‘ปลูกผักไร้ดินฯ’ ตอบโจทย์ชุมชนเมือง รฟม.จัด10พื้นที่ สายทางรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ‘กินในครัวเรือน-สร้างรายได้’

Event อีเวนต์

‘ปลูกผักไร้ดินฯ’ ตอบโจทย์ชุมชนเมือง รฟม.จัด10พื้นที่ สายทางรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ‘กินในครัวเรือน-สร้างรายได้’

ผ่านไปครบ 10 พื้นที่ สำหรับโครงการอบรมปลูกผักไร้ดิน “ที่ว่าง กินได้” ที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จัดให้กับชาวชุมชนกว่า 500 คน ตามแนวสายทางของรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ครอบคลุมพื้นที่ กทม.และสมุทรปราการ ประกอบด้วย เขตจตุจักร เขตห้วยขวาง เขตวังทองหลาง เขตบางกะปิ เขตสวนหลวง เขตบางนา เขตประเวศ เทศบาลตำบลด่านสำโรง เทศบาลตำบลบางเมือง และเทศบาลตำบลสำโรงเหนือ ในช่วงเดือนกันยายนถึงกลางเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา

โดย รฟม.ให้ความสำคัญในเรื่องการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชนในเขตพื้นที่ จากวิกฤตโควิด-19 ทุกคนได้รับผลกระทบในการดำเนินชีวิตประจำวันและอาชีพการงาน ดังนั้น อาหารที่มีพร้อมในครัวเรือนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด พร้อมกับน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ รวมถึงนโยบายของรัฐบาล ให้หน่วยงานของภาครัฐช่วยกันผลักดันให้เกิดคุณภาพทางด้านเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม รฟม.จึงริเริ่มโครงการอบรมปลูกผักไร้ดินฯ ขึ้นมา

นอกจากนี้ รฟม.ยังเล็งเห็นด้วยว่า ชุมชนในปัจจุบันมีบ้านเรือนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ค่อนข้างจำกัด และมีวิถีชีวิตเร่งรีบ เวลาน้อย การปลูกผักไร้ดิน หรือการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ซึ่งใช้พื้นที่น้อยจึงเป็นทางเลือกให้ชาวชุมชนได้เรียนรู้วิธีการปลูกผักเอาไว้กินเอง ตลอดจนสร้างรายได้ และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชนด้วย

ตลอดจนเล็งเห็นถึงวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ที่มีการนำโซเชียลมีเดียมาใช้มากขึ้น รฟม.จึงเพิ่มคอร์สพิเศษอบรมการใช้โซเชียลมีเดีย “แชะ แชร์ ยังไงให้เปรี้ยง” พร้อมตั้งกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อ ปลูกผักไร้ดิน “ที่ว่าง กินได้” เพื่อเป็นช่องทางในการเผยแพร่ผลิตผล รวมถึงการสร้างสังคมออนไลน์ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นให้กับผู้เข้ารับการอบรมด้วย

ทั้งนี้ รฟม.ได้จับมือร่วมมือกับศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชน (มติชนอคาเดมี) นำวิทยากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมาจัดอบรม โดย อ.ปกรณ์ พิสุทธิ์ชาน ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในการทำฟาร์มผัก มาสอนวิธีการปลูกผักไร้ดินฯ และ อ.ชีพธรรม คำวิเศษณ์ อาจารย์สอนหลักสูตร Social Media เพื่อการประชาสัมพันธ์ มาสอนในหัวข้อ “แชะ แชร์ ยังไงให้เปรี้ยง”

ในการอบรมปลูกผักไร้ดินฯ อ.ปกรณ์สอนตั้งแต่พื้นฐานการปลูกผัก ทำให้คนที่ไม่มีพื้นฐานเลยเข้าใจง่ายและนำไปปลูกเองได้ รวมถึงสอนถึงสิ่งที่พืชต้องการ ปัจจัยที่ทำให้พืชเจริญเติบโต ทำไมต้องปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์ ผักไฮโดรโปนิกส์ปลอดภัยจริงหรือ ตลอดจนไขข้อสงสัยระหว่างผักไฮโดรโปนิกส์กับผักออร์แกนิคต่างกันอย่างไร

