ปลูก–แปรรูป “มะขามเปรี้ยวยักษ์” ที่เมืองกาญจน์

Content พาเพลิน

ปลูก–แปรรูป “มะขามเปรี้ยวยักษ์” ที่เมืองกาญจน์

23SHARES

Facebook

Twitter

Google+

LINE

ความเปรี้ยวที่เป็นจุดเด่นของมะขามถูกนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ นานา ทั้งด้านการปรุงอาหาร เป็นยาสมุนไพร เป็นเครื่องดื่ม หรือล่าสุดได้รับความนิยมมากในวงการความงาม ด้วยเหตุนี้มะขามเปรี้ยวจึงถูกมองว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่ซุ่มเงียบอีกชนิดที่มีความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศเป็นอย่างมาก

มะขามเปรี้ยว จัดเป็นไม้พื้นถิ่นที่เกิดและเติบโตได้ในทุกสถานที่ เจริญเติบโตได้เกือบทุกสภาพดิน เป็นไม้ผลที่ขึ้นง่ายไม่ต้องดูแลมาก มีความทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศ เนื้อไม้แข็งแรงจนมีการนำมาใช้ทำเป็นเขียง ฉะนั้น ไม่ว่าภูมิภาคใดของประเทศก็สามารถปลูกมะขามเปรี้ยวได้ จึงทำให้ชาวบ้านหันมาปลูกมะขามเปรี้ยวกันเพิ่มขึ้น

คุณสกล ปรกแก้ว โชว์ความยักษ์ของมะขามเปรี้ยวในสวนสุดเขตตะวันกาญจน์

ส่วนพันธุ์มะขามเปรี้ยวเดิมๆ ที่คุ้นเคยกัน มี 2 ชนิด ได้แก่ มะขามขี้แมว ที่มีเปลือกค่อนข้างหนา เมล็ดมีขนาดใหญ่ ทรงกลม เนื้อผลมีน้อย มีปริมาณเนื้อประมาณ 25-30 เปอร์เซ็นต์ จากทั้งฝัก ซึ่งพันธุ์นี้พบมากในภาคอีสาน

กับอีกชนิด มะขามกระดาน เป็นพันธุ์ที่พบมากในภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีเนื้อหนาและมาก มีปริมาณเนื้อประมาณ 40-45 เปอร์เซ็นต์ จากฝักทั้งหมด ดังนั้น ในปัจจุบันมะขามเปรี้ยวพันธุ์นี้จึงได้รับความนิยมปลูกกันมาก โดยพันธุ์ที่ได้รับความสนใจแล้วกำลังมาแรง คือ มะขามเปรี้ยวยักษ์

มีขนาดใหญ่ 4 ฝัก ได้ 1 กิโลกรัม

ครอบครัว “ปรกแก้ว” คลุกคลีอยู่กับมะขามเปรี้ยวยักษ์ด้วยการทำกิ่งพันธุ์ขาย ขณะเดียวกันเมื่อต้นมะขามเปรี้ยวยักษ์ที่ให้ผลผลิตก็นำไปขายตามลักษณะการใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นมะขามอ่อน มะขามแก่ จนสร้างรายได้อย่างดี กระทั่งล่าสุดได้พัฒนามาสู่การแปรรูปเป็นมะขามเปรี้ยวยักษ์แช่อิ่มได้รับความนิยมอย่างท่วมท้นในชื่อสวน “สุดเขตตะวันกาญจน์”

ครอบครัวปรกแก้ว

คุณสกล ปรกแก้ว ลูกชายที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของ คุณสร้อยสน ปรกแก้ว ผู้เป็นแม่ เล่าว่า ความจริงคุณแม่ทำเกษตรกรรมด้วยการปลูกไม้ผลหลายชนิดแบบผสมผสาน ไม่ว่าจะเป็นกระท้อน มะขามเทศ ทุเรียน ส้มโอ หรือฝรั่ง เนื่องจากในช่วงแรกที่เริ่มยังไม่รู้ว่าผลไม้ชนิดใดที่เหมาะกับความต้องการของตลาด ปลูกอยู่นานหลายปีก็พบว่าราคาไม้ผลแต่ละชนิดมีการผันผวนไม่แน่นอน จึงต้องโค่นทิ้งทีละชนิดจนเหลือต้นมะขามเปรี้ยวยักษ์ ซึ่งให้ผลผลิตได้ตลอดเวลา พร้อมกับยังขายได้ราคาดีด้วย อีกทั้งปุ๋ยยาแทบไม่ต้องใส่ รดน้ำบ้างในบางคราว เรียกว่าปลูก/ดูแลง่าย แล้วผลผลิตยังมีให้สม่ำเสมอและดกด้วย

“เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงมองว่าควรจะต้องมีการปรับปรุงพันธุ์ให้ดีกว่าเดิม จึงไปอบรมการทาบกิ่ง แต่จากความด้อยประสบการณ์จึงไม่ประสบผลดีเท่าไรนัก ด้วยเหตุนี้จึงปรับวิธีพร้อมหาแนวทางใหม่จนพบว่าการทาบกิ่งของพันธุ์ไม้ที่มีขนาดใหญ่ควรต้องมีการสร้างนั่งร้านเพื่อยึดกิ่งที่ทาบใหม่กับกิ่งต้นแม่ให้มีความแข็งแรง สมบูรณ์ จนในที่สุดก็ประสบความสำเร็จตามคาด สามารถผลิตกิ่งพันธุ์ที่ดีมีคุณภาพจากเดิมได้”

เมื่อเทียบความยาวฝักจากปลายแขนถึงราวข้อพับ

คุณสกล ชี้ว่า กิ่งต้นแม่สำหรับใช้ทาบจะพิจารณาจากลูกกล้าที่ใช้ เวลาเพาะจากเมล็ดเป็นเวลาสัก 1 ปี แล้วจึงคัดต้นที่มีขนาดลำต้นประมาณตะเกียบ เพื่อนำขึ้นไปทาบบนต้น โดยจะเลือกกิ่งทาบให้มีขนาดใกล้เคียงกับต้นกล้า ทั้งนี้จะใช้เวลาทาบเพื่อให้ต้นสมบูรณ์ ประมาณ 2 เดือน หรือประมาณ 45-60 วัน จากนั้นจึงตัดลงมาชำไว้ในถุงหรือกระถางเพื่อดูแลอนุบาลอีก 2 เดือน เพื่อให้มีความแข็งแรง

ฉะนั้น ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มทาบจนติด จนต้นมีความแข็งแรงพร้อมขายได้จะใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 1 ปีครึ่ง แล้วเมื่อซื้อไปปลูกจะใช้เวลาอีก 3 ปี จึงจะได้ผลผลิต เพราะมีความสมบูรณ์แข็งแรงดีมาก

โดยระหว่างทาบกิ่ง การดูแลไม่ได้ยุ่งยาก รดน้ำทุกวันเฉพาะช่วงแดดจัด นอกจากนั้นอาจรดเพียงวันเว้นวัน ไม่ต้องใส่ปุ๋ยอะไร เพราะดินที่ใช้ทาบได้ผสมปุ๋ยไว้แล้ว พร้อมกับกล่าวยืนยันว่าการทาบกิ่งจะทำให้ต้นมะขามเปรี้ยวมีมาตรฐานความเป็นมะขามยักษ์ทุกต้น และไม่มีผิดเพี้ยนหรือกลายพันธุ์
ในช่วงที่มีดอกไม่จำเป็นต้องดูแลใส่ปุ๋ยอะไรเป็นพิเศษ

ภายในสวนต้องโล่งโปร่ง เพื่อให้แสงและอากาศผ่านลอดได้ง่าย

เนื่องจากโดยธรรมชาติของมะขามเปรี้ยวจะเจริญเติบโตเองได้ ยกเว้นถ้าต้องการผลิตเป็นการค้าอย่างจริงจังอาจจะต้องใช้ปุ๋ย ฮอร์โมน ร่วมด้วย เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและมีความสมบูรณ์ แต่แนวทางนี้คุณสกลชี้ว่าสำหรับสวนเขาไม่จำเป็น เพราะไม่ต้องการให้ต้นโทรมเร็ว ดังนั้น จึงไม่ต้องเร่ง จะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เพราะถึงอย่างไรก็ตาม ที่สวนมีการใส่ปุ๋ยเป็นประจำเสมอตลอดทั้งปี จึงทำให้มีการสะสมอาหารไว้ใช้ได้ตลอดเวลา

