เปเปอร์ริสต้า เครื่องประดับ “พิทักษ์โลก”

Content พาเพลิน

เปเปอร์ริสต้า เครื่องประดับ “พิทักษ์โลก”

75SHARES

Facebook

Twitter

Google+

LINE

Paperista  (เปเปอร์ริสต้า) คือ ชื่อแบรนด์สินค้าประเภทเครื่องประดับ จำพวกสร้อยคอ กำไลข้อมือ และของใช้ในบ้าน อย่าง แจกัน มู่ลี่ ฯลฯ ที่ทำจากกระดาษรีไซเคิล มีจุดตั้งต้นโดยฝีมือของ พ่อบ้าน-แม่บ้าน และ คนชรา   ผู้ยากไร้ในสลัมสะพานศิริ ย่านรังสิต ซึ่งพวกเขาเรียกขานตัวเองว่า “ชุมชุมพิทักษ์โลก”

ปัจจุบันช่องทางจำหน่ายมาจากการออกบู๊ธตามอีเวนต์ที่มีหน่วยงานรัฐสนับสนุน ฝากขายตามแหล่งท่องเที่ยว และ ประชาสัมพันธ์ตัวเองผ่านเฟซบุ้ค และถึงแม้จะไม่มีหน้าร้านเป็นของตัวเอง แต่แว่วว่ามีออเดอร์จากเมืองนอกเมืองนาเข้ามา…บ้างแล้ว

 คุณสมทัติ บุญมี และ คุณเปรมวดี แก้วบุรี สองหุ้นส่วนคนสำคัญผู้ขับเคลื่อน “ธุรกิจเพื่อสังคม” เจ้าของเรื่องราวครั้งนี้ มีข้อมูลน่าสนใจมาถ่ายทอดให้ฟัง

โดยผู้รับผิดชอบด้านการจัดการ คือ คุณสมทัติ ย้อนความเป็นมาเคยเป็นผู้จัดการร้านอาหารประจำโรงแรมแห่งหนึ่ง ก่อนออกมาทำงานด้านสิทธิผู้ใช้แรงงานในรูปแบบขององค์กรพัฒนาเอกชน จึงได้รู้จักกับคุณเปรมวดี ซึ่งทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนเหมือนกัน แต่เธอดูแลงานด้านสังคมสงเคราะห์

กระทั่งเมื่อราวต้นปีที่ผ่านมา คุณเปรมวดี นำความทุกข์ใจมาปรึกษาเรื่ององค์กรพัฒนาเอกชนที่เธอทำงานอยู่ บอกเลิกสัญญาจ้าง พร้อมปฏิเสธการรับซื้อสินค้า “งานฝีมือรีไซเคิล”จากชุมชนที่เคยเข้าไปสนับสนุน ทำให้ทั้งตัวเธอเองและชาวบ้านในชุมชนสะพานศิริ ย่านรังสิต ต้อง “เคว้ง”กันไปหมด

“ช่วยกันหาทางออกด้วยการมารวมตัวทำเป็นธุรกิจ โดยมีชาวบ้านกลุ่มเดิม เป็นหุ้นส่วนในฐานะฝ่ายผลิต คุณเปรมวดีเป็นฝ่ายออกแบบสินค้า ส่วนตัวผมดูแลด้านการตลาด”คุณสมทัติ เล่าที่มา

ก่อนบอกต่อ กระทั่งเพื่อนคนหนึ่งทราบข่าว เขาจึงแนะนำให้ทำแผนกิจการ เสนอของบฯสนับสนุนจากสำนักงานเสริมสร้างกิจการเพื่อสังคม (สกส.) ซึ่งเป็นหน่วยงานย่อยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.

“ทางสกส. เห็นว่าเครื่องประดับ-ของใช้ ทำจากกระดาษรีไซเคิล งานฝีมือจากแรงงานในชุมชนนี้  เป็นสินค้าคำนึงถึงการแก้ปัญหาสังคม อย่าง ปัญหายาเสพติด ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นอันดับแรก ส่วนผลกำไรเป็นอันดับรอง จึงมอบรางวัลพร้อมงบฯสนับสนุนให้หนึ่งแสนบาท เราจึงนำมาเป็นส่วนหนึ่งของทุนตั้งต้น”คุณสมทัติ เผยให้ฟัง

เมื่อธุรกิจเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ช่องทางจัดจำหน่าย จึงมีความสำคัญในอันดับถัดมา คุณสมทัติ เล่าว่า เริ่มต้นด้วยการนำไปฝากขายที่ร้าน Green Thai Product ตั้งอยู่บนชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ สี่แยกปทุมวัน  ก่อนนำไปประชาสัมพันธ์ขายผ่านทางเฟซบุ๊คอีกทางหนึ่ง

