ธุรกิจบุก “ออนไลน์-ดีลิเวอรี่” รับสถานการณ์ฉุกเฉินสูงสุด

Business ธุรกิจ

ธุรกิจเดี้ยงระนาว พิษโควิดระลอกใหม่สาหัสกว่ารอบแรก ร้านอาหารโอดปรับเปลี่ยนเปิด-ปิดห้างทราฟฟิกวูบ 40-50% ฮึดจัดแคมเปญกระตุ้น บุกดีลิเวอรี่ เจมาร์ทงัดแผนบริหารความเสี่ยงสู้ 3 ค่ายมือถือ ยักษ์เครื่องใช้ไฟฟ้าบุกช่องทางออนไลน์เต็มรูปแบบ ธุรกิจท่องเที่ยวภาคตะวันออกฟุบสนิท โรงแรมเมืองพัทยาเจอลูกค้าแห่คืนห้องพัก 100%

การระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 ที่แพร่กระจายไปทุกภาคทั่วประเทศรวม 56 จังหวัด (5 ม.ค. 2564) ทำให้เฉพาะศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) ต้องปรับแผนบริหารสถานการณ์ในเชิงรุก เสนอรัฐบาลออกมาตรการควบคุมดูแลพื้นที่ที่มีการระบาดของโควิด-19 ตามระดับความเสี่ยง 4 ระดับ ได้แก่ พื้นที่สีแดง ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัด สีส้มพื้นที่ควบคุม 11 จังหวัด และสีเหลือง เฝ้าระวังสูงสุด 38 จังหวัด (ไม่มีจังหวัดใดจัดเป็นพื้นที่สีเขียวเฝ้าระวัง) และล่าสุดได้ประกาศให้ 5 จังหวัดที่โควิด-19 ระบาดรุนแรง ได้แก่ สมุทรสาคร-ชลบุรี-ระยอง-จันทบุรี-ตราด เป็นพื้นที่ควบคุมสูง เข้มงวดเรื่องการเดินทาง ขณะที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และอีกหลายจังหวัดพากันทยอยประกาศมาตรการคุมเข้ม ทำให้ภาคธุรกิจต้องเร่งปรับตัวรับ เพราะไม่สามารถประเมินได้ว่าต้องใช้เวลาอีกนานเท่าใดกว่าโควิดจะคลี่คลาย

ร้านอาหารอ่วมทุ่มจัดแคมเปญ

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้รัฐจะขยายเวลาจำหน่ายและนั่งทานอาหารที่ร้านได้ระหว่างเวลา 06.00-21.00 น. ถือเป็นผลดีและช่วยต่อลมหายใจผู้ประกอบการร้านอาหารระดับหนึ่ง จากที่ได้รับผลกระทบหนักมาตลอดปี 2563 แต่หลังมีการแพร่ระบาดรอบใหม่ และมีกระแสข่าวเรื่องห้ามนั่งรับประทานในร้านพบว่าร้านอาหารมียอดขายหายไปทันทีกว่า 30% กระทบต่อธุรกิจอย่างมาก และไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้เต็ม 100%

อย่างไรก็ตาม สมาคมได้ทำงานร่วมกับกรมอนามัยรับมือการระบาดระลอกใหม่ โดยให้ร้านอาหารที่มีอยู่กว่า 1 แสนราย ทำแบบประเมินผ่าน App THAI STOP COVID ก่อนจะเปิดร้านอีกครั้ง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด และร้านค้าส่วนใหญ่ก็เพิ่มมาตรการป้องกันเต็มขั้น ทั้งเริ่มเตรียมความพร้อมในส่วนของแคมเปญกระตุ้นการขาย อาทิ แถมฟรีหม้อไฟฟ้า หรือส่วนลดต่าง ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ลูกค้า

“แม้ภาครัฐจะผ่อนคลายมาตรการให้นั่งรับประทานในร้านได้ถึง 21.00 น. แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ตัวเลขจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้นทุกวัน ๆ ทำให้ประชาชนตื่นตัวป้องกัน ออกจากบ้านน้อยลง บางบริษัทก็ปรับให้ทำงานจากที่บ้าน (work from home) ยากที่จะประเมินว่ายอดขายที่หายไปจะกลับมาได้กี่เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นจึงอยากให้รัฐเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการเรื่องการผ่อนคลายเงื่อนไขของสถาบันการเงิน เพราะมีอีกหลายเงื่อนไขที่เหมือนซ้ำเติมผู้ประกอบการร้านอาหาร ทำให้ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้”

