ชอบกินปลาดิบต้องรู้ 6 อาการเสี่ยงที่ร่างกายเราอาจต้องเจอ !

Food Story อาหาร

มื้อต่อไปหากจะกินปลาดิบจานโปรดก็อยากให้ระมัดระวังกันสักนิดค่ะ เพราะปลาดิบที่แม้จะเป็นประเพณีการรับประทานอาหารที่เน้นสุขภาพจากประเทศญี่ปุ่น แต่เมื่อมาเจอสภาพแวดล้อมในบ้านเราที่มีความร้อนชื้นมากกว่าแดนอาทิตย์อุทัย ปลาดิบสดๆ ใหม่ๆ อาจมีพยาธิและเชื้อบางอย่างที่ก่อให้เกิดโรคหรืออาการเสี่ยงดังต่อไปนี้ได้

1. พยาธิ

ใครบอกว่าปลาทะเลไม่มีพยาธิก็คงต้องทำความเข้าใจเสียใหม่ค่ะ เนื่องจากปลาน้ำเค็มที่นำมาทำปลาดิบนั้นก็อาจมีพยาธิได้ โดยไล่ตั้งแต่พยาธิใบไม้ พยาธิตัวจี๊ด พยาธิตัวกลมหรือในชื่อว่า พยาธิอะนิซาคิส (Anisakis simplex) ซึ่งพยาธิเหล่านี้จะอยู่รอดและเจริญเติบโตได้ดีในอาหารประเภทสุกๆ ดิบๆ และอาจทำให้เกิดอาการอาเจียน จากผลพวงที่ร่างกายต้องการขับพยาธิออกจากลำไส้

หรือหากพยาธิหลุดเข้าไปในทางเดินอาหารหรือภายในช่องท้อง อาจเกิดก้อนทูมในกระเพาะอาหาร ทำให้มีอาการปวดท้อง ปวดกระเพาะอาหาร ลำไส้อุดตัน หรืออาจมีอาการปวดคล้ายๆ ไส้ติ่งอักเสบ

โดยบางรายอาจมีอาการถ่ายออกมาเป็นมูกเลือดภายใน 1-5 วัน หลังจากรับประทานปลาดิบที่มีพยาธิเหล่านี้เข้าไป หรืออย่างเร็วก็อาจรู้สึกคลื่นไส้อาเจียนหลังจากรับประทานปลาดิบไป 1 ชั่วโมง

2. ท้องร่วง อาหารเป็นพิษ บิด และอหิวาตกโรค

ต้องบอกว่าแทบทุกกระบวนการผลิตปลาดิบ ตั้งแต่การจับ การเก็บรักษาปลาดิบ ตลอดจนขั้นตอนเฉือนปลาดิบของพ่อครัวก่อนส่งต่อถึงปากเรา มักจะมีเชื้อโรคตัวเล็กตัวน้อยหลากชนิดติดสอยห้อยตามมาป่วนสุขภาพเราด้วย

ซึ่งเจ้าเชื้อโรคและจุลินทรีย์ปนเปื้อนก็มีตั้งแต่เชื้ออีโคไล, เชื้อซาลโมเนลลา, เชื้อวิบริโอ, วิบริโอ คอเลอเร, ลิสทีเรีย โมโนไซโตจีเนส, สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส และพยาธิตัวกลมกลุ่มอนินิซาคิส

โดยอาจเกิดได้จากกระบวนการผลิตปลาดิบที่ไม่ถูกสุขอนามัย อย่างการไม่ล้างมือให้สะอาดก่อนมาทำปลาดิบ เป็นต้น ซึ่งข้อบกพร่องที่ว่าอาจเป็นสาเหตุของอาการอาหารเป็นพิษ ท้องร่วง ท้องเสีย บิด และอหิวาตกโรคได้ ซึ่งบางรายอาจมีอาการขั้นรุนแรงจนต้องหามส่งโรงพยาบาลได้เลยนะคะ ฉะนั้นหากเป็นไปได้พยายามกินปลาที่ผ่านความร้อนมากพอจะฆ่าเชื้อโรคและจุลินทรีย์เหล่านี้จะดีกว่า

3. อาการคันคอ

Tingling Throat Syndrome หรือกลุ่มอาการจั๊กจี้ลำคอ ตลอดจนรู้สึกคันคอหอย ที่อาจเกิดเพราะตัวพยาธิเดินทางจากหลอดอาหารมาที่คอหอย ซึ่งบางครั้งตัวอ่อนของพยาธิเหล่านี้อาจออกมาปนเปื้อนกับเสลดที่เราขากออกมา พอนึกภาพพยาธิเลื้อยช้าๆ จากหลอดอาหารผ่านมายังลำคอ ก็รู้สึกสะอิดสะเอียนเต็มกำลังอยู่ไม่น้อยเลยเนอะ

4. ขาดวิตามิน

เป็นงงเบาๆ เลยว่าทำไมแค่กินปลาดิบก็ทำให้ร่างกายเกิดอาการขาดวิตามินได้ คำตอบคือ ในปลาดิบ รวมไปถึงอาหารประเภทสุกๆ ดิบๆ มีสารต้านวิตามินบี 1 อยู่นั่นเองค่ะ ดังนั้น เมื่อเรารับประทานปลาดิบเข้าไปก็อาจเกิดภาวะที่วิตามินบี 1 จะถูกเจ้าสารต้านวิตามินที่ว่าย่อยสลายไปซะเฉยๆ แต่หากปลาดิบหรืออาหารสุกๆ ดิบๆ เจอเข้ากับความร้อนก่อนที่เราจะรับประทาน วิธีปรุงสุกจะช่วยทำลายเอนไซม์สลายวิตามินบี 1 ได้จ้า

5. เสี่ยงคอเลสเตอรอล

โดยเฉพาะคนที่ชอบกินไข่ปลามากเป็นพิเศษ หลุยส์ ซัตตัน แห่งมหาวิทยาลัยลีดส์ เมโทรโพลิแทน ก็ออกโรงเตือนว่า ไข่ปลาอาจมีคอเลสเตอรอลสูง จึงไม่ควรรับประทานไข่ปลาครั้งละมากๆ โดยเฉพาะคนที่มีประวัติคอเลสเตอรอลสูงอยู่แล้ว

6. โรคเกาต์อาจกำเริบ

ในซูชิหรือปลาดิบก็มีกรดยูริกค่อนข้างสูง อีกทั้งเมื่อกินคู่กับกับโชยุหรือซอสรสเค็มก็อาจทำให้อาการของโรคเกาต์กำเริบได้ง่ายๆ รวมทั้งคนที่มีแนวโน้มหรือมีประวัติเป็นโรคความดันโลหิตสูงก็ควรเลี่ยงการรับประทานปลาดิบ ซาซิมิ และซูชิ ด้วยเช่นกัน

แม้ปลาดิบจะมีรสชาติหวานยั่วน้ำลายแค่ไหน แต่หากรับประทานเข้าไปแล้วเสี่ยงต่ออาการเหล่านี้ก็คงไม่เวิร์คกับสุขภาพแน่ๆ ว่าไหมคะ ฉะนั้นคงดีกว่าหากเราจะหันมารับประทานอาหารที่สุก สด และใหม่ หรือหากห้ามใจต่อปลาดิบได้ยากเย็นจริงๆ อย่างน้อยก็ขอให้รู้วิธีกินปลาดิบอย่างไร ให้ห่างไกลจากพยาธิสักนิด จะได้รับประทานได้อย่างปลอดภัย

ขอบคุณข้อมูลจาก : momypedia, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, คมชัดลึก