ชวนเที่ยวท้ายปี… “อู่ทอง-สุพรรณบุรี” เมือง 2,000 ปี ต้นทางประวัติศาสตร์ไทย

Travel ท่องเที่ยว

ฝนพรมเริ่มซาลมหนาวมาเยือน แม้จะยังไม่หนาวจนเรียกหน้าหนาว แต่ก็อนุโลมได้ว่าอากาศสบายๆ เหมาะแก่การเดินทางท่องเที่ยว เลยถือโอกาสเชิญชวนขยับแข้งขยับขาพาไปลุย “เมืองอู่ทอง” ซีกฟากตะวันตกของประเทศไทย เริ่มต้นความเป็นมาเมื่อกว่า 2,000 ปีที่แล้ว และ “สุพรรณภูมิ” เมืองที่ต่อเนื่องมาจากอู่ทอง ทั้งสองเมืองนี้เริ่มต้นสร้างบ้านแปงเมืองเช่นเดียวกับเมืองโบราณอื่นๆ ในภาคกลาง ทั้งแพรกศรีราชา  ราชบุรี เพชรบุรี  เป็นต้น ส่วนมากแล้วเมืองเหล่านี้มักตั้งอยู่บนสองฝั่งแม่น้ำ หรือไม่ก็หันหน้าลงสู่แม่น้ำ เห็นได้จากหลักฐานทางโบราณคดี ซึ่งมีทั้งโบราณสถานและโบราณวัตถุที่ค้นพบ

แนวกำแพงเมือง และคูนํ้าเมืองสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) อ.เมืองสุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี

ความน่าสนใจของเมืองโบราณอู่ทอง เริ่มจาก “สุจิตต์ วงษ์เทศ” นักโบราณคดีนักประวัติศาสตร์ บอกเล่าว่าจากการศึกษาทางธรณีวิทยา โดยนักธรณีวิทยาประจำสำนักทรัพยากรธรณี เขต 3 ปทุมธานี บ่งชี้ว่ามีชุมชนใหญ่ในแถบนี้ตั้งแต่ราว พ.ศ.500 คือ ราว 2,000 ปีมาแล้ว ซึ่งเก่ากว่าเมืองนครปฐม และเก่าแก่ที่สุดในภาคกลางของประเทศไทย โดยตั้งอยู่บนดินที่เกิดจากทางน้ำ จากนั้นจะมีตะกอนจากทิวเขา และตะกอนจากทางน้ำไหลแทรกสลับหลายช่วงเวลาไปทับถมกัน ถือเป็นการหักล้างแนวคิดของนักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสยุคอาณานิคม ที่ระบุว่าดินแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออุษาคเนย์ ต้องเป็นอาณานิคมของอินเดียจึงจะเจริญก้าวหน้า

ที่จริงแล้ว “อู่ทอง” เป็นเมืองสำคัญ มีคูน้ำคันดินล้อมรอบเป็นรูปวงรี มีแม่น้ำจระเข้สามพันไหลผ่าน อยู่ตรงกลางระหว่างแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำแม่กลอง มีภูเขาด้านทิศตะวันตก คือ เทือกเขาพระ  มีน้ำจาก เขาพุหางนาค ไหลมาหล่อเลี้ยงคูเมือง ถือเป็นเขาศักดิ์สิทธิ์ มอบชีวิตให้แก่ผู้คนในเมืองโบราณแห่งนี้  ซึ่งมีการศึกษาคันดินนอกคูเมืองโบราณอู่ทองด้านทิศตะวันตก ในปี พ.ศ. 2553  พบร่องรอยหลักฐานรวมถึงโบราณวัตถุสำคัญ ทำให้ทราบว่าพื้นที่บริเวณคันดินคูเมืองอู่ทองเริ่มมีการเข้ามาใช้พื้นที่ในอดีตตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 10 แล้วเป็นอย่างน้อย จากหลักฐานยังแสดงให้เห็นอีกว่าเมืองโบราณอู่ทองนั้น เป็นเมืองท่าโบราณรุ่นแรกๆ ที่รับวัฒนธรรมจากอินเดีย เช่นเดียวกับ เมืองออกแก้ว ในประเทศเวียดนาม และยังพบหลักฐานว่าเริ่มมีการใช้ภาษาในการติดต่อค้าขายกับอินเดีย รวมถึงเมืองโบราณต่างๆ ในภูมิภาคเดียวกัน ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 11 มาแล้ว

