สมุย..วันนี้ ก่อนที่โควิด-19 จะมาเยือน

Travel ท่องเที่ยว

สมุย..วันนี้ ก่อนที่โควิด-19 จะมาเยือน

ก่อนเกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิดระลอก 3 ราว 1 เดือน ยังพอมีโอกาสไปสัมผัสทะเลสีคราม น้ำใสกิ๊กที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฏร์ธานี ซึ่งรู้กันดีว่าสมุยช่วงนี้ไม่มีนักท่องเที่ยว! ทั้งเกาะเงียบสงบ โดยเฉพาะในย่านที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางของธุรกิจท่องเที่ยว อย่างหาดเฉวง  หาดละไม  หาดเชิงมน  หาดหน้าทอน หาดพระใหญ่ เป็นต้น  

ร้านรวงสองข้างทางเวลานี้ปิดสนิท บ้างติดป้ายให้เช่า ให้เซ้ง ไปตามเรื่อง แม้แต่ร้านเซเว่นยังต้องปิดเพราะไม่มีคนซื้อ ฝรั่งต่างชาติ จีน ญี่ปุ่น แทบจะนับคนได้  ถึงกระนั้นความงามของทิวทัศน์ และเวิ้งน้ำทะเลใสที่มองเห็นพื้นทราย ปะการังน้ำตื้นที่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่ายังคงเป็นมนต์เสน่ห์ให้คนไปเยือน แม้ปริมาณคนจะน้อยกว่าที่เคยมีก็ตาม

ในอดีตเกาะสมุยเป็นแหล่งปลูกมะพร้าวที่สำคัญของประเทศไทย มีมะพร้าวพันธุ์ดีอยู่มากมาย หลายพันธุ์ ปัจจุบันสวนมะพร้าวกลายเป็นรีสอร์ต  สถานบันเทิง  โฮมสเตย์ โรงแรมระดับ 5 ดาว ไปเกือบทั้งหมด  ประวัติความเป็นมาของเกาะสมุย มีเล่าไว้ว่าเกาะแห่งนี้เคยเป็นถิ่นฐานที่พักของกลุ่มชาวประมงเมื่อ 1,500 ปีมาแล้ว  แต่เพิ่งมีหลักฐานบันทึกครั้งแรกโดยชาวจีนเมื่อ 500 ปีที่ผ่านมานี่เอง ทั้งนี้ มีการค้นพบเครื่องเคลือบเซรามิคจีนในซากเรือที่จมอยู่ใกล้ชายฝั่งของเกาะสมุย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจีนได้เข้ามาทำการค้ากับสมุยตั้งแต่เมื่อ 1,500 ปีที่แล้ว

ต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกาะสมุยเป็นเมืองส่งส่วยอากร ขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช โดยมีที่ว่าการเมืองอยู่ที่บ้านดอนแตง ใกล้วัดประเดิม หมู่ที่ 1 ตำบลหน้าเมืองอยู่ทางทิศใต้ของเกาะสมุย  มีข้อความปรากฏใน หนังสือ “ชีวิวัฒน์” พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงนิพนธ์ไว้เป็นทำนองรายงานการเสด็จ ตรวจราชการหัวเมืองปักษ์ใต้ ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปีวอก พ.ศ. 2427

S__32489538

พระนิพนธ์ดังกล่าว กล่าวถึงเกาะสมุยในขณะนั้นใจความตอนหนึ่ง ว่า “ในหมู่บ้านเกาะสมุยนี้ ถ้าจะประมาณโรงเรือนราษฎรที่ตั้งอยู่ จะเป็นไทยประมาณ 400 หลังเศษ จีน 100 หลังเศษ เป็นจำนวนคนซึ่งประจำอยู่ ณ เกาะนั้น ไทยประมาณ 1,000 คนเศษ จีนสัก 600 คนเศษ คิดทั้งคนจรไปมาตั้งบ้างไปบ้าง จะเป็นคนรวมประมาณถึง 2,000 คน แต่คนในเกาะสมุยนั้น มากๆ น้อย ๆ เป็นคราวๆ เป็นต้นว่าถึงฤดูสักเลก คนหลบหนีมาอยู่เกาะสมุยเป็นอันมาก ถ้าจะคิดในเวลาอย่างมากจะเป็นคนประมาณถึง 5,000-6,000 คน  คนไทยนั้นเป็นคนชาวนอก  กริยาน้ำใจและเสียสละเป็นชาวนอกทั้งสิ้น  มักจะบิดเบือน พูดจาไล่ไม่จนและเป็นคนเกรงกลัวอาญานายกดขี่ เป็นต้น ถ้าจะถามสิ่งใดก็พูดจาอ้อมค้อม วนเวียน ปิดบัง เป็นธรรมดา หาจริงยาก…..พวกนั้นมักจะเป็นชาติไหหลำทั้งสิ้น…..ฯลฯ “

