ทุเรียนพันธุ์โบราณหายาก เห็นแล้วซื้อกินเลย

Food Story อาหาร

มาแล้ววว…ววววว มาแล้วจ้า แม่ค้าขายทุเรียนอร่อยรสชาติหวานมัน หมอนทอง ชะนี กระดุม ก้านยาว …เสียงแม่ค้าสาวตะโกนเรียกลูกค้าเมื่อย่างเข้าสู่ต้นฤดูของการกินทุเรียน ทุเรียนจะเริ่มออกตอนปลายเดือนมีนาคม และมีมากช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ต้นฤดูจะเป็นพันธุ์กระดุม ตามด้วยชะนี หมอนทอง และพวงมณี

แต่ครั้งนี้ไม่ได้มาชวนกินทุเรียน แต่จะพาไปรู้จักพันธุ์ทุเรียน โดยเฉพาะพันธุ์โบราณ หายาก!! อยากให้รู้ว่าทุเรียนไม่ได้มีแค่หมอนทอง ชะนี กระดุม หรือก้านยาว เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลากหลายสายพันธุ์ที่มีรสชาติอร่อย หวานมัน แต่อุปสรรคสำคัญ คือ หารับประทานยากมาก

ก่อนอื่นต้องรู้ว่าทุเรียนสายพันธุ์โบราณ โดดเด่นในเรื่องความทนทานต่อโรคและแมลง และการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อม เพราะถูกทดสอบและคัดเลือกพันธุ์มาจากเกษตรกรเจ้าของสวนทุเรียนในอดีต ทุเรียนสายพันธุ์โบราณเหล่านี้เก็บรวบรวมพันธุ์โดยนักวิชาการจากแหล่งผลิตที่มีอายุการปลูก 40-50 ปี ขณะที่บางสวนมีทุเรียนต้นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่มีอายุมากถึง 100-200 ปี ก็มี

เริ่มกันที่ ทุเรียนเมืองนนท์สายพันธุ์โบราณ เป็นพันธุ์หายากแล้วในปัจจุบัน ปลูกได้เฉพาะที่จังหวัดนนทบุรีเท่านั้น โดยปลูกกันมากที่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ลูกละ 5,000 บาท สูงสุด 50,000 บาท เคยมีการประมูลทุเรียนเมืองนนท์ครั้งหนึ่งได้ราคาสูงมากถึงลูกละ 300,000 บาท ปัจจุบันชาวเมืองนนท์พยายามอนุรักษ์พันธุ์นี้ไว้ ซึ่งเหลือพื้นที่ปลูกอยู่เพียง 20,000 ไร่ จากเดิมที่เคยมี 60,000 ไร่

ต่อมาเป็นพันธุ์ “นกหยิบ” เป็นทุเรียนสายพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิมของจังหวัดนนทบุรี จัดอยู่ในกลุ่มทองย้อย มีรสชาติความอร่อยใกล้เคียงกับหมอนทองมาก แต่มีรส

หวานมันมากกว่า เนื้อสีเหลืองเข้มค่อนข้างละเอียด ลูกหนึ่งมี 5 พู เมล็ดลีบ กลิ่นไม่ฉุน ลักษณะผลคล้ายทุเรียนหมอนทอง แต่มีหนามละเอียดและถี่

ที่รู้จักกันอีกพันธุ์ช่วงไม่เกินสิบปีที่ผ่านมา คือ “หลินลับแล-หลงลับแล” เป็นทุเรียนโบราณพันธุ์ดีของจังหวัดอุตรดิตถ์ เพราะปลูกได้เฉพาะที่บริเวณที่เป็นหุบเขาในอุตรดิตถ์เท่านั้น มีผลผลิตออกสู่ตลาดตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมจนถึงสิงหาคม ใครอยากรับประทานต้องรอช่วงนั้น “หลินลับแล” แตกต่างจาก “หลงลับแล” โดยทุเรียนหลงลับแลผลมีลักษณะกลมเหมือนไข่ พูเต็มใหญ่ไม่มีเว้า น้ำหนักเฉลี่ย 0.5 กิโลกรัม ถึง 3.5 กิโลกรัม/ลูก รสชาติหวานมัน เนื้อเหนียวละเอียด มีกลิ่นอ่อน เนื้อสีเหลืองสด รสอร่อย ส่วนหลินลับแล ผลมีขนาดเล็ก น้ำหนักเฉลี่ย 1-2 กิโลกรัม/ลูก เป็นพูชัดเจน รสหวานมัน มีกลิ่นอ่อนมากหรือแทบไม่มีกลิ่น เนื้อเยอะละเอียดเหนียว สีเหลืองอ่อน เมล็ดเล็กลีบ ราคาแพงกว่าหลงลับแล ขายกิโลกรัมละ 250-300 บาท

ทุเรียนพันธุ์ “สาลิกา” เป็นทุเรียนพื้นบ้านพันธุ์โบราณของอำเภอกะปง จังหวัดพังงา เรียกเป็นภาษาถิ่นว่า “เรียนสากา” ลักษณะผลค่อนข้างกลมคล้ายลูกแอปเปิ้ล สามารถตั้งได้โดยไม่ล้ม เปลือกบาง หนามสั้น ค่อนข้างถี่ น้ำหนักต่อผลโดยเฉลี่ย 1-2 กิโลกรัม เป็นทุเรียนที่มีรสชาติหวานมัน มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ เนื้อหนา ละเอียด แน่น ไม่เละ เริ่มให้ผลผลิตตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมไปจนถึงช่วงเดือนมิถุนายนและบางครั้งอาจไปถึงกรกฎาคม ชาวสวนนิยมตัดผลทุเรียนเมื่อแก่จัด และเมื่อเริ่มมีกลิ่นหอมก็ให้แกะรับประทานได้ทันที