สุจิตต์ วงษ์เทศ

สุจิตต์บอกต่อว่าข้อมูลของนักธรณีวิทยา ยังบอกด้วยว่าชั้นทับถมของคันดินนอกคูเมืองด้านทิศตะวันตก พบหลักฐานการเตรียมพื้นที่สำหรับสร้าง “คันดินนอกคูเมือง” ขึ้น อย่างน้อยตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 11-12 และปรากฏเป็นคันดินนอกเมืองอู่ทองราวพุทธศตวรรษที่ 13 ต่อมาเมื่อถึงในช่วงพุทธตวรรษที่ 16 คันดินคูเมืองทางด้านทิศตะวันตกได้ทำหน้าที่เป็น “สุสาน” ของผู้คนในเมืองอู่ทอง

“…จากร่องรอยหลักฐานของการฝังศพที่พบ แสดงให้เห็นถึงความเชื่อดั้งเดิมของชนพื้นเมืองที่ยังคงมีอยู่ ถึงแม้ว่าผู้คนในเมืองอู่ทองนี้จะได้รับเอาพระพุทธศาสนาเข้ามานับถือก่อนหน้านี้เป็นระยะเวลายาวนานแล้วก็ตาม ต่อมาในช่วงปลายสมัยทวารวดี คันดินคูเมืองอู่ทองยังคงได้ถูกใช้งานต่อเนื่องเรื่อยมา ก่อนจะถูกเลิกใช้งานไปพร้อมกับการทิ้งร้างของเมืองอู่ทอง ที่น่าจะมีเหตุมาจากสภาพภูมิประเทศที่เปลี่ยนไปหรือเป็นการพังถล่มของดินไปถมทับเมืองอู่ทอง ประชาชนเริ่มโยกย้าย ตั้งแต่ราว 1,500 ปีมาแล้ว ทำให้เมืองต้องเสื่อมถอยลงไป…”

ภาพถ่ายทางอากาศของเมืองโบราณอู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี
ภาพท่ายทางอากาศของเมืองสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) อ.เมืองสุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการขุดค้นก็พบหลักฐาน ได้แก่ เครื่องถ้วยจีนเคลือบสมัยราชวงศ์ถัง ลูกปัดจากอินเดีย เครื่องถ้วยเปอร์เซีย และเครื่องประดับจากอินเดีย กรีก โรมัน จีน และจากทางตะวันออกกลางหลายชนิด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการติดต่อกับดินแดนภายนอก ทำให้ศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธจากอินเดียที่มากับพ่อค้านักเดินทางเผยแพร่ที่อู่ทองเป็นที่แรกในแผ่นดินไทย

ขณะที่เมือง “สุพรรณภูมิ” เป็นเมืองหนึ่งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งอยู่บนพื้นที่ลุ่มต่ำลักษณะเป็นเมืองในผังสี่เหลี่ยมผ้าผ้าในแนวทิศเหนือ-ใต้ทั้งสองฝั่งแม่น้ำ มีแม่น้ำสุพรรณบุรี (หรือแม่น้ำท่าจีน) ไหลผ่ากลางเมือง ขณะที่บริเวณใกล้เคียงมีเมืองที่เก่ากว่าคือ เมืองอู่ทอง ซึ่งตั้งอยู่บนชายขอบที่สูงมีแม่น้ำจรเข้สามพันและลำน้ำท่าว้าเป็นเส้นทางคมนาคมหลัก เมืองสุพรรณภูมิอยู่ห่างจากเมืองอู่ทองประมาณ 25 กิโลเมตร นักโบราณคดีลงความเห็นว่าด้วยตำแหน่งทางภูมิศาสตร์และหลักฐานทางโบราณคดี เมืองสุพรรณภูมิน่าจะเป็นเมืองที่เกิดขึ้นแทนที่เมืองอู่ทองที่ร้างไปในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17

