ย้อนที่มา 5 อาหารขึ้นชื่อประจำชาติ ที่อาจมีต้นกำเนิดจากประเทศอื่น

Food Story อาหาร

อาหารการกิน เป็นหนึ่งในเครื่องสะท้อนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของแต่ละชาติ ซึ่งวัฒนธรรมอาหารก็เหมือนกับวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่สามารถแพร่ไปยังชนอีกกลุ่มหรืออีกประเทศได้ บางครั้งเมื่อชาตินั้น ๆ รับเอาวัฒนธรรมอาหารแล้วอาจจะนำไปพัฒนาต่อยอดให้มีความเฉพาะเป็นของตนเอง จนเราอาจจะคาดไม่ถึงว่าอาหารบางอย่างที่เราคุ้นกันว่ามาจากชาติใดชาติหนึ่ง จนถึงขั้นที่เรียกว่าเป็นอาหารประจำชาติ แท้จริงแล้วอาจมีต้นกำเนิดจากประเทศอื่น

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็อย่างครัวซองต์ ขนมที่ฮอตฮิตมาสักพักใหญ่ในประเทศไทย หลายคนอาจจะคิดว่าครัวซองต์นั้นมีต้นกำเนิดที่ฝรั่งเศส หรืออย่างแฮมเบอร์เกอร์ที่หลายคนอาจจะเข้าใจว่ามีต้นกำเนิดในสหรัฐอเมริกา แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่อย่างที่คิด และต่อไปนี้คือ อาหารและเครื่องดื่ม 5 อย่างที่เป็นที่จดจำว่ามาจากประเทศหนึ่ง แต่แท้จริงแล้วมีที่มาจากประเทศอื่น ซึ่ง “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ได้หาข้อมูลย้อนไปในอดีตว่าอาหารเหล่านี้มีความเป็นมาอย่างไร

ครัวซองต์ ขนมฝรั่งเศสที่มีต้นกำเนิดในออสเตรีย

ครัวซองต์ (Croissant) ขนมรูปพระจันทร์เสี้ยวที่มีอายุมามากกว่า 300 ปี ปัจจุบันได้พัฒนาให้มีหลากหลายรูปแบบ หลายรสชาติ แตกต่างกันไปแล้วแต่ร้าน และในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ครัวซองต์ในประเทศไทยได้รับความนิยมมากสุด ๆ แบบไม่เคยเป็นปรากฏการณ์มากขนาดนี้มาก่อน

พอเอ่ยถึงขนมชนิดนี้หลายคนนึกถึงประเทศฝรั่งเศสอย่างแน่นอน เพราะชื่อของมันเป็นภาษาฝรั่งเศสขนาดนี้ แต่แท้จริงแล้วครัวซองต์มีต้นกำเนิดที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย

ย้อนไปเมื่อปี 1683 กองทัพเติร์กได้ยกพลมาปิดล้อมกรุงเวียนนาอยู่หลายเดือนแต่ไม่สามารถเข้าตีกรุงเวียนนาได้สำเร็จ จึงพยายามที่จะขุดกำแพงเมืองเพื่อเจาะอุโมงค์เข้าไป ระหว่างนั้นเชฟขนมปังที่ทำงานในช่วงกลางคืนได้ยินเสียง จึงแจ้งข่าวไปยังทหารรักษาเมือง และกษัตริย์จอห์นที่ 3 แห่งโปแลนด์ได้ยกทัพมาช่วยอีกแรง ทำให้รักษากรุงเวียนนาไว้ได้ บรรดาเชฟทั้งหลายจึงอบขนมปังรูปพระจันทร์เสี้ยว ซึ่งเลียนแบบมาจากสัญลักษณ์บนธงของเติร์ก เพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะครั้งนี้ และเรียกขนมปังนี้ว่า คิปเฟล (Kipferl) มาจากภาษาเยอรมัน แปลว่า พระจันทร์เสี้ยว

ขนมชนิดนี้ได้เข้ามาในฝรั่งเศสเมื่อปี 1770 ครั้นพระนางมารี อ็องตัวแน็ต เจ้าหญิงแห่งกรุงเวียนนา ต้องอภิเษกสมรสกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และย้ายมาอยู่ฝรั่งเศส ด้วยความคิดถึงบ้าน พระนางจึงสั่งให้พ่อครัวอบขนมคิปเฟลขึ้นมา โดยพ่อครัวได้ดัดแปลงสูตรและเรียกขนมชนิดนี้ว่า ครัวซองต์ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ราชวงศ์และชนชั้นสูง ก่อนที่จะมีผู้เปิดร้านขายครัวซองต์ ทำให้ครัวซองต์เป็นที่นิยมไปทั่วประเทศ