มาถึงตระกูลกบบ้าง ที่ต้องยกนิ้วให้สองนิ้วโป้งเลยก็ คือ “กบสุวรรณ” เป็นพันธุ์หนึ่งในตระกูลกบ มีต้นกำเนิดมาจากพันธุ์การะเกด ลำต้นสูงและตั้งตรงคล้ายกับสนหรือรูปกรวยแหลม ใบเป็นรูปไข่ ป้อมกลางใบ ทรงผลเป็นทรงไข่กลับ หนามนูนปลายแหลม มีขนาดผลปานกลาง กลิ่นอ่อน เนื้อละเอียดสีเหลืองอ่อนคล้ายคาราเมล รสชาติหวานมัน ลักษณะพิเศษ คือ หนามเขียวเข้ม เวลาสุกเนื้อไม่เละง่าย แหล่งที่พบจังหวัดนนทบุรี จันทบุรี ระยอง

ทุเรียนชื่อแปลก “ชายมะไฟ” เป็นพันธุ์พื้นเมืองเก่าแก่ที่มีมานาน ค้นพบครั้งแรกในบริเวณสวนบางกอกน้อย จังหวัดนนทบุรี เพาะจากเมล็ดพันธุ์กำปั่นขาว สันนิษฐานว่าในการปลูกครั้งแรกคงจะปลูกชิดต้นมะไฟ เจ้าของจึงเรียกติดปากว่า “ชายมะไฟ” เป็นทุเรียนต้นไม่แข็งแรงมาก ใบป้อมๆ ปลายใบเรียวแหลม ผลมีรูปร่างทรงป้อมค่อนข้างยาว ผลใหญ่ ก้านสั้นแข็งแรง รูปร่างหนามแหลมตรงฐาน หนามคล้ายกำปั่น ลูกไม่ค่อยดกเพราะเป็นทุเรียนพันธุ์หนัก มีเนื้อหนาละเอียด สีเหลืองจัด กลิ่นแรง รสหวานมากกว่ามัน เนื้อแห้งไม่เปียก พบที่จังหวัดจันทบุรี ปราจีนบุรี

อีกพันธุ์ที่เพาะจากเมล็ดกำปั่นขาวเช่นเดียวกัน เป็นทุเรียนพันธุ์ “ดาวกระจาย” เกิดที่ตำบลบางบำหรุ วัดพิกุล อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี โดยผู้ใหญ่บ้านฟุ้ง เพาะหลังน้ำท่วมปี 2460 ลักษณะต้นขึ้นง่าย ลำต้นใหญ่ ใบสีเขียว แหลมยาวเหมือนกำปั่นขาวแต่บางและใหญ่กว่า ลักษณะฐานผลป้าน ผลเหมือนกำปั่น แต่เป็นผลขนาดกลาง รูปป้อม หนามแหลม ฐานหนามใหญ่เหมือนกำปั่นขาว ใครที่เคยกินจะบอกเป็นเสียงเดียวว่ารสชาติติดดาว คือหวานจัด เนื้อข้นละเอียดแบบเนื้อครีม หอมละมุน เนื้อสีเหลืองไม่จัด

ทุเรียนที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 “นกกระจิบ” ที่เรียกชื่อนี้เพราะมีผลขนาดเล็ก รูปร่างคล้ายนกกระจิบ แต่ที่จริงแล้วกลายพันธุ์มาจากทุเรียนพันธุ์พานพระศรี สมัยรัชกาลที่ 5 เหตุที่ชื่อพานพระศรี เพราะว่าเป็นทุเรียนลูกเล็กตั้งบนพานได้ ชาวสวนไม่นิยมปลูก เพราะปลูกแล้วแล้วไม่คุ้มทุน แต่ต่อมามีการขยายพันธุ์ปลูกกันอย่างกว้างขวาง ตั้งชื่อใหม่ว่า “เม็ดในยายปราง” จุดเด่นคือเนื้อสีทอง หอมหวาน ได้เปรียบในเรื่องการตลาดขายได้ราคา 150-180 บาทต่อกิโลกรัม

ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ที่จริงทุเรียนพันธุ์โบราณยังมีอีกมาก แต่บางชนิดก็สูญพันธุ์ไปแล้วก็มี และด้วยข้อจำกัดที่ไม่มีการต่อยอดหรือศึกษาอนุรักษ์เท่าที่ควร ชาวสวนเองก็ปลูกกันน้อย แต่ด้วยความที่มีรสชาติอร่อยจึงทำให้ชาวสวนสามารถขายทุเรียนพันธุ์โบราณได้ในราคาแพง แต่ก็มีบางพันธุ์บางชนิดที่เงินมาวางกองตรงหน้า แต่ไม่สามารถซื้อกินได้ ใครพบเห็นทุเรียนพันธุ์โบราณเหล่านี้อย่าลังเลซื้อกินได้ทันที เพราะของดีมีน้อย…