ใส่ส้นสูงนานๆ เสี่ยงเป็นโรคอะไรบ้าง

Health สุขภาพดีๆ

รองเท้าส้นสูงกับสาวๆ นี่เป็นของคู่กันจริงๆ นะคะ เพราะเมื่อต้องการไปเที่ยว ไปดินเนอร์ ไปเจอเพื่อน หรือไปทำงาน ก็สามารถหยิบรองเท้าส้นสูงมาใส่แมทช์กับชุดที่ต้องการได้เลย แถมยังช่วยเสริมบุคลิกให้ดูดีอีกด้วยค่ะ แม้การใส่รองเท้าส้นสูงจะสวยก็จริง แต่หากสวมใส่นานๆ ก็อาจเสี่ยงกับโรคต่างๆ ได้มากมาย เรามาดูกันดีกว่าค่ะว่ามีโรคอะไรบ้างหากเราใส่รองเท้าส้นสูงนานและบ่อยเกินไป

จากบทความของ พบแพทย์ (pobpad.com) กล่าวว่า การสวมใส่รองเท้าส้นสูงอยู่เสมอหรือติดต่อกันเป็นเวลานาน นอกจากจะส่งผลให้เกิดอาการปวดไหล่ ปวดคอ ปวดหลัง ปวดเท้า หรือมีการบวมอักเสบเป็นแผลที่ผิวหนังบริเวณเท้าที่อาจเกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวและการทรงตัวที่ผิดไปจากธรรมชาติแล้ว ส้นสูงยังสามารถส่งผลต่อกระดูกส่วนต่างๆ อาจทำให้กระดูกบาง แตกหักง่าย หรือเกิดรอยร้าว รวมทั้งมีผลต่อน้ำหล่อลื่นไขข้อกระดูก เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคกระดูกพรุนได้ ดังนี้

เท้า

รองเท้าส้นสูงทำให้ทรงตัวลำบาก ผู้สวมใส่ต้องเดินแตกต่างไปจากการเดินปกติ กระดูกส่วนเท้าจะคอยรับน้ำหนัก แรงกด แรงกระแทกต่างๆ ในขณะที่เคลื่อนไหว การใส่รองเท้าส้นสูงจะเพิ่มแรงกดให้กระดูกเท้าส่วนหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระดูกฝ่าเท้าส่วนปลายที่เป็นข้อต่อยึดเอ็นกล้ามเนื้อกับกระดูกนิ้วเท้า ที่ต้องถูกบีบให้อยู่ในตำแหน่งรองรับแรงกดที่เพิ่มมากขึ้น หากได้รับแรงกดมากเกินไป อาจทำให้กระดูกและเส้นประสาทบริเวณเท้าเกิดการอักเสบได้ และแรงกดที่เกิดขึ้นอย่างเรื้อรังก็สามารถทำให้กระดูกแตกได้

นอกจากนี้ การรับแรงกดและการเคลื่อนไหวอย่างผิดธรรมชาติที่เกิดจากการใส่ส้นสูงเป็นเวลาติดต่อกันนานๆ อาจทำให้เนื้อเยื่อและกระดูกข้อต่อนิ้วเท้าก่อตัวผิดรูปผิดร่าง เช่น การเกิดตาปลา และกระดูกหัวแม่เท้าโค้งงอออกมา เป็นต้น

ข้อเท้า

การใส่ส้นสูงเป็นการบังคับให้ข้อเท้าต้องโน้มไปข้างหน้า การเคลื่อนไหวเท้าจึงถูกจำกัด นอกจากจะทำให้การไหลเวียนของเลือดช่วงเท้าและขาติดขัดแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดข้อเท้าพลิกและอาการเคล็ดขัดยอก หากอาการรุนแรงและมีการแตกหักของกระดูกจากการกระแทก ก็สามารถพัฒนาไปสู่การเกิดโรคกระดูกพรุนได้ต่อไป

หัวเข่า

กระดูกหัวเข่าเป็นข้อต่อที่ใหญ่ที่สุดของร่างกาย เป็นเสมือนสปริงยืดหยุ่นในขณะเคลื่อนไหว การรองรับแรงกดและความตึงภายในหัวเข่าเป็นเวลานานจากการใส่ส้นสูงเป็นประจำ อาจทำให้น้ำไขข้อที่ช่วยลดแรงเสียดทานในกระดูกลดลง กระดูกได้รับแรงกดและแรงเสียดทานเพิ่มขึ้น จนอาจเกิดรอยแตกและข้อเข่าเสื่อม เสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน

สะโพกและหลัง

ร่างกายจะมีกระดูกสันหลังคดเป็นรูปตัว S ทำหน้าที่คอยรับแรงกระแทกและลดแรงกด เมื่อใส่ส้นสูง กระดูกสันหลังจะถูกดัดเพื่อปรับสมดุลในการยืนและการเคลื่อนไหว ด้วยการดันสะโพกและทรวงอกให้โน้มไปข้างหน้า ในขณะที่กระดูกสันหลังส่วนเอวถูกดัดโค้งตามไปด้วย แนวการวางตัวของกระดูกสันหลัง และการทำงานที่หนักขึ้นของกล้ามเนื้อสะโพกกับเส้นเอ็น อาจทำให้ปวดหลัง กล้ามเนื้อทำงานมากเกินไป หรืออาจเกิดการอักเสบของกล้ามเนื้ออย่างเรื้อรัง เจ็บปวดบริเวณหลัง เอว หรือสะโพก และเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกสันหลังเคลื่อน

และที่สำคัญ อย่าลืมว่าความสูงของส้นรองเท้าที่เพิ่มขึ้น จะสร้างแรงกดและเพิ่มการรับน้ำหนักให้แก่เท้ามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะบริเวณเท้าส่วนหน้า นั่นหมายความว่า ยิ่งใส่ส้นสูงมากเท่าไหร่ ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการทำลายกระดูก เนื้อเยื่อ และกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องมากขึ้นเท่านั้น