ขณะที่ อ.ชีพธรรมเข้ามาเสริมในเรื่องการสอนวิธีถ่ายคลิปวิดีโอและเล่าเรื่อง ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถโพสต์คลิปลงกลุ่มเฟซบุ๊ก ปลูกผักไร้ดิน “ที่ว่าง กินได้” เป็นการสร้างสังคมออนไลน์และมีการสื่อสารแลกเปลี่ยนกันผ่าน
เฟซบุ๊กกลุ่มนี้

โดยผู้เข้ารับการอบรมทั้ง 10 พื้นที่ต่างให้ความสนใจและชื่นชอบ พร้อมนำความรู้การปลูกผักไร้ดินฯ กลับไปปลูกเองที่บ้าน และโพสต์ภาพการปลูกผัก มีการสอบถามปัญหาในการปลูกผักลงในกลุ่มเฟซบุ๊ก ปลูกผักไร้ดิน “ที่ว่าง กินได้” โดยมี อ.ปกรณ์ และ อ.ชีพธรรม คอยตอบคำถามและให้คำปรึกษา

แสงอรุณ ชาติวิริยะอำนวย
สุรศักดิ์ พันธ์ไพรักษ์
วนิดา เวชบุล
อมรศรี จปะนันทน์

แสงอรุณ ชาติวิริยะอำนวย อายุ 75 ปี ชาว ต.บางเมือง จ.สมุทรปราการ หนึ่งในผู้เข้ารับการอบรม กล่าวว่า สนใจเรื่องการปลูกผักไร้ดิน ปกติเคยปลูกแต่วอเตอร์เครส ใส่กระถางโดยใช้ดิน แต่วันนี้สนใจการปลูกผักไร้ดิน สนใจปลูกพันธุ์ผักคะน้า และผักกาดขาว นำมากินเอง และอาจแนะนำคนข้างเคียงให้เขาไปปลูกกินกันในครอบครัว ในชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียงก็เป็นผู้สูงวัยกันเยอะ จากที่ดูแล้วปลูกไม่ยาก แต่ถ้าใครอยากปลูกขายก็ต้องลงทุนและหาเวลาว่างสำหรับคนที่ทำงานนอกบ้าน วันเสาร์อาทิตย์หรือตอนเย็นมาปลูก ซึ่งปลูกไม่ยากถ้าเรารู้หลัก

“จากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาคิดว่าปลูกผักไว้กินเองมีประโยชน์ดีมากเลย ปลอดภัยกับตัวเราด้วย ที่เราไปซื้อผักตามตลาด จะมีความกังวลคือไม่ปลอดภัยต่อสารเคมี แต่เราปลูกเองปลอดภัยกว่า กินได้สบายใจ” แสงอรุณกล่าว

ด้าน สุรศักดิ์ พันธ์ไพรักษ์ อายุ 59 ปี ประธานชุมชนบางเมืองอยู่สุข ต.บางเมือง จ.สมุทรปราการ เผยว่า สนใจมาอบรมกิจกรรมปลูกผักไร้ดิน เพราะเคยส่งผลงานเข้าประกวดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม จัดโดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยร่วมกับโตโยต้ามอเตอร์ โดยส่งผลงานเกี่ยวกับเกษตรพอเพียงแลกขยะรีไซเคิล ติดอันดับ 1 ใน 20 มีการพาไปทัศนศึกษาดูการปลูกผักไร้สารพิษ การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ จึงมีความสนใจที่อยากศึกษาต่อเพื่อนำมาใช้ในชีวิตจริงและส่งต่อให้กับเพื่อนบ้าน เป็นการลดรายจ่าย ต่อไปอาจจะค้าขายได้ เป็นการเพิ่มรายรับให้กับครัวเรือน