ชูดีลิเวอรี่-บริหารต้นทุน

แหล่งข่าวจากธุรกิจร้านอาหารรายใหญ่กล่าวในทำนองเดียวกันว่า ผลกระทบจากโควิดระลอกใหม่และการปรับเปลี่ยนเวลาเปิด-ปิดของศูนย์การค้าตามมาตรการรัฐ ส่งผลให้ทราฟฟิกของธุรกิจร้านอาหารในภาพรวมหายไป 40-50% เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ตื่นกลัว ออกมาจับจ่ายลดลงมาก แม้รัฐจะกำหนดเวลาให้นั่งทานอาหารในร้านได้ถึง 21.00 น. แต่ทราฟฟิกของร้านอาหารก็ลดลงตามไปด้วย ทำให้ต้องปรับตัวด้วยการนำแผนงานจากการระบาดรอบแรกมาปรับใช้ ควบคู่กับให้ความสำคัญเรื่องกระแสเงินสด ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และบริหารจัดการความเสี่ยง ตลอดจนปรับช่องทางขาย เพิ่มน้ำหนักช่องทางขายสั่งซื้อกลับบ้าน และดีลิเวอรี่มากขึ้น เพื่อสอดรับกับพฤติกรรมกับกลุ่มคนที่ต้องเวิร์กฟรอมโฮม

เครื่องใช้ไฟฟ้าบุกช่องทางออนไลน์

ส่วนแหล่งข่าวจากแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ระบุว่า บริษัทเตรียมแผนสำรองกรณีเกิดการระบาดและมีการล็อกดาวน์รอบใหม่ไว้แล้ว โดยอาศัยประสบการณ์จากช่วงต้นปี 2563 เน้นปิดการขายและการทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์เต็มตัว ผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เช่น ลาซาด้า ช้อปปี้ เจดีดอทคอม ฯลฯ รวมไปถึงกลุ่มออมนิแชนเนล เช่น เพาเวอร์บาย โฮมโปร เทสโก้ โลตัส เพื่อสร้างยอดขายชดเชยยอดขายในห้างสรรพสินค้า-โมเดิร์นเทรดที่จะได้รับผลกระทบ ส่วนด้านร้านเทรดิชั่นนอลเทรดจะสนับสนุุนด้วยสื่อโฆษณาช่วยดึงดูดลูกค้า

เจมาร์ทผุดสินเชื่อแก้ปมกำลังซื้อ

ด้าน นายนราธิป วิรุฬห์ชาตะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บจ.เจมาร์ท โมบาย กล่าวว่า บริษัทมีการวางแผนบริหารความพร้อมในสภาวะวิกฤต (BCP) ไว้ต่อเนื่อง จึงมีความพร้อมรับมือโควิด-19 ระลอกใหม่ ปัญหาใหญ่รอบนี้คือ กำลังซื้อผู้บริโภคจะหายไป ดังนั้น ไตรมาส 2 ปีนี้ เตรียมออกแคมเปญสินเชื่อร่วมกับพาร์ตเนอร์สินเชื่อเกาหลี “KB KooKmin” เป็นแคมเปญสินเชื่อ และผ่อนขั้นต่ำ กระตุ้นกำลังซื้อ ขณะเดียวกันยังเดินหน้าแผนเดิมคือ การขยายสาขานอกห้างเพิ่มขึ้น ในรูปแบบ “JMART SYNERGY” ที่รวมเจมาร์ท โมบาย, ซิงเกอร์, เจเอ็มที และร้านกาแฟคาซา ลาแปง เข้าด้วยกันอีก 50 สาขา จากปี 2563 เปิดไปแล้ว 12 สาขา และเดินหน้าเปิดตัวเว็บไซต์ www.jaymartstore.com โฉมใหม่ กลางเดือน ม.ค.นี้ เพื่อรองรับการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ นอกจากนี้ มีการสลับทีมกันเข้าทำงานที่สำนักงานใหญ่ ลดความแออัด ให้พนักงานทำงานที่บ้านได้

สลับทีมทำงานที่บ้าน

สำหรับค่ายมือถือทั้งเอไอเอส ทรูมูฟ เอช และดีแทค ต่างนำมาตรการต่าง ๆ ที่เคยใช้ในช่วงการแพร่ระบาดรอบแรกมาใช้ ลดความเสี่ยงของทีมงาน ทำให้การให้บริการกับลูกค้าสะดวกและปลอดภัย โดยสลับทีมกันทำงานและเพิ่มน้ำหนักการให้บริการผ่านช่องทางออนไลน์

