ธปท.สั่งอุ้มลูกหนี้รายย่อยลดดอกเบี้ย “บัตรเครดิต-เช่าซื้อรถ” มีผล 1 ก.ค.นี้

Money เงินทองต้องรู้

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วง​วันที่ 15-17 มิ.ย.ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เรียกธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และผู้ให้บริการสินเชื่อที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) ประชุมหารือเพื่อออกแพ็กเกจมาตรการด้านการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 เฟสใหม่ โดยจะให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.ไปจนถึงสิ้นปี 2563 นี้

เนื่องจากกังวลว่า เมื่อมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ อย่างการเลื่อนการชำระหนี้ 6 เดือน ครบอายุมาตรการในสิ้นเดือน ก.ย.นี้แล้ว จะมีลูกหนี้จำนวนมากที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ และจะกลายเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้นมาก

โดยแพ็กเกจมาตรการ ประกอบด้วย 1.สินเชื่อบัตรเครดิต จะลดอัตราดอกเบี้ยลงจาก 18% ต่อปี เหลือ 16% ต่อปี และหากมีการแปลงหนี้บัตรเครดิตไปเป็นเทอมโลน จะลดดอกเบี้ยให้เหลือ 12% ต่อปี

2.บัตรกดเงินสดจะลดดอกเบี้ยจาก 28% ต่อปี เหลือ 26% ต่อปี กรณีสินเชื่อส่วนบุคคล จะลดดอกเบี้ยจาก 28% ต่อปี เหลือ 25% ต่อปี กรณีสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ จะลดดอกเบี้ยจาก 28% ต่อปี เหลือ 24% ต่อปี และหากเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลของสถาบันการเงินเฉพาะกิจและน็อนแบงก์จะลดดอกเบี้ยจาก 28% ต่อปี เหลือ 22% ต่อปี

3.สินเชื่อเช่าซื้อ จะมีการลดดอกเบี้ยลง 1% จากดอกเบี้ยตามสัญญาเช่าเดิม ซึ่งเมื่อคิดเป็นแบบลดต้นลดดอก (Effective Rate) ดอกเบี้ยจะลดไปประมาณ 2% ต่อปี และ 4.สินเชื่อบ้าน จะให้พักชำระเงินต้นได้ 3 เดือน และ สามารถปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อลดค่างวด และ ขยายเวลาการชำระหนี้ได้

“แบงก์ชาติ เพิ่งประชุมร่วมกับสถาบันการเงิน และน็อนแบงก์ไปเมื่อวันที่ 15-17 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดย​จะมีการประกาศมาตรการออกมาในวันที่​ 19​ มิ.ย.นี้” แหล่งข่าวกล่าว

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์