“สิ่งหนึ่งที่วันนี้ได้มาอบรมปลูกผักไร้ดิน เราได้รับองค์ความรู้ต่างๆ เพิ่มขึ้น สถานที่ไม่ต้องใหญ่ เราสามารถทำที่เล็กๆ ได้ สามารถนำมารับประทานได้จริง สิ่งเหล่านี้เราสามารถส่งต่อให้กับเพื่อนบ้านของเราได้ ผมเป็นผู้นำชุมชน สามารถไปพูดคุยกับเพื่อนบ้านของเรา ให้ลูกบ้านของเราได้เห็นประโยชน์จากการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ วันนี้เป็นการสอนปลูกผักที่มีการสื่อสารได้เข้าใจง่าย สามารถนำไปทำได้ อยากให้มีอย่างนี้ต่อไป” ประธานชุมชนบางเมืองอยู่สุขเผย

ปกรณ์ พิสุทธิ์ชาน

วนิดา เวชบุล อายุ 56 ปี ชาวบ้านชุมชนประดิษฐ์โทรการ เขตจตุจักร กล่าวว่า ส่วนตัวมีความสนใจเรื่องการปลูกผัก ปลูกต้นไม้ เพราะที่บ้านปลูกอยู่แล้ว แต่มาเรียนรู้วิธีการปลูกผักแบบไม่ใช้ดิน เป็นความรู้เพิ่มเติม ปลูกกินได้ที่บ้านเลย ปกติที่บ้านปลูกพวกว่านหางจระเข้ ผักชี ต้นหอม ตะไคร้ พริก โดยปลูกบนดิน เอาไว้กินเอง บางทีมันตาย เพราะปลูกแบบไม่รู้วิธีที่ถูกต้อง แต่พอมาฟังการอบรมปลูกผักไร้ดินได้ความรู้ คิดว่าได้ใช้ประโยชน์ เราได้รู้ว่าผักโดนแดดได้หรือไม่ ปลูกยังไงไม่ให้ตาย จะลองเอาวิธีนี้ไปปลูกดู ได้ความรู้ดีมาก จะปลูกเอาไว้กินเอง และแบ่งปันเพื่อนบ้าน

ส่วน อมรศรี จปะนันทน์ อายุ 62 ปี อดีตพนักงานธนาคาร ชาวบ้านย่านสะพานควาย เขตจตุจักร บอกว่า ที่มาอบรมในวันนี้สนใจเรื่องการปลูกผักที่สะอาดเอาไว้กินเองได้โดยไม่ต้องมีพื้นที่มากมาย ใช้วิธีปลอดภัย ปกติที่บ้านปลูกเล่นๆ สนุกๆ แต่ใช้ดิน อาทิ โหระพา ต้นหอม แต่ก็ไม่งามก็ยังแปลกใจ เลยมาเรียนให้รู้วิธีว่าปลูกยังไงให้งาม ลองปลูกแบบไม่ใช้ดินดูบ้าง เวลาได้เรียนรู้แล้ว เห็นว่าวิธีการไม่ยุ่งยาก ใช้ขวดน้ำก็ได้ ไม่ต้องไปซื้อแบบเป็นรางที่ราคาแพงๆ จะปลูกกินเอง จากนั้นอาจปลูกยอดผักบุ้งอ่อนขายในหมู่บ้านเล็กๆ

“ในเรื่องการใช้โซเชียลมีเดียปกติก็เล่นอยู่ ส่วนมากจะเข้าไปดูยูทูบ ดูวิธีการปลูกผัก วิธีดูแลผักยังไงไม่ให้แมลงกิน หรือทำยังไงให้ผักเจริญงอกงาม พอดีได้โอกาสอันนี้ก็มาเรียนด้วยตัวเองเลย มาสัมผัสของจริงเลย ในเรื่องการถ่ายคลิปวิดีโอจากเดิมทำไม่เป็น วันนี้ทำเป็นแล้ว เห็นว่าโครงการปลูกผักไร้ดินฯ ของ รฟม.ดีมากเลย ช่วยชาวชุมชนได้ดี” อมรศรีกล่าว

ชีพธรรม คำวิเศษณ์
120216835_3491614637570944_623966549347991280_o