5 ความเชื่อเรื่อง “ลดน้ำหนัก” ที่มักเข้าใจผิด

Content พาเพลิน

นพ.ชวภณ กิจหิรัญกุล (หมออาร์ต) และ พญ.อรกมล อินกองงาม (หมอออม) จาก DOCTORVIP แนะนำ 5 ความเชื่อสุดฮิตเกี่ยวกับการลดน้ำหนักที่ยังเข้าใจผิดอยู่หรือเปล่า มาฝากเพื่อนๆ กันค่ะ

1. สนใจแต่ตัวเลขน้ำหนักที่ลดลงมากกว่าวิธีการที่ใช้ลด

เช่น อยากลด 5 กิโลกรัมใน 2 สัปดาห์ โดยไม่สนใจวิธีการ อาจจะทำให้เราลดลงได้เร็วก็จริง แต่น้ำหนักที่ลดอาจเกิดเพราะการสูญเสียน้ำและกล้ามเนื้อ แถมยังเสี่ยงที่จะเกิดโยโย่อีกด้วย

2. จะผอมได้ต้องงดแป้ง

จริงๆ แล้วการจำกัดการทานแป้งอาจเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยในการลดน้ำหนัก แต่จริงๆ แล้วเราควรใส่ใจกับชนิดของแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตที่เรารับประทานมากกว่า ว่าเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยวหรือเชิงซ้อน ซึ่งการรับประทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง มันม่วง ผัก ผลไม้ไม่หวานจัด ทำให้เราสามารถรักษาระดับน้ำตาลได้นิ่ง รู้สึกอยู่ท้อง อิ่มได้นาน ไม่โหยมากในมื้อถัดไป ทำให้เราควบคุมการรับประทานอาหารได้ดีขึ้นด้วย

3. อาหารโลว์แฟตเป็นอาหารแคลอรี่ต่ำทำให้ผอมไว

เวลาเจออาหารหลายชนิดที่เขียนว่า โลว์แฟต ไร้ไขมัน ไขมัน 0% อาจจะต้องพลิกดูฉลากด้านหลังดูสักหน่อยว่าเติมน้ำตาลมาเพื่อให้ได้รสชาติที่ดีขึ้นหรือเปล่า ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นว่าทานเพื่อควบคุมน้ำหนัก แต่ได้น้ำตาลได้เต็มๆ ก็ได้นะ

4. เครื่องดื่มไม่ได้ทำให้อ้วนหรอก

จริงๆ แล้วเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลนี่ล่ะที่ดื่มแล้วได้น้ำตาลเข้าไปสู่ร่างกายแบบทันที อาจจะทำให้รู้สึกดี แต่จะทำให้เราได้น้ำตาลส่วนเกินไม่อย่างไม่รู้ตัว ดังนั้นถ้าจะลดน้ำหนัก สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ต้องลดน้ำหวานก่อน ควรดื่มเป็นน้ำเปล่า ชาดำ กาแฟดำ ชาสมุนไพรไม่ผสมน้ำตาล หรือถ้าใครไม่ชอบรสชาติจืดๆ ของน้ำเปล่า ลองฝานเลมอนลงไปสักซีก หรือ แช่ผลไม้ตระกูลเบอรี่ลงไปสักนิด ก็จะทำให้รู้สึกชื่นใจได้ไม่แพ้น้ำหวาน

5. กินน้อย อดอาหาร จะได้ผอมไว

การพยายามอดอาหารมื้อนึงแล้วไปชดเชยมื้อถัดไป อาจจะทำให้เราไม่สามารถคุมความหิวในมื้อต่อไปได้ หรือบางคนชอบทานจุบจิบกินขนมชิ้นเล็กๆ เพราะพยายามจะกินให้น้อยเข้าไว้ แต่ขนมชิ้นนั้น อาจมีแคลอรี่ไม่ต่างจากอาหารมื้อหลัก แถมยังให้สารอาหารต่อร่างกายไม่พอเพียงอีกด้วย ซึ่งการอดอาหารแบบนี้ไม่ช่วยในการลดน้ำหนัก ไม่เหมือนกับการอดอาหารแบบเป็นเวลา หรือที่เรียกว่า Intermittent Fasting ซึ่งเป็นการลดน้ำหนักที่ดีวิธีหนึ่ง โดยจะเน้นไปที่การกำหนดเวลาในการรับประทานอาหารให้ชัดเจนเป็นเวลาว่าจะทานแค่ช่วง 8 โมงเช้า ถึง 4 โมงเย็น โดยยังทานอาหารครบมื้อและสารอาหารครบหมู่

ที่มา : Sanook.com