เมืองสุพรรณภูมิยังมีขอบเขตความสัมพันธ์กับเมืองอื่นๆ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เช่น เมืองแพรกศรีราชาในฐานะที่เป็นเมืองคู่, “ระบบเมืองคู่” เป็นรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างเมืองหลวงและเมืองลูกหลวง ในกลุ่มวัฒนธรรมเดียวกัน ดังจะเห็นได้จากโบราณสถานและโบราณวัตถุที่มีรูปแบบที่สัมพันธ์กัน เช่น เจดีย์วัดพระรูป เมืองสุพรรณภูมิ กับ เจดีย์วัดพระแก้ว เมืองแพรกศรีราชา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ระบบเมืองคู่ดังกล่าวยังพบในกลุ่มเมืองโบราณในลุ่มน้ำอื่นๆด้วยเช่นกัน ได้แก่ เมืองอโยธยาและเมืองละโว้ในลุ่มน้ำป่าสัก, เมืองสุโขทัยและเมืองศรีสัชนาลัยในลุ่มน้ำยม เมืองราชบุรีและเพชรบุรีในลุ่มน้ำแม่กลอง-เพชรบุรี

ความสำคัญของทั้งเมืองอู่ทองและเมืองสุพรรณภูมิ กล่าวได้ว่าเป็นต้นทางของประวัติศาสตร์ชาติไทย ตั้งแต่ขุดค้นพบร่องรอยการอยู่อาศัยของชุมชนตั้งแต่ก่อนสมัยประวัติศาสตร์ตอนปลาย 2,500-2,000 ปีมาแล้ว ต่อมาชุมชนแห่งนี้ได้พัฒนาตนเองไปสู่สังคมเมืองสมัยประวัติศาสตร์ ในราวพุทธศตวรรษที่ 5-9 ทำการติดต่อค้าขายกับต่างชาติ เช่น เวียดนาม จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง และยุโรป มีบทบาทเป็นศูนย์กลางทางการค้าและเมืองท่าร่วมสมัย ทั้งยังได้รับรูปแบบทางศาสนาและศิลปกรรมแบบอมราวดีจากอินเดีย พบปฏิมากรรมดินเผารูปพระสงฆ์ 3 รูปอุ้มบาตร และพระพุทธรูปปั้นนาคปรก ศิลปะแบบอมราวดี เป็นต้น ทำให้นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์เชื่อว่า “เมืองอู่ทอง” น่าจะเป็นราชธานีแห่งอาณาจักรสุวรรณภูมิ

ทำไมต้องไป “อู่ทอง” ?

“เมืองอู่ทอง” เป็นเมืองสำคัญในยุคทวารวดี ตั้งอยู่ในตำแหน่งศูนย์กลางการคมนาคม ทั้งทางน้ำและทางบก  เป็นที่รวมของคนที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมและศาสนา อันแสดงให้เห็นถึงการเป็นสังคมนานาชาติได้ดีกว่าที่อื่นๆ