โดย นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า บริษัทได้จัดแบ่งทีมการทำงานเป็น 2 ทีม สลับกันปฏิบัติงานในที่ทำการ และ ณ ที่พักอาศัย สลับตารางไปทุกสัปดาห์ รวมถึงงดประชุมทางธุรกิจกับบุคคลภายนอก หลีกเลี่ยงการเดินทางข้ามจังหวัด ให้พนักงานสวมหน้ากากอนามัย และฉีดพ่นฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่ปฏิบัติงาน และปรับเวลาเข้า/ออกในการปฏิบัติงานของพนักงานตามความเหมาะสม ขณะที่ลูกค้าสามารถใช้บริการของเอไอเอสได้ผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งแอปพลิเคชั่น my AIS และ AIS Online Store เพื่อความสะดวก

“ดีแทค” โกออนไลน์

นายอรรคพงศ์ ลินพิศาล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานบริหารคู่ค้า และช่องทางการจัดจำหน่าย บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (ดีแทค) กล่าวว่า ที่ผ่านมาดีแทคได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มหลักที่เป็นนักท่องเที่ยว และแรงงานหายไป ลูกค้าที่เหลือก็มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ใช้บริการผ่านออนไลน์มากขึ้น เช่น เช็กยอด จ่ายบิล เติมเงิน เป็นต้น ทำให้การใช้งานแอปพลิเคชั่น “ดีแทค” เติบโตขึ้นกว่าเท่าตัว จึงปรับช่องทางการจำหน่ายสินค้าและบริการใหม่ ๆ ให้มาอยู่บนออนไลน์มากขึ้น ทั้งเว็บไซต์ แอปพลิเคชั่น โดยมีสินค้าและบริการครบทุกอย่างเหมือนหน้าร้าน นอกจากนี้ยังทำโปรโมชั่นสมาร์ทโฟนให้ลูกค้าที่ซื้อผ่านออนไลน์โดยเฉพาะ และจะขยายไปแพลตฟอร์มออนไลน์อื่น ๆ เช่น เฟซบุ๊ก, ไลน์ และอีคอมเมิร์ซด้วย ตั้งเป้าปี 2565 ยอดขายออนไลน์จะเติบโตขึ้นจากเดิม 3-4 เท่า

“กรุงเทพประกันชีวิต” เบรกลงทุน-ตุนสำรอง

ในส่วนของธุรกิจประกัน ม.ล.จิรเศรษฐ ศุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต กล่าวว่า บริษัทพยายามลดค่าใช้จ่าย โดยทยอยปิดสาขาไปแล้ว 4 แห่ง แบ่งเป็นสาขาในกรุงเทพฯ 3 แห่ง และต่างจังหวัด 1 แห่ง อาจไม่ได้ลดคนแต่ให้พนักงานย้ายมารวมอยู่ที่สำนักงานใหญ่แห่งใหม่ และเบรกการลงทุนทั้งหมดไว้ก่อน เนื่องจากในสถานการณ์ที่น่ากังวลจากยอดผู้ติดเชื้อและภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ ผลตอบแทนอาจไม่ได้ตามเป้า และจะกระทบราคาเบี้ยประกัน จึงได้ตั้งสำรองเงินทุนเผื่อไว้กว่า 2,700 ล้านบาท

สำหรับมาตรการช่วยเหลือลูกค้าคาดว่าในเร็ว ๆ นี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จะออกประกาศมา ซึ่งอาจจะคล้าย ๆ เดิม คือ 1.ขยายเวลาผ่อนผันชำระเบี้ยประกันภัยออกไปอีก 60 วัน จากมาตรการเดิมที่สิ้นสุดไปเมื่อ 31 ธ.ค. 63 2.ให้เวฟดอกเบี้ยเงินกู้กรมธรรม์ 3.ให้เวฟดอกเบี้ยเมื่อลูกค้าต่ออายุกรมธรรม์ เพื่อให้มีความคุ้มครองต่อเนื่องและไม่ขาดอายุ โดยไม่ได้บังคับให้ทุกบริษัท แต่ให้ยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสม

โควิดรอบใหม่ทุบซ้ำเกาะช้าง-ตราด

ขณะที่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวก็ปรับตัวรับสถานการณ์ โดย นายสัคศิษฎ์ มุ่งการ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดตราด และอุปนายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดตราด เปิดเผยว่า หลังการท่องเที่ยวเกาะช้างเริ่มฟื้นตัวจากโควิดระลอกแรก มีนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวช่วงวันหยุดและเทศกาล 80% แต่เมื่อมีการล็อกดาวน์คุมเข้มพื้นที่เสี่ยงสูงสุด 28 จังหวัด การท่องเที่ยว จ.ตราด น่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงอีกครั้ง โดยเฉพาะเกาะช้าง นักท่องเที่ยวแจ้งขอยกเลิกเลื่อนเข้าพักหลังวันหยุดยาวปีใหม่ไปถึงเดือน ก.พ. ซึ่งเป็นช่วงตรุษจีนและวันหยุดยาว งานอีเวนต์ใหญ่ปลายเดือน ม.ค. ชายทะเลเกาะช้าง ก็ต้องเลื่อนออกไปเช่นเดียวกัน

นายวิชิต สุกระสูยานนท์ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว จ.ตราด กล่าวเพิ่มเติมว่า โควิด-19 รอบแรก ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต ที่เป็น SMEs ปิดตัวเองไป 80% ราว 80-100 แห่ง เมื่อมาเจอโควิดรอบ 2 จะทำให้ต้องปิดตัวลงเกือบ 100% และไม่มีโอกาสฟื้นตัวได้ รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น ร้านอาหาร ร้านจำหน่ายเสื้อผ้า ของที่ระลึก ส่วนโรงแรมขนาด 4-5 ดาว และเป็นเชนโรงแรมดังที่มีสายป่านยาว อยู่ได้ด้วยการทำโปรโมชั่น แต่ต้องลดชั่วโมงทำงานของพนักงาน เน้นดูแลตามมาตรฐานด้านสาธารณสุข จริง ๆ แล้วไม่ควรล็อกดาว์นจังหวัดตราด หรือเกาะช้าง หรือประกาศปิดโรงแรม ควรรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวปฏิบัติตามวิถีนิวนอร์มอลให้เศรษฐกิจหมุนเวียนไปได้

แห่คืนห้องพักโรงแรมพัทยา 100%

ด้านเมืองพัทยา นายพิสูจน์ แซ่คู นายกสมาคมโรงแรมภาคตะวันออก เปิดเผยว่า รอบนี้ธุรกิจโรงแรมในเมืองพัทยาได้รับผลกระทบหนักมาก หลายแห่งเริ่มปิดกิจการชั่วคราว เนื่องจากไม่มีลูกค้า โดยเฉพาะเดือน ม.ค.มีการยกเลิกจองห้องพัก 100% ส่วนเดือน ก.พ.มียอดจองน้อยมาก เนื่องจากชลบุรีเป็นพื้นที่สีแดง แถมมีข่าวล็อกดาวน์จังหวัดภาคตะวันออก (ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด) จึงไม่มีใครอยากเข้ามาพื้นที่

ทั้งนี้ สมาคมได้เข้าหารือ นายรณกิจ เอกะสิงห์ รองนายกเมืองพัทยา เพื่อหาทางควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดในพื้นที่เมืองพัทยา ปัญหาคือกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูง 3,000 ราย ไม่ให้ความร่วมมือในการกักตัว จึงต้องหาโรงแรม หรือสถานที่กักตัวของท้องถิ่นให้กลุ่มเสี่ยงกักตัวระหว่างรอผลตรวจ ป้องกันการแพร่เชื้อ

“เราได้เสนอให้ สสจ.จังหวัดพิจารณา ให้นำบุคคลกลุ่มเสี่ยงมากักตัวในโรงแรมที่เป็น state quarantine ของรัฐ ที่มีอยู่ 12 แห่งในเมืองพัทยา ถ้าไม่ติดเชื้อก็ให้กลับบ้าน ส่วนค่าใช้จ่าย 1,000 บาท/คน/คืน จังหวัดอาจต้องลงทุน เพราะให้เสียค่าใช้จ่ายเองคงไม่มีใครอยากจ่าย รัฐบาลต้องเร่งมาตรการช่วยเหลือเยียวยาออกมาให้เร็วที่สุด เช่น ประกันสังคม การพักชำระหนี้ เพราะว่าผู้ประกอบการแบกภาระมานานกว่า 1 ปีแล้ว”

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์