และเมื่อไม่นาน มีเพื่อนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ทราบข่าวจึงเสนอตัวเข้ามาช่วยนำสินค้าไปวางขายต่างประเทศ เริ่มต้นที่สิงคโปร์ และ สหรัฐฯ แต่ออเดอร์ยังไม่มากนัก

“ตลาดเป้าหมาย คือ ญี่ปุ่น และ ออสเตรเลีย เพราะเป็นกลุ่มใหญ่ที่ชื่นชอบสินค้าแบบนี้และซื้อกันเยอะ  ส่วนคนไทยชอบจริงแต่ไม่ซื้อ เข้ามาดูหนึ่งร้อยคน สนใจห้าคนซื้อหนึ่งคนเท่านั้น”คุณสมทัติ เล่ายิ้มๆก่อนบอกตรงไปตรงมา

“วางเป้าหมายไว้ อยากมีหน้าร้านเป็นของตัวเอง แต่ทุนยังไม่มากพอ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมแนวรีไซเคิลนับวันตลาดจะขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ หากแหล่งจำหน่ายสินค้าที่ระลึกตามสถานที่ท่องเที่ยว  อย่าง พัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ ฯลฯ  อยากเป็นตัวแทนจำหน่ายก็ติดต่อเข้ามาพูดคุยกันได้ครับ”คุณสมทัติ ฝากมาอย่างนั้น

หันมาพูดคุยกับคุณเปรมวดี แก้วบุรี  ในฐานะนักออกแบบและหุ้นส่วนคนสำคัญ เธอบอก เคยเรียนวิชาตัดเย็บเสื้อผ้าและมีความชอบในงานฝีมือ ช่วงทำหน้าที่เป็นหน้าที่ฝึกอบรมให้กับชุมชน จึงศึกษาเกี่ยวกับการทำลูกปัดกระดาษ ส่วนความรู้เรื่องการออกแบบเครื่องประดับนั้น ฝึกฝนเองโดยศึกษาจากนิตยสารบ้าง อินเตอร์เน็ตบ้าง

“เปเปอร์ริสต้า เป็นธุรกิจที่มีสองเป้าหมาย  คือ ช่วยเหลือชุมชนกับช่วยตัวเราเอง”คุณเปรมวดี บอก พร้อมยิ้มกว้าง-อารมณ์ดี ก่อนบอกต่อ

“ช่วงแรกที่ทำเป็นธุรกิจแบบเต็มตัว รู้สึกท้อเหมือนกัน เพราะใช้เงินก้อนสุดท้ายจากชีวิตการทำงาน หนึ่งแสนบาทหมดเลย เริ่มด้วยการจ่ายให้กับชุมชนโดยเอาสินค้าเขามา ขณะที่ยังไม่รู้ว่าจะขายได้มากน้อยแค่ไหน แต่ต้องยอม”

แม้จะ “มีลุ้น” ในตอนเริ่มต้น แต่เมื่อเริ่มได้ไม่นาน จากไม่มีใครรู้จัก ปัจจุบันมีคู่ค้าเป็นต่างชาติ ได้ส่งสินค้าออกไปขายต่างประเทศแล้วจำนวนหนึ่ง

“ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ ส่วนคนไทยมีไม่เกินสิบเปอร์เซ็นต์ ซึ่งคนไทยอาจมองว่ามันเป็นแค่กระดาษไม่มีมูลค่า แต่ต่างชาติจะมองว่าสินค้านั้นคืนอะไรให้กับสังคมบ้าง”คุณเปรมวดี วิเคราะห์สั้นๆ ก่อนฝากบอก

สินค้าที่ออกแบบมานั้น มีหลากหลายนับแต่ สร้อยคอ สร้อยข้อมือ แจกัน มู่ลี  ทุกอย่างล้วนทำจากกระดาษทั้งหมด

“การออกแบบเครื่องประดับ มักดัดแปลงมาจากเครื่องเพชร แต่วัสดุทำมาจากลูกปัดกระดาษ ส่วนราคาขายไม่แพง ยกตัวอย่าง สร้อยข้อมือ ตั้งราคาไว้เส้นละ 250 บาท แบ่งเป็นค่าแรง ค่าวัสดุแล้วเหลือกำไรนิดหน่อย”ดีไซน์เนอร์ประจำร้าน อธิบาย

ก่อนฝากไว้สั้นๆ

“อยากให้เปเปอร์ริสต้า เป็นธุรกิจของชุมชนด้อยโอกาส คนในชุมชนจะได้มีอาชีพ มีรายได้”

สนใจซื้อหาหรือต้องการเป็นตัวแทนจำหน่าย  Paperista (เปเปอร์ริสต้า) เครื่องประดับจากกระดาษรีไซเคิล สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ @paperista.recycles โทร 065 062 7996 และFacebook/PaperistaRecycles