภัณฑ์ที่เราสามารถแทรกตัวเข้าไปส่วนหนึ่งของผลงาน โดยผ่านกระบวนความคิดของศิลปินท่านนี้ ผ่านไปกว่า 2 ชั่วโมงโดยไม่รู้ตัว กลับออกมาพร้อมกับจินตนาการและแรงบันดาลใจ


alt


 

            วันรุ่งขึ้นกับ พิพิธภัณฑ์กู้กง(National Palace Museum) สมคำล่ำลือว่าเป็นขุมทรัพย์อันล้ำค่าของไต้หวัน ถึงขั้นต้องข้ามน้ำข้ามทะเลมาชมความงดงามของสมบัติของชาติกว่า 620,000 ชิ้น ที่ได้รับการเก็บรวบรวมเอาไว้มาตลอดประวัติศาสตร์นับ 5 พันปี จนเริ่มเห็นด้วยกับคำกล่าวว่า “เปลือกของกู้กงอยู่ปักกิ่ง แต่หัวใจอยู่ไต้หวัน” พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพจึงยากที่จะบอกว่ามีมากมายล้ำค่าเพียงใด รวมไปถึงการนำชมของมัคคุเทศก์ท้องถิ่นที่บรรยายด้วยความภาคภูมิใจ เพิ่มมูลค่าของสมบัติวัตถุเหล่านั้นขึ้นมาอีก มีผู้แนะนำบอกว่าสิ่งที่ต้องดูให้ได้คือ หยกผักกาดขาว กับหินหมูสามชั้น แต่หลังจากได้เดินชมเกือบทั้งหมดแล้ว อยากจะบอกท่านผู้แนะนำว่าสำคัญและต้องดูเกือบทั้งหมด ทุกชิ้นมีที่มา



 

            ตกบ่ายตะลุยงานหนักถึง 3 สถานที่ เริ่มย่อยอาหารกันที่แรก Taipei Fine Arts Museum ถึงกับต้องตะลึงกับแนวคิดของการจัดแสดงนิทรรศการของที่นี่  ผลงานร่วมสมัยของคุณหยาง เหมา หลิน ในโซนจัดแสดงผลงานชุดแรก ตามคำบอกเล่าของมัคคุเทศก์ท้องถิ่นว่า คุณหยางต้องการสะท้อนถึงช่วงที่การเมืองไต้หวันมีปัญหา ผลงานจึงมีสีทึม บิดเบี้ยว ตึงเครียด และกดดัน เข้าสู่โซนที่ 2 จากแนวคิดของคุณหยางที่ว่า มองไต้หวันผ่านความเปลี่ยนแปลงทั้งในและนอกประเทศ ทั้งการเมือง วัฒนธรรม และสังคม จนถึงโซนที่สาม เป็นส่วนจัดแสดงที่ทำให้เห็นรอยยิ้มของคณะกันทุกคน คุณหยางได้นำตัวละครในการ์ตูนเรื่องต่างๆ มาผสมผสานสอดแทรกไปกับความเชื่อทางศาสนาในแบบศิลปะแนวใหม่ได้อย่างกลมกลืนและลงตัว โดยเฉพาะปีเตอร์แพน จนต้องยับยั้งชั่งใจที่จะยกมือไหว้ปีเตอร์แพนอยู่บ่อยครั้ง จบที่โซนสุดท้าย นิทรรศการแนววิทยาศาสตร์ สัมผัสได้ถึงความรู้สึกตื่นตา ตื่นใจ ตื่นเต้น จนแอบอิจฉาเด็กๆ ที่ไต้หวัน ที่ทางการเห็นความสำคัญและทำให้เด็กๆ มีคุณภาพอย่างไม่ต้องยัดเยียด ขู่บังคับ

 

            ระหว่างทางกลับสู่ที่พัก เจ้าหน้าที่นำคณะนั่งรถผ่านหมู่บ้านต้าเต้าเฉิงล่ามสาวสวย น้องเบ๊นซ์ (Ms.Phunthip Prairuangkit) แนะนำว่าเคยเป็นท่าเรือสำคัญเมื่อกลางศตวรรษที่ 19 ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ เป็นชุมชนเก่าแก่ ทั้งอาคารและชีวิตความเป็นอยู่คึกคักคล้ายเยาวราชเมืองไทย มีศาลเจ้าเล็กๆ เป็นที่พึ่งทางใจของคนในชุมชน บริเวณท่าเรือจัดเป็นสวนสาธารณะ มีกำหนดเวลาเข้าออก ไม่อนุญาตให้รถยนต์เข้าไปด้านในได้ แต่แค่เสี้ยวนาทีที่รถขับผ่านก็สัมผัสได้ถึงความสวยงามและผ่อนคลาย สังเกตได้จากรอยยิ้มของผู้คนที่อยู่ในสวนสาธารณะริมน้ำนั้น