แฮมเบอร์เกอร์ สัญลักษณ์ของอเมริกาที่มาจากเยอรมนี

แฮมเบอร์เกอร์ (Hamburger) หรือเบอร์เกอร์ อาหารที่มีหน้าตาคล้ายกับแซนด์วิช แต่มีเอกลักษณ์เฉพาะตรงขนมปังก้อนกลม วางอยู่บนเนื้อสัตว์บดและผักต่าง ๆ วางเป็นไส้ เป็นอาหารฟาสต์ฟู้ดยอดนิยมของชาวอเมริกันจนแทบจะเป็นหนึ่งสัญลักษณ์ของสหรัฐอเมริกา อย่างเมื่อครั้งที่เกิดวิกฤตการณ์การเงินเมื่อปี 2008 ซึ่งเริ่มต้นในสหรัฐอเมริกา วิกฤตการณ์ครั้งนั้นก็ถูกเรียกว่า Hamburger Crisis

ถ้าย้อนไปถึงที่มาของแฮมเบอร์เกอร์จริง ๆ มันก็ไม่ได้กำเนิดที่สหรัฐอเมริกา แต่กำเนิดที่ยุโรป

ในทศวรรษที่ 17 เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี เป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ ชาวรัสเซียที่มาติดต่อค้าขายได้นำเอาเนื้อสับดิบที่ปั้นเป็นก้อนกลม ๆ หรือที่เรียกว่า Steak Tartare ซึ่งเป็นอาหารของกองทัพมองโกเลียเข้ามาเผยแพร่ จากนั้นชาวเยอรมันนำมาปรุงรสด้วยเครื่องเทศท้องถิ่นจนกลายเป็น ฮัมบูร์กสเต๊ก

จากนั้นในช่วงทศวรรษที่ 18 ชาวยุโรปรวมทั้งชาวเยอรมันได้อพยพไปยังสหรัฐ และได้นำเมนูนี้ไปเผยแพร่ด้วย โดยเรียกว่า แฮมเบอร์เกอร์สเต๊ก ซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ต่อมาร้านอาหารหลายร้านในสหรัฐได้ดัดแปลงนำขนมปังมาประกบเข้ากับแฮมเบอร์เกอร์สเต๊ก และเจ วอลเตอร์ แอนเดอร์สัน ได้คิดค้นขนมปังก้อนกลมขึ้นมาสำหรับแฮมเบอร์เกอร์ในปี 1916 ก่อนที่จะไปเปิดร้านอาหารของตนเอง จึงเป็นที่มาของเบอร์เกอร์ที่เราคุ้นเคยกันอย่างทุกวันนี้

กิมจิ ที่ว่าเป็นเกาหลีแน่ ๆ แต่รับมาจากจีน

กิมจิ (Kimchi) อาหารที่คนเกาหลีถือว่าเป็นวัฒนธรรมอันโดดเด่นและเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ ผักดองรสเผ็ด เปรี้ยว กลิ่นฉุน ที่ทำจากผักหลากหลายมักจะถูกวางมาเป็นเครื่องเคียงพร้อมกับอาหารในทุกมื้อ และยังถูกนำไปเป็นส่วนประกอบของอาหารอีกหลายอย่าง ทั่วโลกรู้จักกิมจิผ่านวัฒนธรรมบันเทิงของเกาหลีที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่หากย้อนประวัติศาสตร์กลับไป กิมจินั้นมีต้นกำเนิดในประเทศจีน

ผักดองเป็นอาหารที่บริโภคมานานนับพันปี เป็นหนึ่งในกรรมวิธีที่ใช้ในการถนอมอาหาร โดยมีบันทึกเขียนไว้ว่า เมื่อราว 2,000 ปีมาแล้ว กรรมกรที่สร้างกำแพงเมืองจีนได้กินผักกาดดองเกลือและเหล้าที่ทำจากข้าวเป็นอาหาร ในขณะที่ทางตอนใต้ของจีนได้นำผักต่าง ๆ มาดองกับน้ำส้มเรียกว่า พ่าวช่าย (Pao Cai) เพื่อเก็บไว้กินตลอดปี

ในยุคอาณาจักรซิลลาของเกาหลี ได้มีผู้นำผักดองจากจีนเข้ามาเผยแพร่ หลังจากนั้นคนเกาหลีจึงปรับปรุงกรรมวิธีในการดองเพื่อให้ได้รสชาติที่ถูกปากมากขึ้น ต่อมาเมื่อปี 1765 พ่อค้าชาวโปรตุเกสได้นําพันธุ์พริกสีแดงจากอเมริกากลางเข้ามาเผยแพร่ในเกาหลี คนเกาหลีจึงนำพริกมาผสมในกิมจิและกลายเป็นส่วนผสมสำคัญที่ทำให้กิมจิแตกต่างจากผักดองของชาติอื่น

ชาอังกฤษ เดินทางมาจากจีนและอินเดีย

ชา เป็นเครื่องดื่มที่มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนานในอังกฤษ มีขั้นตอนและวิธีการดื่มชาที่พิถีพิถัน จนกลายเป็นวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียง และกลายเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยม เมื่อไปเที่ยวอังกฤษหลายคนก็ไม่พลาดที่จะซื้อชามาเป็นของฝากหรือไว้ชงดื่มเองแน่นอน แต่แท้จริงแล้ว “ชาอังกฤษ” กลับไม่ใช่พืชที่มีต้นกำเนิดในประเทศอังกฤษ มีเพียงวัฒนธรรมการดื่มชาแบบอังกฤษเท่านั้นที่จะเรียกได้ว่าเป็นของอังกฤษ

