‘บางจาก’เดินหน้าโครงการกรีนอิมแพค ผุดแพลทฟอร์ม‘9ไร่’ ช่วยเกษตรกรเซฟเงิน จัดหาโดรนฉีดพ่นปุ๋ย

Technology
ดร.ก่อศักดิ์ โตวรรธกวณิชย์

ดร.ก่อศักดิ์ โตวรรธกวณิชย์ ผู้จัดการสถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาบางจากได้ทำเซอร์เวย์สหกรณ์ที่อยู่ในเครือข่ายปั๊มน้ำมันชุมชนของบางจากมาหลายปี เราพบว่ามีความต้องการอยู่หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการแปรรูปสินค้า หรือเรื่องการจัดหาเทคโนโลยีมาช่วยลดต้นทุนการผลิต

ดร.ก่อศักดิ์ กล่าวต่อว่า เมื่อปี 2562 เราแมชชิ่งกับสตาร์ตอัพที่ดูแลเรื่องเกษตร พบว่ามีผู้ให้บริการโดรนการเกษตรค่อนข้างหลากหลาย แต่ปัญหาที่พบก็คือโดรนมีมูลค่าค่อนข้างสูง มูลค่าลำละประมาณ 300,000-400,000 บาท ทำให้เกษตรกรทั้งในส่วนของสหกรณ์ และเกษตรกรรายย่อย เขาไม่มีทางที่จะมีเงินลงทุนขนาดนั้นได้ เลยเป็นออฟชั่นในการเช่า หรือจ้างมาฉีดเพื่อทดลองดูว่าเป็นอย่างไร ทำให้มีน้องๆสตาร์ตอัพกลุ่มหนึ่ง เขาบอกว่า เกษตรกรน่าจะเริ่มต้นเรียนรู้จากการใช้เทคโนโลยีตัวนี้ก่อน ในการจ้างงาน และได้ไอเดียมาจากการแกรปมีการจอง สั่งอาหาร และดีลิเวอรี่มาส่ง

“จึงพัฒนาแพลทฟอร์มชื่อ 9ไร่ ในการสั่งจองโดรน ชาวนาสามารถกดงานจองให้มาพ่นปุ๋ย พ่นยาในช่วงนี้ๆ และทางแพลทฟอร์มนี้มีการรวบรวมนักขับโดรนทั่วประเทศ ตอนนี้มีค่อนข้างเยอะ หลากหลาย ทำให้เกษตรกรสามารถBooking และทางนักบินโดรนมาฉีดพ่นตามนั้นในแพลทฟอร์มตัวนี้

“บางจากมองว่าเป็นหนึ่งในโซลูชั่นที่เราสามารถเชื่อมโยงกับสหกรณ์ที่เขามีความพร้อมมากกว่าเกษตรกรรายย่อย เนื่องจากมีการวิเคราะห์ว่าการใช้งานโดรนมันต้องเหมาะกับพื้นที่ที่มีขนาดมากกว่า5-10ไร่ขึ้นไป ถ้าแปลงย่อยๆเอาโดรนมาฉีดจะไม่คุ้ม ด้วยศักยภาพหรือประสิทธิภาพของโดรนสามารถใช้งานได้หลากหลาย ก็เลยเป็นเรื่องของการที่เราสามารถรวบรวมแปลงในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งคนที่สามารถทำตรงนี้ได้คือ สหกรณ์ เพราะสหกรณืมีสมาชิกในเครือข่ายค่อนข้างเยอะ สามารถรวบรวม จัดการ จัดสรรเวลา จัดตารางแปลงให้ นักบินที่จะมาบินฉีดพ่นสามารถมาได้อย่างคุ้มค่า เพราะต้นทุนที่แท้จริงที่เขาเดินทางมา 1 ครั้ง มีเรื่องของค่าขนส่ง ค่าเดินทาง ถ้าเขาสามารถรวบรวมออกมาเป็นกลุ่มได้ ก็จะสามารถลดเรื่องของต้นทุนได้ และเกษตรกรเองหลังจากที่ใช้ไปแล้วพบว่าตอบโจทย์จริง เพิ่มประสิทธิภาพจริง เขาก็อาจตัดสินใจลงทุนซื้อโดรนเองสัก1เครื่อง ตรงนี้ก็กลับมาที่สหกรณ์ เพราะสหกรณ์มีสินเชื่อให้ รวมถึงเรื่องสหกรณ์อาจลงทุนเอง ในการซื้อโดรนมาและแบ่งปันกันในสมาชิก โดยแพลทฟอร์ม9ไร่ เป็นกรณีที่บางจากเข้าไปศึกษาพฤติกรรม ความต้องการ และเราหาพันธมิตรให้ ซึ่งอันนี้คือ 1 เคส”ดร.ก่อศักดิ์ กล่าว และว่า

นอกจากนี้ยังมีอีก1เคส เราพบว่าคุณภาพข้าวที่เก็บเกี่ยวไปแล้วไม่ได้มาตรฐาน จะทำอย่างไรที่จะทำให้สหกรณ์มีเครื่องมือหรือนวัตกรรมที่จะช่วยให้ประเมินข้าวเบื้องต้นว่ามีคุณภาพเท่าไหร่ อันนี้เราเชื่อมโยงกับทางภาคี ที่เป็นสตาร์ตอัพอีกราย ในการสแกนข้าวก่อนล่วงหน้าว่าข้าวแบบนี้มีคุณสมบัติแบบไหน เพื่อเป็นเครื่องมือให้กับสหกรณ์ในการช่วยดูคุณภาพของข้าว

บางจากเข้าไปร่วมช่วยสหกรณ์ในการเป็นที่ปรึกษา เป็นพี่เลี้ยงว่าจริงๆแล้วปัญหาของเขามีอะไรบ้าง และการที่เรารู้ว่ามีปัญหาอะไร เราก็สามารถซัพพอร์ตเขา เพราะสหกรณ์เก่งในเรื่องการผลิต แต่ไม่เก่งในเรื่องการวินิจฉัย ไม่เก่งเรื่องเทคโนโลยีต่างๆ ในฐานะที่บางจากอยู่คู่กับสหกรณ์มานาน30ปี มองว่าน่าจะหาพันธมิตร เราสามารถเติมเต็มสิ่งที่ทุกคนมีอยู่แล้วให้มาทำงานร่วมกันได้

โดยทั้งแพลทฟอร์ม 9 ไร่ และการสแกนข้าว มาจากปีที่แล้วที่บางจากทำโครงการกรีนอิมแพค โครงการที่เราเชื่อว่าทำดีมีผลกระทบ หมายความว่า ไหนๆทุกคนทำดีอยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้มีอิมแพคหรือผลกระทบเยอะๆ เลยมีการรวมให้ทุกคนที่อยากจะทำอะไรเพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อทุกคนเข้ามาในระบบ ก็มีการจัดสรร มีการแมชชิ่ง ความต้องการของพันธมิตร ของลูกค้าให้มาเจอกับผู้ทำดีต่างๆ ทั้งในแง่เกษตร พลังงาน และสิ่งแวดล้อม โดยเมื่อปีที่แล้วมีเข้ามาประมาณ 1,200 ราย และมีการคัดสรรบางส่วน เข้ามาเพื่อต่อยอดในกลุ่มเครือข่ายบางจาก