 

กลับเข้าสู่ที่พัก โรงแรม Just sleep มองจากข้างนอกดูเล็กแคบ และอึดอัด แต่ด้านในถูกออกแบบไว้อย่างมีดีไซน์ หรูหรามีสไตล์ และที่สำคัญฝั่งตรงข้ามของโรงแรม คือตลาดกงก่วน เป็นตลาดกลางคืนที่คึกคักที่สุด เต็มไปด้วยของกิน เกอเปา (ge bao) เป็นแป้งหมั่นโถวสีขาว ทานคู่กับขาหมูพะโล้และผักกาดดอง ชานมไข่มุก ร้าน เฉิน ซาน ติ่ง ( Chen san ding ) ที่เด็ดเลยคือตัวไข่มุก อร่อย นิ่มละมุนลิ้นมากๆ และที่โด่งดังที่สุดคือรองเท้า ไม่ว่าจะเป็น Nike Adidas New Balance หรือ Onitsuka Tiger ที่นี่มีให้เลือกทุกรุ่น ทุกยี่ห้อ แถมยังมีส่วนลดแทบทุกร้าน เอาเป็นว่านอนกี่คืนก็เดินกันทุกคืน หลับสบาย


 

เช้าวันใหม่กับการมุ่งหน้าออกนอกเมืองหลวง ขึ้นเหนือไปทางไทเปใหม่ ล่ามสาวเล่าระหว่างเดินทางว่า คนไต้หวันส่วนใหญ่จะหาเวลาออกไปต่างจังหวัดทุกๆ วันหยุดเพื่อผ่อนคลายพักสมอง ดั่งเช่นเมืองอี้หลาน Yilan ที่คณะกำลังจะเดินทางไป จึงทำให้การจราจรของคณะในวันนี้ติดขัดบ้าง แต่ขอยืนยันว่าดีกรีไม่เท่ากรุงเทพฯ แน่นอน ผ่านสองข้างทางมีบ้านหลังเล็กๆ ที่มีชื่อเสียงในการทำเต้าหู้เหม็น หรือ โช่วโต้วฟู เป็นอาหารทานเล่นของชาวไต้หวัน ล่ามสามเล่าว่า เคยทดลองดมกลิ่น ร้องยี้ไม่กล้าทาน แต่ลองกลั้นใจลิ้มรสเข้าไปแล้ว ก็ไม่อยาก…เอ๊ย…ไม่แคล้วต้องขอลองอีก

 

ด้านหน้ามีภูเขาใหญ่ติดกันสลับซับซ้อน ล่ามสาวแจ้งว่าคณะเราจะใช้เส้นทางลอดอุโมงค์ เป็นอุโมงค์ลอดภูเขาที่ยาวเป็นอันดับ 5 ของโลก ใช้เวลาสร้างถึง 15 ปี ระยะทาง 13 กิโลเมตร ยอมรับว่า “อึ้ง” และแอบคิดในใจว่า ตัวเลขผิดแน่ๆ ทันทีที่รถเคลื่อนเข้าอุโมงค์ ล่ามสาวอยากให้คณะสังเกตเสียงที่ได้ยินในวิทยุรถ มันคือเสียงเดียวกับที่เราได้ยินอยู่นอกรถ พนักงานขับอำนวยความสะดวกโดยการลดกระจกลง เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นเสียงเดียวกัน ใช่! เป็นเสียงผู้ควบคุมการจราจรภายในอุโมงค์แห่งนี้ อำนวยความสะดวกไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ ห้ามเร็วหรือช้ากว่ากำหนด ทำให้เกิดความคิดที่ว่าคนในประเทศนี้มีคุณภาพชีวิตดีมากๆ ทางการให้ความสำคัญกับส่วนรวม บ่มเพาะตั้งแต่เด็กเล็กๆ คิดโน่นนี่ไปเรื่อยเปื่อย ก็เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์


alt


 

สักพักใหญ่ก็เห็นอาคารที่มีสถาปัตยกรรมโดดเด่น สะดุดตา พิพิธภัณฑ์หลานหยางLanyang Museum ภายนอกเป็นพื้นที่ราบมีลักษณะภูมิประเทศราบเรียบ ตัวอาคารเป็นกระจกซึ่งได้แนวคิดมาจาก form ของที่นาที่แบ่งเป็นล็อค สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรม, เอกลักษณ์, ประวัติศาสตร์และภูมิทัศน์ใน Lanyang ด้านในจัดแสดงประวัติของท่าเรือ, ระบบนิเวศน์พื้นที่ชุ่มน้ำและส่วนของนิทรรศการกลางแจ้ง ทั้งหมดแบ่งออกเป็น 4 ชั้น ชั้นบนสุดเรียกว่าระดับภูเขา เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับด้านธรณีวิทยา, พฤกษศาสตร์ ชั้น 3 ระดับพื้นที่ราบ จะเป็นเนื้อหา ภูมิประเทศ, ประวัติศาสตร์, วัฒนธรรม ต่างๆ ชั้น 2 ระดับน้ำทะเล จะเป็นเรื่องราวที่บอกถึงสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตในท้องทะเล วิถีของชาวเล ชั้นล่างสุดจะเป็นแกลลอรี่ต่างๆ ซึ่งจัดแสดงหมุนเวียนไปตามตาราง



