ธนาคารไทยเครดิตฯ จับมือกรมการพัฒนาชุมชน จัดโครงการประกวดคัดสรรผลิตภัณฑ์ OTOP

Event อีเวนต์

เดินหน้าสร้างความยั่งยืนให้แก่ชุมชน ตามแนวความคิด EMpower for Community

ประเดิมปีแรกโชว์ความสำเร็จอย่างล้นหลาม ได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการ 151 ราย จาก 37 จังหวัด  ทั่วประเทศ เข้าร่วมโครงการประกวดฯ พร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์ชุมชนอันโดดเด่น เพื่อลุ้นโอกาสการเซ็นสัญญาเป็นผู้ผลิตของที่ระลึกธนาคารฯ ซึ่งช่วยสร้างโอกาสเติบโตทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการ และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน

 ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) จัดโครงการประกวดคัดสรรผลิตภัณฑ์ชุมชน OTOP เพื่อเป็นของที่ระลึกของธนาคารฯ เพื่อส่งเสริมการสร้างอาชีพ เสริมรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตสมาชิกในชุมชนท้องถิ่น ซึ่งสอดคล้องแนวความคิด EMpower for Community และเป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals) ยิ้มรับความสำเร็จตั้งแต่ปีแรกที่จัดโครงการประกวดฯ ด้วยการตอบรับอย่างท่วมท้นจากผู้ประกอบการชุมชน และการสนับสนุนอย่างดีจากกรมการพัฒนาชุมชน ภายใต้กระทรวงมหาดไทย 

นายวิญญู ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การจัดโครงการประกวดคัดสรรผลิตภัณฑ์กลุ่มชุมชน หรือที่รู้จักกันว่า ผลิตภัณฑ์โอทอป (OTOP) สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของธนาคาร ในการสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ชุมชน และเป็นไปตามแนวหลักปรัชญาการดำเนินธุรกิจของธนาคารไทยเครดิต “Everyone Matters ทุกคนคือคนสำคัญ” โดยเน้นส่งเสริม สนับสนุนชุมชนให้เข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยการรวมตัวกันเพื่อดำเนินงาน และทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่ชุมชนและสังคมเพื่อช่วยสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ และนำจุดเด่นของชุมชนด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิต และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีเอกลักษณ์ ต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์

“ผมรู้สึกดีใจอย่างมากที่โครงการประกวดฯ บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ประกอบการตั้งแต่ปีแรก ซึ่งจะเป็นขวัญกำลังใจในการทำงานของทีมงาน ในการสร้างสรรค์โครงการเพื่อชุมชนและสังคมต่อไปในอนาคต” นายวิญญู กล่าวเพิ่ม

ในการประกวดรอบแรก มีผู้ประกอบการ 151 ราย จาก 37 จังหวัด ส่งผลิตภัณฑ์เข้าร่วมโครงการ โดยแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ พรีเมียม ประเทศ ชุมชน และทั่วไป ผู้เข้าร่วมประกวด 12 ราย ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบสุดท้าย พร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์เด่นชุมชนต่อคณะกรรมการตัดสินในรอบชิงชนะเลิศของการประกวด โดยผู้เข้าร่วมประกวดที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบสุดท้ายจะได้รับโล่รางวัลจากธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) และโอกาสการเซ็นสัญญาเป็นผู้ผลิตของที่ระลึกธนาคารฯ ซึ่งช่วยสร้างโอกาสเติบโตทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการ และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน

วิญญู ไชยวรรณ

ผลรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ระดับพรีเมียมและทั่วไป ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ “เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารจากสแตนเลส”  โดย      โพธิ์ทอง อรัญญิก แฮนด์ดิเวอร์ค จากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับประเทศ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ “ชาอู่หลงสี่ฤดู” โดย     จตุพล ชาไทย (ดอยแม่สลอง) จากจังหวัดเชียงราย และระดับชุมชน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ “กิฟต์เซ็ตสบู่หอมจากธรรมชาติ”  โดย  เนเจอร์ไลฟ์เฮิร์บ จากจังหวัดปราจีนบุรี