ฝักมะขามหนุ่ม-สาว

คุณสกล บอกว่า การปลูกต้นพันธุ์ลงหลุมควรให้ใช้ความลึกเพียง 20 เซนติเมตร ก็พอแล้ว เมื่อต้นโตควรตัดแต่งกิ่งเป็นระยะ หากอายุต้นสัก 1 ปี เริ่มตัดกิ่งที่ต่ำสุดกับกิ่งที่ไขว้พันกันออกไปก่อน พอครบ 2 ปี ก็ให้เลือกตัดเฉพาะกิ่งที่ต่ำกว่าเอวออก ให้เหลือไว้เป็นกิ่งโครงหรือกระโดง พออายุ 3 ปี ให้ตัดกิ่งที่อยู่ระดับเดียวกับหน้าอก พอเข้าปีที่ 5 ให้ตัดกิ่งที่อยู่ในระดับหลังวัวออก ฉะนั้น ถ้าตัดแต่งกิ่งตามที่แนะนำเช่นนี้มะขามเปรี้ยวยักษ์จะมีผลผลิตสมบูรณ์ทั้งขนาด เนื้อ รสชาติ และน้ำหนัก

ความยาวต่อฝัก ประมาณ 12-13 นิ้ว

อายุต้นมะขามเปรี้ยวยักษ์ที่สามารถให้ผลผลิตได้มีด้วยกันหลายรุ่น ตั้งแต่อายุมากที่สุด คือ 30 ปี, 20 ปี, 18 ปี, 15 ปี หรือแม้แต่ต้นอายุ 3 ปี ทั้งนี้ในแต่ละรุ่นมีศักยภาพในการให้ผลผลิตต่างกันทั้งจำนวนและความสมบูรณ์ โดยต้นที่มีอายุมากมักจะให้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพและมีจำนวนมากกว่าต้นที่มีอายุน้อยแมลงศัตรูที่มารบกวนต้นมะขามเปรี้ยวยักษ์ ได้แก่ แมลงอีนูน ที่ชอบกินยอดและใบอ่อน และเป็นศัตรูสำคัญของมะขามเปรี้ยวยักษ์ที่พบในเขตภาคกลาง แต่สำหรับในพื้นที่อื่นจากคำบอกเล่าของกลุ่มสมาชิกระบุว่ามีแมลงศัตรูที่ไม่เหมือนกันในแต่ละภูมิภาค แต่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศจะใช้วิธีป้องกันเหมือนกันคือ การใช้สารสกัดจากธรรมชาติฉีดพ่นโดยไม่มีการใช้สารเคมี

สำหรับการวางแผนขยายพันธุ์เพื่อจำหน่ายในแต่ละปี จะกำหนดว่าภายในปีนั้นจะต้องทำยอดขายเท่าไร กิ่งพันธุ์ที่ผลิตรวมถึงการแปรรูปจะต้องพิจารณาความต้องการของตลาดในแต่ละช่วงเวลาว่ามีความต้องการมาก/น้อยเพียงใด เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยง

“โดยเฉพาะช่วงที่ลูกค้าต้องการต้นพันธุ์คือ ราวเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม จะเพิ่มจำนวนไว้ให้มากกว่าปกติเพื่อเตรียมรองรับกับความต้องการในช่วงหน้าฝน โดยจะเริ่มเตรียมทำกิ่งพันธุ์ไว้ตั้งแต่เดือนมีนาคม-เมษายน โดยกำหนดราคาขายกิ่งพันธุ์ไว้ ราคา 80 บาท ต่อกิ่ง แต่ราคานี้ไม่คงที่แน่นอน เพราะในช่วงหน้าแล้งหรือราวเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม จะมีการจัดโปรโมชั่นลดราคาขาย”

ผลผลิตมะขามเปรี้ยวยักษ์ในสวนของคุณสกลจะเริ่มเก็บได้ตั้งแต่เดือนกันยายนไปจนถึงเดือนมกราคมของปีถัดไป โดยจะเริ่มมีดอกประมาณเดือนพฤษภาคม แล้วมีฝักอ่อนประมาณปลายเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ซึ่งจะเก็บบางส่วนขายให้กับกลุ่มที่นำไปทำน้ำพริกจากนั้นจะพักต้นชั่วคราวโดยไม่ยุ่งอะไร เพื่อรอให้ฝักที่เหลือเปลี่ยนไปเป็นฝักหนุ่ม-สาว ที่แก่แต่ยังไม่แห้ง แล้วเก็บไปทำเป็นมะขามแช่อิ่ม จนเมื่อเข้าเดือนพฤศจิกายนฝักอีกรุ่นจะแห้งสนิทแก่จัด แล้วจะเก็บรุ่นนี้มาขายเพื่อทำเป็นมะขามเปียกหรือมะขามแกง โดยจะเริ่มเก็บประมาณเดือนมกราคม-มีนาคม