เมื่อเกาะสมุยเป็นเมืองส่งส่วยแก่เมืองนครศรีธรรมราช เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชก็ส่งคนมาปกครองความตอนหนึ่งในชีวิวัฒน์กล่าวว่า  ” เกาะสมุยนี้ มีตำแหน่งผู้ว่าราชการเป็นพระคนหนึ่ง คือนายฉิม ญาติพระยานครที่ตายเสียแล้ว ในเวลาบัดนี้ไม่มีตัวพระสมุยผู้ว่าราชการ  มีแต่ปลัดอยู่คนหนึ่งเรียกว่า หลวงสมุย เป็นคนแก่อายุมาก”  ชาวเกาะสมุยมักจะเรียกเจ้าเมืองเกาะสมุย ว่า “ตาหลวงหมุย” และการปกครองสมัยเดิม เจ้าเมืองแต่ละคนจะอยู่จนแก่เฒ่าและเมื่อตายไปแล้วจะแต่งตั้งบุตรชายเป็นเจ้าเมืองแทนต่อไป

ในปี พ.ศ. 2427 เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาภานุพันธุ์วงศ์วรเดช ได้มาตรวจราชการหัวเมืองปักษ์ใต้ทำให้ทราบว่า ชาวเกาะสมุยไม่อยากอยู่ภายใต้การปกครองของเมืองนครศรีธรรมราชเพราะถูกกดขี่ข่มเหง ทำให้ชาวเกาะสมุยเกรงอาญาเจ้าพระยานคร ดังนั้นจึงได้ร้องทุกข์กับ สมเด็จฯ กรมพระยาภานุพันธุ์วงศ์วรเดช ต่อมาในคราวเดียวกันพระองค์ทรงแวะเยี่ยมเยียนที่เมืองไชยา อันเป็นเมืองสำคัญแห่งหนึ่งในสมัยนั้น ได้ทรงพบปะกับพระยาไชยา(ขำ ศรียาภัย) เจ้าเมือง (ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาวจีสัตยารักษ์) ก็ทรงชอบพออัธยาศัยของพระยาไชยามาก ด้วยเหตุนี้เองจึงได้ กราบทูลให้พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบถึงความต้องการของชาวเกาะสมุย จึงทำให้เกาะสมุยมาขึ้นกับเมืองไชยา

ต่อมาเมื่อปีพ.ศ. 2440 (ร.ศ. 116) มีการจัดระบบการปกครองท้องถิ่นขึ้นใหม่ โดยยุบรวมหัวเมืองต่าง ๆ ตั้งเป็น มณฑล จังหวัด และอำเภอเมืองเกาะสมุยกับเกาะพะงันถูกยุบรวมเป็นอำเภอเดียวกัน ได้ส่งหลวงพิพิธอักษร(สิงห์ สุวรรณรักษ์) ไปเป็นนายอำเภอคนแรกของเกาะสมุย  ต่อมาหลวงพิพิธอักษร ได้รับพระราชทานยศเป็น พระยาเจริญราชภักดี ดำรงตำแหน่งนายอำเภอตั้งแต่ พ.ศ.2440-พ.ศ.2471 รวมเวลานานถึง 31 ปี จึงได้ลาออกรับบำนาญและถึงแก่กรรมเมื่ออายุ 84 ปี ในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2482

ไม่ค่อยมีใครรู้ว่า เกาะสมุยถูกยึดครองช่วงสั้นๆ โดยชาวญี่ปุ่น ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และอาสาสมัครจากหน่วยงานสันติภาพ(Peace Corp) เป็นชาวต่างชาติกลุ่มแรกๆ ที่เข้ามาในเกาะสมุยโดยใช้เส้นทางของเรือขนส่งมะพร้าว

จากเกาะที่ไม่มีความสำคัญ ไม่มีจุดเด่น สมุยพัฒนาเติบโตมาเรื่อยๆ อีกทั้งสภาพภูมิประเทศและทิวทัศน์อันสวยงาม ได้รับการบอกเล่าปันปากต่อปากจนในที่สุด สมุยวันนี้กลายเป็นจุดหมายท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลก สมุยจะยังเจริญต่อไปไม่หยุดยั้ง หากไม่มีการระบาดของโควิด-19 เสียก่อน

S__32489541
S__32489539