การดื่มชานั้นเริ่มต้นขึ้นในดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลของจีนตั้งแต่เกือบ 3 พันปีก่อนคริสตกาล สำหรับในอังกฤษนั้น เดิมทีเครื่องดื่มที่ชาวอังกฤษนิยมดื่มในอดีตก็คือ เบียร์ จนกระทั่งปี ค.ศ. 1615 มีการนำชาเข้าไปในอังกฤษเป็นครั้งแรก โดยบริษัท ดัตช์ อีส อินเดีย จำกัด ภายใต้พระบรมราชานุญาตของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 1 จากนั้นชาก็เริ่มได้รับความนิยมในหมู่ชนชั้นสูงของอังกฤษ

แคทเธอรีน เดอ บราแกนซา เจ้าหญิงแห่งโปรตุเกส ซึ่งเป็นสมเด็จพระราชินีในสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ คือผู้ที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมการดื่มชาในสังคมชนชั้นสูงของอังกฤษอย่างมาก เนื่องจากพระนางได้เชิญพระสหายมาร่วมดื่มชาและสังสรรค์ในปี 1662 หลังจากนั้นวัฒนธรรมการดื่มชาก็ได้รับความนิยมในสังคมชนชั้นสูงของอังกฤษอย่างรวดเร็ว แต่ยังไม่เป็นที่นิยมในหมู่สามัญชน เพราะยังจัดว่าชาเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย

ต่อมาปี 1858 อินเดียเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิอังกฤษ และสหราชอาณาจักรเข้าไปควบคุมการผลิตชาในอินเดีย ทำให้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ความนิยมในการดื่มชาในอังกฤษก็เพิ่มมากขึ้น และไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะชนชั้นสูงเท่านั้น ประชาชนทั่วไปต่างก็มีการดื่มชาที่กลายเป็นกิจวัตรประจำวันไปแล้ว

ซาชิมิ ปลาดิบญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลจากแถบแม่น้ำโขง

ซาชิมิ หนึ่งในอาหารญี่ปุ่นที่ทำจากเนื้อสัตว์สด หรือปลาดิบ ที่มีกระบวนการจัดตกแต่งจานสวยงามประณีต เป็นอาหารที่หลายคนหลงใหลในรสชาติความสดและความอร่อย ทั้งยังเป็นอาหารที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน และถือเป็นตัวแทนของประเทศญี่ปุ่น ถึงขนาดที่เราเรียกญี่ปุ่นว่า “แดนปลาดิบ”

ต้นกำเนิดการรับประทานอาหารดิบกลับไม่ได้เริ่มต้นที่ญี่ปุ่น แม้ว่าจะเป็นประเทศที่ล้อมรอบไปด้วยทะเล แต่ในอดีตการรับประทานอาหารทะเลก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับชาวญี่ปุ่นในพื้นที่ที่ไม่ติดทะเล ในบทความของ South China Morning Post บอกไว้ว่าวัฒนธรรมการรับประทานอาหารดิบเริ่มต้นที่แถบแม่น้ำโขงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนจะเข้าสู่ประเทศจีน และญี่ปุ่นได้นำเอาวัฒนธรรมนี้เข้ามาในยุคนาระ (ค.ศ. 710-794) โดยพัฒนามาจากเมนูที่ชื่อว่า Narezushi เป็นการหมักปลาด้วยข้าวจะให้รสชาติเปรี้ยวและเค็ม เพราะในยุคนั้นยังไม่มีการกินอาหารดิบโดยที่ยังไม่ผ่านการปรุง

เมื่อวัฒนธรรมนี้เข้ามาในญี่ปุ่นจนถึงยุคมูโรมาจิก็ยังเป็นช่วงที่การกินปลาดิบแบบหมักถูกจำกัดอยู่เฉพาะในชนชั้นสูง เพราะมีราคาแพงและการขนส่งอาหารทะเลสดยังไม่ได้ถูกพัฒนา จนผ่านไปกว่า 300 ปี ในยุคเมจิที่การขนส่งอาหารทะเลสดจากพื้นที่ชายฝั่งสามารถกระจายไปยังพื้นที่อื่นของประเทศได้ จากที่จะรับประทานอาหารแบบหมักก็ได้ปรับเปลี่ยนเป็นการทานแบบดิบจนมีการตีพิมพ์สูตรอาหารเผยแพร่ไปทั่วประเทศ

จากภูมิปัญญาทำอาหารที่รับมาจากประเทศจีน ชาวญี่ปุ่นได้ปรับเปลี่ยนวิธีการปรุงอาหารโดยเน้นรสชาติดั้งเดิมของวัตถุดิบ ปรุงแต่งให้น้อยที่สุด จนกลายเป็นซาชิมิที่มีเอกลักษณ์เฉพาะและรู้จักกันไปทั่วโลกว่าเป็นอาหารที่มาจากญี่ปุ่น

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ผู้เขียน : ศิรินภา นรินทร์