ทศมนพร พุทธจันทรา และ กฤษณา อร่ามกุลชัย

นางกฤษณา อร่ามกุลชัย กรรมการ ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการประกวดคัดสรรผลิตภัณฑ์ชุมชนช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการ พัฒนาชุมชนท้องถิ่น และเป็นช่องทางสำหรับธนาคารฯ ในการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ช่วยสร้างอาชีพ เสริมรายได้ให้แก่สมาชิกในชุมชน

“ผลแพ้ชนะเป็นเพียงกติกาการประกวดเท่านั้น ที่สำคัญกว่าคือ เราต้องการสร้างการมีส่วนร่วมในการประกวด ความก้าวหน้าทางอาชีพ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคมระดับชุมชนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นรากฐานในการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคต” นางกฤษณา กล่าวเพิ่ม

นางทศมนพร พุทธจันทรา ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ กรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินการประกวด กล่าวถึงเกณฑ์การให้คะแนนซึ่งแบ่งเป็น 3 ด้าน คือ การนำเสนอผลิตภัณฑ์ คุณภาพผลิตภัณฑ์ การนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้มีความโดดเด่น

“ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่นำเสนอเพื่อการคัดสรรมีความหลากหลาย โดดเด่นไม่แพ้กัน ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการ มีเอกลักษณ์ในตัวเอง เรื่องราวที่น่าประทับใจ และองค์ประกอบครบถ้วนตามเกณฑ์การตัดสินที่กำหนดไว้ ขอแสดงความยินดีกับผู้ชนะเลิศทุกท่าน” นางทศมนพร กล่าวเพิ่มเติม

ความคิดเห็นของเหล่าผู้ชนะเลิศกับโครงการประกวดในครั้งนี้ โดย

ผู้ชนะเลิศระดับพรีเมียมและระดับทั่วไป

สิริเพ็ญ นาคะบุตร บจก. โพธิ์ทอง อรัญญิก แฮนด์ดิเวอร์ค จากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผลิตภัณฑ์“เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารสแตนเลส”

“ขอขอบคุณธนาคารฯ ที่จัดโครงการเพื่อชุมชนและสังคมดี ๆ เช่นนี้ ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการนำเสนอผลิตภัณฑ์เด่นของชุมชนต่อคณะกรรมการ ซึ่งให้คำแนะนำ ติชมที่เป็นประโยชน์ สามารถนำไปใช้เพื่อปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้นในอนาคต เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในตลาด เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการได้ทำงานร่วมกับธนาคารฯ ในอนาคตจะช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์ของเราเป็นที่รู้จักในวงกว้าง สามารถเพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิกในชุมชน ทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”

4.ผู้ชนะเลิศระดับพรีเมี่ยม และ ระดับทั่วไป _0

ผู้ชนะเลิศระดับประเทศ

ฐิตาภา ชีวินเฉลิมโชติ บจก. จตุพล ชาไทย (ดอยแม่สลอง) จ.เชียงราย ผลิตภัณฑ์ “ชาอู่หลงสี่ฤดู”

การเข้าร่วมโครงการประกวดฯ ครั้งนี้ หวังเก็บเกี่ยวประสบการณ์  รู้สึกตื่นเต้นและดีใจอย่างมากที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 ระดับประเทศ ขอขอบคุณท่านคณะกรรมการที่เล็งเห็นถึงความตั้งใจจริงในการทำงานของพวกเรา”

ผู้ชนะเลิศระดับชุมชน

โรฒวศิน รัตนะเสาวคนธ์ บจก. เนเจอร์ไลฟ์เฮิร์บ จ.ปราจีนบุรี ผลิตภัณฑ์ “กิฟต์เซ็ตสบู่หอมจากธรรมชาติ” 

“รู้สึกดีใจและภูมิใจที่ผลิตภัณฑ์จากชุมชนของเราได้รับรางวัลชนะเลิศ และคัดเลือกเป็นของที่ระลึกของธนาคารฯ ขอขอบคุณธนาคารฯ ที่มีส่วนช่วยผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนจากภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้แก่คนในชุมชน”

6.ผู้ชนะเลิศระดับชุมชน โรฒวศิน รัตนะเสาวคน_0