การนอนหลับถือเป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุด เพราะสมองและร่างกายของเราจะได้ปล่อยวางจากเรื่องต่างๆ แต่หากเราฝันร้าย นอกจากจะทำให้สะดุ้งตื่นมากลางดึกและยากต่อการนอนต่อแล้ว ยังส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวันด้วย เนื่องจากการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอจะทำให้สมองไม่แล่น ร่างกายไม่สดชื่น และภาวะดังกล่าวอาจกลายเป็นปัญหาสุขภาพได้
จากบทความของ โรงพยาบาลเพชรเวช กล่าวว่า ฝันร้าย (nightmare) เป็นภาวะที่หลายคนไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะทำให้เกิดการตอบสนองทางอารมณ์ในเชิงลบ ซึ่งเกิดในภาวะการนอนหลับในระยะ REM (rapid eye movement) เป็นช่วงที่กล้ามเนื้อสมองส่วนทาลามัส และซีรีบรัมที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของใบหน้า การหลั่งน้ำลาย การหายใจหยุดการทำงานลง โดยฝันร้ายมักจะมีภาพลักษณ์ที่ซับซ้อน และเป็นเรื่องยาว ผลจากการฝันร้ายจะทำให้เกิดภาวะความกลัวอย่างรุนแรง หรือมีความวิตกกังวล สมาคมจิตแพทย์อเมริกาได้ให้คำจำกัดความและกำหนดการวินิจฉัยว่า ฝันร้ายมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ในวัยเด็ก 10 ขวบขึ้นไป แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ หรือทางสังคมมากนัก แต่หากฝันร้ายเกิดขึ้นบ่อยๆ กับวัยผู้ใหญ่จะเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพจิตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้
สาเหตุที่ทำให้ฝันร้าย
- ร้อยละ 60 พบว่าสาเหตุของฝันร้ายมาจากความวิตกกังวล และความเครียด
- การสูญเสียบุคคลที่รัก หรือเกิดความเจ็บปวด
- ผลข้างเคียงของยา เช่น ยานอนหลับ เป็นต้น
- การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป หรือสูบบุหรี่มากเกินไป
- ความผิดปกติของการหายใจขณะหลับ หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- การรับประทานอาหารที่ย่อยยากก่อนเข้านอน เช่น อาหารประเภทเนื้อสัตว์ เป็นต้น
- มีปัญหาด้านสุขภาพจิต เช่น ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า วิตกกังวล
ฝันร้าย อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพ ดังนี้
- โรควิตกกังวล ผู้ที่ป่วยเป็นโรควิตกกังวลมักจะเกิดอาการฝันซ้ำๆ ความฝันมีลักษณะยาว และละเอียด เนื้อเรื่องอาจจะเป็นเหตุการณ์เดิมๆ หรืออาจเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุการณ์ในปัจจุบันก็ได้
- โรคซึมเศร้า ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามักจะฝันถึงสถานที่มืดๆ น่ากลัว หรือฝันถึงคนตาย อาจปะติดปะต่อเรื่องราวไม่ได้ และอาจฝันเห็นหลายๆ เรื่องในคืนเดียวกัน
- ภาวะผิดปกติทางจิตใจที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) มักจะฝันถึงเหตุการณ์ร้ายๆ ที่เคยประสบพบเจอมา มักจะเป็นภาพฉายซ้ำๆ และมีจุดจบแบบเดิม บางครั้งอาจเห็นภาพแค่บางส่วน
- โรคไบโพล่าร์ มักจะเป็นความฝันที่สดใส ละเอียด น่าจดจำ สามารถปะติดปะต่อกันเป็นเรื่องยาว อาจเกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ หรือละครที่ดู
วิธีป้องกันไม่ให้ฝันร้าย
- หลีกเลี่ยงคาเฟอีน นิโคติน และแอลกอฮอล์ เช่น กาแฟ ชา ช็อกโกแลต น้ำอัดลม เป็นต้น เพราะอาหารกลุ่มนี้จะมีส่วนผสมเหล่านี้จะส่งผลให้ร่างกายตื่นตัว และนอนหลับได้ยากขึ้น
- ทำกิจกรรมผ่อนคลายก่อนนอน เช่น การพักผ่อนก่อนนอน อาบน้ำอุ่น หรือการอ่านหนังสือจะทำให้สามารถหลับได้ง่ายขึ้น
- ควบคุมอุณหภูมิห้อง รักษาอุณหภูมิให้ไม่ร้อน หรือเย็นเกินไป เพราะอากาศที่ไม่สบายอาจรบกวนการนอนหลับได้
- หลีกเลี่ยงการนอนบนเตียงหากยังไม่หลับ ควรหากิจกรรมอื่นทำก่อน เพราะหากนอนไม่หลับจะทำให้เกิดความวิตกกังวลจนยิ่งทำให้นอนไม่หลับ
- พบแพทย์ เพื่อเข้ารับคำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาการนอนไม่หลับอย่างตรงจุด เพราะปัญหาการนอนไม่หลับนั้นสามารถรักษาให้หายได้
ฝันร้ายอาจบอกได้ถึงปัญหาสุขภาพ อย่าปล่อยไว้เพราะอาจส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ และหากพบว่าตัวเองฝันร้ายบ่อยๆ ควรลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองก่อน หากยังไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาได้อย่างถูกต้องค่ะ