ผลผลิตที่ได้ เฉลี่ยต้นละประมาณ 1.8-2 ตัน ซึ่งเป็นต้นที่มีอายุกว่า 30 ปี มีน้ำหนักเฉลี่ยฝักละ 3 ขีดกว่า มีความยาวต่อฝัก ประมาณ 13 นิ้ว ซึ่งถ้าเป็นมะขามบ้านทั่วไปมีขนาดประมาณนิ้วชี้เท่านั้น แต่ถ้าแยกเป็นกลุ่มที่นำมาใช้ประโยชน์อย่างมะขามหนุ่ม-สาว จะได้จำนวนตันกว่า แต่ถ้าฝักแห้งแก่จะได้จำนวนประมาณ 400-600 กิโลกรัม โดยมะขามจะเก็บเพื่อแช่อิ่ม จำนวน 60 เปอร์เซ็นต์ ของมะขามทั้งหมด

มะขามเปรี้ยวยักษ์แช่อิ่ม

ปัจจุบัน มะขามเปรี้ยวยักษ์แช่อิ่มได้รับความสนใจมาก ทั้งมะขามแช่อิ่มเปียกกับอบแห้ง มีอัตราเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ มะขามแช่อิ่มในแต่ละปีขายได้ 300,000-400,000 บาท ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะตลาดลูกค้ารู้ว่าธุรกิจของครอบครัวมีความน่าเชื่อถือในเรื่องความปลอดภัยทั้งการเลือกคัดสรรใช้วัตถุดิบ กระบวนการผลิต

และที่สำคัญการปลูกมะขามเป็นแบบอินทรีย์ ซึ่งสวน “สุดเขตตะวันกาญจน์” ถือเป็นรายแรกที่ผลิตมะขามเปรี้ยวยักษ์แช่อิ่ม โดยกำหนดราคาขาย กิโลกรัมละ 150 บาท เป็นราคาขายทั่วไป แต่ถ้าใครสนใจต้องการซื้อจำนวนมากเพื่อนำไปขายต่อ จะได้ราคาพิเศษที่เป็นราคาส่ง

คุณสกล แจงค่าใช้จ่ายสำหรับต้นทุนในการปลูกมะขามเปรี้ยวยักษ์ ได้แก่ ค่าต้นพันธุ์ อย่างถ้าพื้นที่ จำนวน 1 ไร่ ใช้ระยะปลูก 12 คูณ 12 เมตร จะปลูกได้จำนวน 16-20 ต้น โดยมีค่าต้นพันธุ์ประมาณ 1,000 กว่าบาท ค่าปรับพื้นที่ เฉลี่ยไร่ละประมาณ 500 บาท (ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่)

ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องวางระบบน้ำ ถ้าเริ่มปลูกในช่วงหน้าฝน เพราะถ้าต้นรอดแล้วก็ปลอดภัยแล้ว ที่เหลือให้เทวดาเลี้ยง สำหรับบางรายอาจต้องการรองก้นหลุม ก็แนะนำให้ใช้ปุ๋ยมูลไส้เดือน ในอัตรา ต้นละ 1 กิโลกรัม

ที่สวนมีต้นพันธุ์มะขามป้อมจำหน่ายด้วย

“นอกจากผลมะขามเปรี้ยวยักษ์ที่นำไปใช้บริโภคได้แล้ว ส่วนของยอดมะขามยังสามารถนำไปปรุงร่วมกับเมนูอาหารได้อีกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นต้มยำ แกงส้ม แกงไก่ จะมีรสชาติอร่อยมาก อีกทั้งในภาคอีสานนำยอดมะขามอ่อนไปขายกันในราคากิโลกรัมละ 100 บาท” คุณสกล กล่าว

สอบถามรายละเอียด สั่งซื้อต้นพันธุ์ หรือมะขามเปรี้ยวยักษ์แปรรูปชนิดต่างๆ ติดต่อได้ที่ คุณสกล ปรกแก้ว โทรศัพท์ (081) 143-2336, (081) 943-0793