สำหรับนักท่องเที่ยวคอประวัติศาสตร์ทั้งหลาย และด้วยลักษณะของเมืองอู่ทองจะมีโบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่ค้นพบจำนวนมาก สันนิษฐานจากหลักฐานได้ว่าบริเวณเมืองอู่ทองและเมืองอื่นๆ ในฝั่งอ่าวไทย เส้นทางคมนาคมข้ามคาบสมุทรนี้เป็นบริเวณที่สมณทูตของพระเจ้าอโศกมหาราช เดินทางเข้ามาเผยแผ่ศาสนา ไม่ใช่ที่เมืองสะเทิมและหงสาวดีของมอญอย่างสิ้นเชิง เพราะทั้งสองแห่งที่กล่าวไม่พบเห็นโบราณวัตถุใดในเขตเมืองที่มีอายุเท่ากันกับพบที่ดอนตาเพชร และอู่ทอง  อีกทั้งตำแหน่งเมืองมอญของพม่าก็อยู่เหนือขึ้นมาจากเส้นทางเดินเรือทะเล  ขณะที่บริเวณเมืองอู่ทองพบการสร้างธรรมจักรที่มีรูปกวางหมอบ ที่สำคัญคือยังพบแท่งศิลาจารึกภาษาสันสกฤต ว่า “ปุษยคีรี” แถวเขาทางทิศเหนือของเมือง ซึ่งคำว่า ปุษยคีรี นี้ เป็นชื่อเมืองและสถานที่ซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราช โปรดให้สร้างพระสถูปบรรจุพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าในอินเดีย  ปัจจุบันโบราณวัตถุที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมอันยาวนานที่ขุดพบในเมืองอู่ทองเก็บรักษาไว้ ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

รอยพระพุทธบาทที่ “เขาดีสลัก”

เป็นสิ่งสำคัญแสดงถึงการสืบเนื่องของชุมชนที่นับถือพุทธศาสนาในบริเวณเมืองอู่ทอง เพราะค้นพบรอยพระพุทธบาทที่มีมงคล 108 ประการ ซึ่งที่อื่นไม่มี และยังมี กวางหมอบ ศิลปอัตลักษณ์แบบทวารวดี  พบ ธรรมจักร กับพระพุทธรูป ซึ่งก็คือพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์   พบลูกปัดจำนวนมาก ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันการค้าขายติดต่อกับต่างชาติแสดงถึงการเป็นเครือข่ายทางการค้าของอู่ทอง

จารึกปุษยคีรี

คำว่า ปุษยคีรี ที่เขาพระ สะท้อนให้เห็นถึงการอ้างอิงชื่อสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ตรงนั้นเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุ มีหลักฐานสอดคล้องกับการส่งพระโสณะและอุตตระเข้ามา เมื่อเข้ามาแล้วผ่านจุดนี้ จึงเป็นเจุดศักดิ์สิทธิ์ เข้าใจว่าการสร้างพระบรมธาตุคือการเผยแผ่พุทธศาสนา สันนิษฐานว่านำพระบรมธาตุเข้ามา แล้วนำมาฝังไว้ที่เมืองอู่ทอง จึงเป็นจุดศักดิ์สิทธิ์เพราะมีการฝังพระบรมธาตุ เดิมมีเจดีย์เล็กๆ ปัจจุบันหายไปแล้ว

รอยพระพุทธบาทสมัยทวารวดี วัดเขาดีสลัก อ.เมืองสุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี
จารึก “ปุษยคีรี” พบในเมืองโบราณอู่ทอง

“สุจิตต์ วงษ์เทศ” กับเมืองอู่ทอง

นานๆ จะปรากฏตัวเป็นๆ ให้เห็นและให้พูดคุยซักถาม ครั้งนี้ “สุจิตต์ วงษ์เทศ” มาเล่าเรื่อง “เมืองอู่ทอง” “เมืองสุพรรณภูมิ” ที่มีความสำคัญในยุคทวารวดี ทั้งยังเป็นที่ศูนย์กลางการค้าขาย คมนาคม ไปจนถึงทางด้านวัฒนธรรมและศาสนา กระทั่งปัจจุบันอู่ทองและสุพรรณภูมิหรือสุพรรณบุรี ก็ยังคงความสำคัญอยู่มาก หากอยากรู้แบบละเอียดก็ต้องไปเที่ยวเมืองอู่ทองกับ “มติชนอคาเดมี” วันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2563 สอบถามรายละเอียดได้ที่ 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124