ได้ฤกษ์ ‘กัญชงลงแปลง’ มข.ลุย ‘วิจัย-พัฒนาสายพันธุ์’

Trending ฮิตติดกระแส

ได้ฤกษ์ ‘กัญชงลงแปลง’ มข.ลุย ‘วิจัย-พัฒนาสายพันธุ์’

หากจะพูดถึง “กัญชง” หรือ เฮมพ์ (Hemp) ในประเทศไทยยังถูกจำแนกเป็นพืชเสพติดประเภท 5 เช่นเดียวกับกัญชา ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 เพราะพืชกลุ่มนี้มีสาร Tetrahydrocannabinol (THC) สารเสพติดที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท Cannabinol (CBN) และ Cannabidiol (CBD) สารต้านการออกฤทธิ์ของสาร THC ซึ่งในเฮมพ์มีปริมาณของสาร THC ต่ำกว่ากัญชามาก และมีสาร CBD ในเมล็ด ซึ่งปัจจุบัน งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้เปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับเฮมพ์จากทางลบกลายเป็นบวก

กัญชง เป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่โดดเด่นเรื่องของเส้นใย ให้ผลผลิตมากกว่าฝ้าย ให้คุณภาพสูงกว่า ใช้แรงงานในการปลูกน้อยกว่า ไม่ต้องใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชปริมาณมาก เจริญเติบโตได้ง่าย ได้รับความสนใจในการนำเส้นใยกัญชงเข้ามาทดแทนเส้นใยสังเคราะห์ทั้งหมดในอนาคต สาเหตุมาจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนปัญหาสุขภาพ

เฮมพ์อาจสร้างมูลค่านับแสนล้าน จากการนำทุกส่วนของเฮมพ์ไปแปรรูปออกมาเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภทในระดับอุตสาหกรรม เช่น สิ่งทอเครื่องนุ่มห่ม อาหารมนุษย์ อาหารสัตว์ เครื่องสำอาง ผลิตกระดาษ ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ สิ่งก่อสร้างอาคารบ้านเรือน และผลิตพลังงานชีวมวลในรูปแบบต่างๆ เป็นต้น ทำให้ต้องมีการส่งเสริมการปลูก ผลิต และจำหน่ายมากขึ้น แต่เนื่องจากพื้นที่ปลูกในประเทศไทยมีสภาพแวดล้อม สภาพภูมิอากาศค่อนข้างร้อน ส่งผลต่อปริมาณของสาร THC โดยตรง อาจทำให้ปริมาณของสาร THC ในเฮมพ์ที่ปลูกนั้น มีปริมาณค่อนข้างสูง ปัจจุบันปลูกได้ใน 6 จังหวัด 15 อำเภอของภาคเหนือของประเทศไทย

การจะเริ่มต้นปลูกเฮมพ์แบบอุตสาหกรรมเส้นใยได้นั้น ต้องเป็นไปตามที่กฎกระทรวงระบุไว้ ซึ่งต้องมีปริมาณ Tetrahydrocannabinol (THC) ไม่เกินร้อยละ 1.0 ต่อน้ำหนักแห้ง การปลูกเฮมพ์จึงเน้นระยะห่างระหว่างต้นให้ใกล้กันที่สุด ซึ่งจะไปกระตุ้นให้มีลำต้นยาวตรงสูงมากกว่า 2 เมตร ปล้อง หรือข้อยาว เพื่อนำเส้นใย แกนลำต้น เมล็ด และใบจากเฮมพ์ มาใช้ประโยชน์

มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยที่ศึกษาค้นคว้างานวิจัยทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มีทั้งงานวิจัยพื้นฐาน และงานวิจัยประยุกต์และทางคลินิก ตลอดจนมีนักวิจัย และเครื่องมือการวิจัยที่มีศักยภาพ ที่จะดำเนินการวิจัยต่างๆ ทุกด้าน และทุกสาขาวิชา จึงได้จัดตั้ง สถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ เพื่อดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับพืชกัญชง และกัญชา และได้ศึกษาวิจัยกัญชง เพื่อปลูกประเมินลักษณะประจำพันธุ์ และปริมาณสารสำคัญในกัญชง THC และ CBD ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) และพัฒนาระบบการผลิตกัญชงให้เหมาะสมกับพื้นที่ภาคอีสาน นอกจากจะเป็นประโยชน์ทางการแพทย์แล้ว ยังทำหน้าที่ส่งเสริม และถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับกัญชง เป็นศูนย์กลางข้อมูล เพื่อเผยแพร่ความรู้ ข่าวสารให้กับวิสาหกิจชุมชน ชุมชน หน่วยงาน ภาครัฐบาล เอกชน ให้เกิดการต่อยอดสู่การอุตสาหกรรม

เมื่อเร็วๆ นี้ รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มข.ได้เป็นประธานในพิธี “กัญชงลงแปลง” ซึ่งเป็นพิธีปลูกกัญชงเพื่อการวิจัย และพัฒนาสายพันธุ์แปลงปฐมฤกษ์ สถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ มี ศ.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา ร่วมกับ ศ.ผิวพรรณ มาลีวงษ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา รศ.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ และ ผศ.ชานนท์ ลาภจิตร หัวหน้าโครงการวิจัยกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง สถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ ร่วมในพิธี ที่หมวดพืชผัก สาขาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มข.

