อาหารเสริมดีกับสุขภาพหรือไม่??

Tips & Tricks สารพันเกร็ดน่ารู้

ก่อนอื่นมารู้จักคำว่า “อาหารเสริม” ก่อน คือสารอาหารที่ใช้รับประทานเพิ่มเติมจากมื้ออาหารหลัก อาจใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ หรือเพื่อบำรุงสุขภาพตามความเชื่อส่วนบุคคล   สารอาหารที่มักถูกนำมาทำเป็นอาหารเสริม ได้แก่ วิตามิน แร่ธาตุ กรดอะมิโน พืช ผัก สมุนไพรต่าง ๆ เป็นต้น

อาหารเสริมผลิตออกมาให้สามารถรับประทานได้ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบเม็ด แบบแคปซูล แบบผง แบบน้ำ  อาหารเสริมอาจเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการรักษาทางการแพทย์ ที่ผู้ป่วยต้องรับประทานภายใต้การดูแลจากแพทย์เท่านั้น หรืออาจวางจำหน่ายตามร้านขายยา ซึ่งผู้บริโภคควรรับประทานตามคำแนะนำของเภสัชกรและข้อบ่งชี้ที่ระบุบนฉลากอย่างเคร่งครัด

ที่บางคนต้องรับประทานอาหารเสริมเนื่องจาก มีความเชื่อว่าการรับประทานอาหารเสริมอาจช่วยบำรุงสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องรับประทานอาหารเสริมเพิ่มเติมจากสารอาหารที่ได้รับจากมื้ออาหาร เพราะสารอาหารที่จำเป็นต่อกระบวนการเจริญเติบโตของร่างกายหรือการมีสุขภาพดีโดยส่วนใหญ่ สามารถหาได้จากการรับประทานอาหารให้ครบโภชนาการทั้ง 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสม

ส่วนผู้ที่มีความจำเป็นต้องรับประทานอาหารเสริม ได้แก่ ผู้ที่กำลังป่วยด้วยภาวะต่าง ๆ ผู้ที่แพทย์วินิจฉัยแล้วว่าร่างกายมีภาวะขาดสารอาหารชนิดใด ๆ ก็ตาม ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนมีบุตร และผู้ที่ไม่สามารถบริโภคสารอาหารเหล่านั้นได้ในปริมาณที่ร่างกายสมควรได้รับ เป็นต้น ทั้งนี้ หากร่างกายขาดสารอาหารบางชนิด อาจทำให้เกิดภาวะอาการป่วยที่สร้างปัญหาแก่สุขภาพได้ เช่น

การขาดวิตามินเอ อาจทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย เมื่อยล้า เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาทางสายตา ภาวะผิวแห้ง ผมแห้ง หรือคันระคายเคืองที่ผิวหนัง เป็นต้น

การขาดวิตามินบี อาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง  มือชา เมื่อยล้า อ่อนเพลีย ซึมเศร้า ผิวหนังอักเสบ หรือปากนกกระจอก เป็นต้น

การขาดวิตามินซี อาจทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ผิวแห้ง ผมแตกปลาย เกิดรอยฟกช้ำได้ง่าย เลือดออกตามไรฟัน เหงือกบวม โรคลักปิดลักเปิด และภูมิคุ้มกันร่างกายต้านทานการติดเชื้อได้ไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้ป่วยง่าย เป็นต้น

การขาดวิตามินดี อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน อาการปวดตามกระดูก กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น

การขาดธาตุเหล็ก อาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง อาการอ่อนเพลีย เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดพัฒนาการช้าทางร่างกาย การเคลื่อนไหว และกระบวนการคิด

การขาดแคลเซียม อาจทำให้เป็นตะคริวได้ง่าย อาการกล้ามเนื้อหดเกร็งบริเวณมือและเท้า ปวดเกร็งหน้าท้อง หรืออาจนำไปสู่ภาวะกระดูกบางและโรคกระดูกพรุนได้ในที่สุด

ในบางกรณี แพทย์จะเป็นผู้ดูแลแนะนำหรือกำหนดให้ผู้ป่วยได้รับประทานอาหารเสริมในปริมาณที่เหมาะสม แต่สำหรับบุคคลทั่วไปที่ต้องการบริโภคอาหารเสริมเพราะคิดว่าสารอาหารที่ได้รับในแต่ละวันไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร พร้อมศึกษาข้อมูลการบริโภคอาหารเสริมแต่ละชนิดให้ถี่ถ้วนก่อนเสมอ เพราะการรับสารอาหารชนิดใดเข้าสู่ร่างกายจนมากเกินพอดี อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

และแม้อาหารเสริมบางชนิดจะผ่านการทดลองในห้องปฏิบัติการมาแล้วก็ตาม แต่อาหารเสริมและส่วนประกอบในอาหารเสริมเหล่านั้น อาจยังไม่ได้รับการพิสูจน์ถึงประสิทธิผลและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นอย่างชัดเจนเสมอไป

ยิ่งไปกว่านั้นการบริโภคอาหารเสริมอย่างผิดวิธี หรือเกินปริมาณที่เหมาะสมต่อร่างกาย อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตของผู้บริโภคได้  ดังนั้น การรับประทานอาหารเสริมแต่ละชนิดจะปลอดภัยก็ต่อเมื่อผู้บริโภคใช้อาหารเสริมตัวนั้นอย่างถูกวิธีในปริมาณที่ถูกต้องเหมาะสม ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