 

อีกด้านหนึ่งของเมืองอี้หลาน เจ้าหน้าที่พาคณะไปที่ National Center for Traditional Arts เป็นสถาปัตยกรรมที่ออกแบบภายใต้แนวคิดตามหลักฮวงจุ้ยของชาวจีน โปร่งโล่งสบาย เดินเข้าไปด้านในจะเห็นได้ว่าที่นี่คือเมืองต้าเต้าเฉิงโมเดล สถาปัตยกรรมสองข้างทางเป็นร้านขายของที่ระลึก แต่ละร้านจะต้องมีมุมเวิร์คชอปให้นักท่องเที่ยวได้ลงมือทำ เดินจนถึงด้านในมีสถานที่คล้ายศาลเจ้า เต็มไปด้วยผู้คนที่มาเคารพสักการะ อีกทั้งยังเรียกเสียงหัวเราะจากการชมการแสดง ตอบโจทย์การมาท่องเที่ยวอย่างมาก เพราะทุกสถานที่ให้ความสำคัญทั้งเด็กและทั้งครอบครัว

 

ผลกระทบจากอาหารมื้อกลางวันอันแสนโอชะ ก็ส่งผลออกฤทธิ์ให้เปลือกตาเปิดแค่ครึ่งเดียว บ่ายแก่ๆ ของวันนี้ เจ้าหน้าที่นำคณะไปที่ Red brick Literature Houseภายในอาคารดูครึ้มๆ สลัว เจ้าหน้าที่แนะนำให้นั่งเก้าอี้ที่จัดเตรียมไว้ด้านหน้าเวที สายตามองไปเห็นภาพผลงานศิลปะจากกระดาษฉีก ปะติดเป็นรูปตัวละครต่างๆ พร้อมกับกลิ่นกาแฟที่หอมหวลมาจากด้านหลังห้อง ทำให้ทั้งคณะรู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้นมาอีกครั้ง สถานที่แห่งนี้เป็นทั้งร้านกาแฟ, สถานที่สอนวาดรูป, เล่านิทาน และรวบรวมผลงานของ อ.หวง ชุนหมิง ที่อดีตเคยเป็นนักโฆษณาและเป็นนักเขียนที่รวบรวมเรื่องราวต่างๆ ช่วงแรกจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวชีวิตในอี้หลาน ต่อมาจะเริ่มกว้างออกไปถึงไทเป จนกระทั่งถึงปัจจุบันในวัย 81 ปี อ.หวง ได้มีแนวคิดที่จะถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับตัวเองในวัยชราให้กับเด็กๆ จึงได้รวบรวมกระดาษจากครั้งยังเป็นนักโฆษณามาฉีกและตัดแปะจนเป็นงานศิลปะ และเป็นภาพประกอบในการเล่านิทานให้กับเด็กๆ ฟัง ทำให้เกิดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ อีกทั้งเป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกันได้ทั้งครอบครัว

 

ตลอด 3 วันที่ผ่านมา ทำให้ทั้งคณะได้เห็นและสัมผัสได้ถึงแนวคิดของคนไต้หวัน ส่วนรวมย่อมมาก่อนส่วนตัว ความเสียสละของอาสาสมัครที่นำความรู้มาถ่ายทอดโดยไม่รับสินบน ได้เพียงส่วนแบ่งไม่กี่เปอร์เซ็นต์จากราคาของที่ระลึก ทางการก็ใส่ใจกับการบ่มเพาะและปลูกฝังเยาวชนเพื่อผลผลิตที่เติบโตมาในอนาคต ช่วยเหลือตัวเองได้ไม่เป็นภาระสังคม รับผิดชอบและมีน้ำใจ ระเบียบวินัย กฏกติกา ถ้าทุกคนรักษาและเคารพจะไม่ก่อให้เกิดเรื่องเสียใจ



 