ศ.มนต์ชัย กล่าวว่า การจัดพิธี “กัญชงลงแปลง” ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ มข., ฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา และกองบริหารงานวิจัย โดยที่สถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ มข.มีภารกิจหลักในการดำเนินโครงการวิจัยกัญชงกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และอุตสหกรรมที่เกี่ยวข้อง และมีแผนที่จะดำเนินงานวิจัยพืชกัญชง และกัญชาแบบบูรณาการครบศาสตร์ จากต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ

ศ.มนต์ชัย ดวงจินดา

เริ่มตั้งแต่ทีมคณะเกษตรศาสตร์ ศึกษาวิจัยด้านการปลูก ปรับปรุงพันธุ์ และพัฒนาสายพันธุ์ ทีมคณะวิทยาศาสตร์ดำเนินการศึกษาวิจัยสกัดน้ำมันกัญชง และกัญชา วิเคราะห์สารองค์ประกอบสำคัญ ทีมจากคณะเภสัชศาสตร์ วิจัยและพัฒนาเพื่อเตรียมรูปแบบ ขนาด ผลิตภัณฑ์ยา เพื่อส่งต่อให้ทีมคณะแพทยศาสตร์ นำไปวิจัยด้านคลินิกในผู้ป่วยเฉพาะโรค เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ยาที่รักษาเฉพาะโรค หรือเฉพาะรายบุคคล หรือ personalized medicine และทีมคณะสัตวแพทย์ ศึกษาวิจัยด้านการนำวัสดุเศษเหลือจากการศึกษาวิจัยด้านต่างๆ ไปพัฒนาเป็นอาหารสัตว์

ขณะนี้ มข.ได้รับหนังสือแสดงการอนุญาตผลิต (ปลูก) กัญชง ตามหนังสือสำคัญ ที่ 19/2563 เมื่อเดือน ตุลาคม 2563 ในการปลูก เก็บเกี่ยว หรือแปรสภาพเฮมพ์ สำหรับการศึกษาวิจัย พื้นที่ 1,664 ตารางเมตร โดยใช้เมล็ดพันธุ์จากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) 3 สายพันธุ์ คือ อาร์พีเอฟ 1 อาร์พีเอฟ 3 สายพันธุ์ละ 2 กิโลกรัม และอาพีเอฟ 4 จำนวน 50 เมล็ด กัญชงที่นำมาปลูกในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิจัยการประเมิน พัฒนาสายพันธุ์กัญชงเพื่อการแพทย์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับใบอนุญาตในผลิต (ปลูก) กัญชง โดย มข.ถือเป็นที่แรกใน จ.ขอนแก่น ที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกในการใช้ช่อดอกในการวิจัยประเมินสายพันธุ์

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มข.

“นักวิจัยได้เพาะต้นกล้าจากเมล็ดพันธุ์ ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2563 กว่า 700 ต้น ซึ่งจะครบกำหนดย้ายต้นกล้าลงแปลงในวันนี้ โดยจะใช้ระยะเวลาประมาณ 120-150 วัน ที่จะผลิตดอก และครบกำหนดเก็บเกี่ยวดอก เพื่อนำไปวิจัย ประเมิน และพัฒนาสายพันธุ์เพื่อการแพทย์ต่อไป” ศ.มนต์ชัย กล่าว

รศ.นพ.ชาญชัย กล่าวว่า สถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ มข.เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่วิจัย และพัฒนาพืชกัญชา และกัญชง เพื่อนำไปใช้เป็นประโยชน์ทางการแพทย์ ในมนุษย์ และสัตว์ รวมถึง การนำไปใช้ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในด้านต่างๆ ปัจจุบัน สถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ ด้ดำเนินโครงการวิจัยการประเมินและพัฒนาสายพันธุ์กัญชง เพื่อการแพทย์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อการวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์ การวิเคราะห์สารสำคัญ ในรูปแบบยา และการวิจัยคลินิกทางการแพทย์ และสัตวแพทย์ ศึกษาวิจัยการประเมินสายพันธุ์กัญชง เพื่อการแพทย์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

นอกจาก มข.จะเป็นที่แรกใน จ.ขอนแก่น ที่ปลูกกัญชงเพื่อการประเมิน และพัฒนาสายพันธุ์กัญชงเพื่อการแพทย์ การปลูกครั้งนี้ เป็นการปลูกรอบแรก ซึ่งจะนำไปใช้ในการวิจัย ประเมิน และพัฒนาสายพันธุ์กัญชงเพื่อการแพทย์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ทางการแพทย์ รวมถึง การนำไปใช้ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องด้านต่างๆ

อีกทั้ง ยังมีการส่งเสริม และถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับกัญชง ให้กับวิสาหกิจชุมชน ชุมชน หน่วยงาน ภาครัฐบาล เอกชน และการต่อยอดสู่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ตามกฎหมายที่บังคับใช้ ตลอดจนเป็นสถาบันวิจัยที่เป็นศูนย์กลางข้อมูล เพื่อเผยแพร่ความรู้ ข่าวสารต่างๆ ให้กับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสาธารณชน ของ จ.ขอนแก่น

ที่มา : มติชนออนไลน์

กัญชง4