วันสุดท้ายของทริปนี้ เริ่มต้นทบทวนสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ยังเหลืออีก 3 สถานที่ ที่จะต้องเก็บเกี่ยวเรื่องราวให้ได้มากที่สุด เช้านี้เจ้าหน้าที่พาคณะไปที่ National Taiwan Craft Research and Development Instituteอาคารแห่งนี้อดีตเคยเป็นกระทรวงวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่สมัยท่านเจียงไคเช็ค สถาปัตยกรรมเป็นแบบจีน ภายในอาคารเป็นการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับงานฝีมือทั้งสิ้น ผลงานทุกชิ้นมีที่มาที่ไป ออกแบบอย่างสร้างสรรค์ผ่านกระบวนการคิดอย่างถี่ถ้วน ทำเอาชาวคณะตาโตกับทุกชิ้นงาน ตั้งแต่การออกแบบเซรามิก เสื้อผ้า เครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ส่วนหนึ่งของงานจัดแสดงมีมุมเวิร์คช็อปให้ผู้ที่สนใจเรียนฟรี ชั้นล่างสุดของอาคาร จัดเป็นสถานที่จำหน่ายของที่ระลึก ซึ่งมีจำนวนมากเต็มพื้นที่ ทุกชิ้นน่าสนใจจนพูดได้ว่า ไม่มีชิ้นไหนที่เดินผ่านแล้วจะไม่หยิบดู ถ้าเวลาไม่เป็นตัวกำหนดคณะคงจะชมที่นี่ได้ถึงช่วงเย็น



 

ตกบ่ายเจ้าหน้าที่นำคณะไปเดินย่อยอาหารที่ HuaShan Creative Park พื้นที่ค่อนข้างกว้างพอสมควร แต่พอได้เห็นการจัดแสดงของแต่ละโซน รู้สึกได้ว่าอายุลดลงไปอีก 10 ปี กระชุ่มกระชวยขึ้นมาทันทีที่เห็นการออกแบบอาคารและตกแต่งสถานที่ต่างๆ ที่แห่งนี้เป็นแหล่งรวมงานครีเอทจากทั่วทุกมุมโลก มีทั้งนิทรรศการแบบประจำและแบบหมุนเวียน อีกส่วนหนึ่งของอาคารจะเป็นร้านกาแฟ-เครื่องดื่มต่างๆ แถมยังมีร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าแนวอาร์ตๆ อีกมากมาย และที่สะดุดตามากก็คือการจัดวางสินค้าของแต่ละร้านที่ไม่ซ้ำแบบกันเลย เรียกว่าขายไอเดียกันเสียจนสินค้าดูมากมูลค่าและราคาสัมผัสได้จริงๆ มันช่างเหมาะสำหรับผู้ชื่นชอบศิลปะและความคิดสร้างสรรค์อย่างยิ่ง



 

ปิดฉากกับสถานที่สุดท้ายด้วยสายฝนกระหน่ำให้คณะชุ่มฉ่ำหัวใจกัน เจ้าหน้าที่นำคณะไปเดินชม Artist Village ตามเส้นทางขึ้นเขาด้วยบันไดที่สลับซับซ้อน เมื่อหลายปีก่อนที่แห่งนี้เคยเป็นที่อยู่อย่างผิดกฎหมายของชุมชนแออัด แต่การแก้ไขของทางการไต้หวันน่าชื่นชมมากๆ ใช้วิธีหันมาร่วมมือกับกลุ่มอนุรักษ์งานด้านศิลปะให้เข้ามาใช้พื้นที่เพื่อสร้างสรรค์และแสดงผลงานให้กับผู้คนได้มาเข้าชมและสามารถเพิ่มรายได้ให้กับศิลปินต่างๆ ชุมชนแห่งนี้ยังมีชีวิตความเป็นอยู่แบบผสมผสานทั้งผู้ที่อาศัยอยู่ก่อนเก่ากับศิลปินที่มาอยู่ใหม่เพื่ออาศัยพื้นที่ในการหาแรงบันดาลใจและจัดแสดงผลงาน มีมุมหนึ่งของภูเขาแห่งนี้ที่อยู่ฝั่งติดแม่น้ำ มีที่พักไว้คอยให้บริการกับศิลปินต่างถิ่นที่เข้ามาจัดแสดงผลงาน แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือก่อนเข้าพักต้องมีการพิจารณาการสัมภาษณ์ทางอีเมล์ก่อนด้วย

 

ตลอด 4 วันกับโปรแกรมที่อัดแน่น แต่เต็มไปด้วยความประทับใจจากคนไต้หวัน รวมถึงเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ที่ติดตามและให้ดูแลตั้งแต่ก้าวแรกที่สนามบินจนนาทีสุดท้ายที่ก้าวออกจากสนามบิน

 

ทุกการเดินทาง ได้อะไรมากกว่าที่คิด เป็นประโยคสุดท้ายก่อนหันหลังให้ไต้หวัน แล้วพบกันอีกที่ไทเป ไจ้เจี้ยน…