“พัทยา” บาร์เบียร์-ผับ วิกฤต 4 พันแห่งปิดกิจการ แรงงานแสนคนเคว้ง

Business ธุรกิจ

สถานบันเทิงเมืองพัทยา 12,000 แห่งกระทบหนัก ยุบกิจการแล้วกว่า 30% ทนพิษโควิดไม่ไหวหลังรัฐมีคำสั่งปิดลากยาว นักท่องเที่ยวหายรายได้กลายเป็นศูนย์ ชี้หากปล่อยนานจะฟื้นตัวยาก หวั่นกระทบพนักงาน 1 แสนคนทั้งระบบ คาดใช้เวลา 1 ปีฟื้นฟูเศรษฐกิจ เผยชง “สนธยา คุณปลื้ม” นายกเมืองพัทยา ช่วยเจรจาเจ้าของพื้นที่ลดราคาค่าเช่าร้าน พร้อมเลื่อนจ่ายภาษีสรรพสามิต-ภาษีนิติบุคคลให้ผู้ประกอบการ

นางอำพร แสงแก้ว เจ้าของร้านเดอะสโตนเฮาส์ วอล์คกิ้งสตรีท พัทยา เปิดเผยว่า ขณะนี้ธุรกิจสถานบันเทิงในเมืองพัทยาประมาณ 12,000 แห่งได้รับผลกระทบหนักมากจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และรัฐบาลมีคำสั่งให้ปิดกิจการชั่วคราวมากว่า 2 เดือนแล้ว โดยตอนนี้มีสถานบันเทิงที่ไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนค่าเช่าและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไหวจนต้องยุบกิจการไปแล้วกว่า 30% ในจำนวนนี้แบ่งเป็นธุรกิจร้านบาร์เบียร์ประมาณ 20% นอกจากนั้น เป็นธุรกิจร้านอะโกโก้ และผับ

“ตอนนี้เริ่มมีการยุบกิจการไปเยอะมากประมาณ 30% ประกอบด้วย บาร์เบียร์ อะโกโก้ และผับ เนื่องจากเจ้าของที่บางรายไม่ยอมลดค่าเช่าร้านให้เพราะทางเจ้าของพื้นที่คิดว่าได้รับผลกระทบเหมือนกัน ที่ผ่านมาผู้ประกอบการบางส่วนได้เข้าไปปรึกษากับนายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ให้ช่วยประสานกับเจ้าของที่ดิน โดยทำหนังสือยื่นถึงเจ้าของเพื่อขอให้ช่วยลดค่าเช่าร้านให้ผู้ประกอบการ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการเจรจาไปแล้ว 2 รอบ และคาดการณ์ว่าหากมีการปิดกิจการต่อไปอีกยาวกว่า 2-3 เดือน คงมีสถานบริการที่ทนขาดทุนไม่ไหว จะมีการยุบกิจการเพิ่มขึ้นกว่านี้อีก ผู้ประกอบการส่วนใหญ่สู้ไม่ไหวเพราะไม่มีเงินสำรอง” นางอำพรกล่าว

นางอำพรกล่าวต่อไปว่า ส่วนธุรกิจของเดอะสโตนเฮาส์ฯมีทั้งผับและบาร์เบียร์ 3 สาขา ลูกค้าส่วนใหญ่ของร้านเดอะสโตนเฮาส์ฯเป็นนักท่องเที่ยวโซนเอเชีย เช่น จีน เกาหลี ไทย ส่วนบาร์เบียร์ เป็นอินเดียและอังกฤษ รวมลูกค้าทั้งหมดประมาณ 200-300 คน/เดือน ซึ่งตอนนี้ได้ตัดสินใจยุบไป 1 สาขาเนื่องจากเป็นโซนที่ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยว แม้ในอนาคตรัฐบาลปลดล็อกให้เปิดกิจการได้เหมือนเดิม แต่คิดว่าฟื้นฟูได้ยาก อีกทั้งต้องสำรองเงินทุนไว้เพราะคาดว่าถึงมีการเปิดร้านได้ตามปกติน่าจะยังไม่มีลูกค้า รวมถึงต้องสำรองเงินไว้ช่วยเหลือพนักงานซึ่งมีอยู่ประมาณ 200 คน

“โชคดีเจ้าของพื้นที่ลดค่าเช่าร้านให้ เพราะเจ้าของที่ก็มองว่าร้านเราปิดนาน ช่วงปิดกิจการชั่วคราวก็ทำให้มีเวลาเข้าไปปรับปรุงร้าน ซึ่งเราก็ได้ตัดสินใจยุบกิจการไป 1 สาขา เพราะเป็นโซนที่ไกลนักท่องเที่ยว ถึงเปิดมาก็ฟื้นฟูยากและไม่สามารถฟื้นกลับมาได้ตามปกติ ทั้งนี้ ในโซนเดียวกันเรายังเหลือไว้อีก 1 สาขา ซึ่งเจ้าของที่ไม่คิดค่าเช่าเลย ตอนนี้ทุกคนกระทบหนักมาก เราก็พยายามดูแลพนักงานบางส่วนโดยการแจกข้าวสาร เลี้ยงข้าวบางมื้อ รวมถึงให้พนักงานเบิกเงินล่วงหน้าไปทำอาชีพค้าขาย ช่วงที่ปิดร้านเราไม่เคยทอดทิ้งพนักงาน ซึ่งเราก็บอกหัวหน้างานแต่ละฝ่ายให้ดูแลพนักงานให้ดีที่สุด เรื่องของที่พักพนักงานก็ให้ยุบไปอยู่รวมกัน เพื่อลดค่าเช่าห้อง ลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ”

ทั้งนี้ ทางนายกเมืองพัทยาก็มีการเลื่อนการจ่ายภาษีต่าง ๆ ให้กับผู้ประกอบการ เช่น ภาษีสรรพสามิต ภาษีนิติบุคคล รวมถึงทำหนังสือยื่นถึงเจ้าของพื้นที่ให้ลดค่าเช่าร้าน คาดการณ์ 1 ปีนี้คือระยะการฟื้นฟูจนถึงปลายปี 2563 และเชื่อว่าปี 2564 น่าจะดีขึ้นตามลำดับ ปัจจุบันทางนายกเมืองพัทยาได้มีการวางแผนเกี่ยวกับการกระตุ้นเศรษฐกิจไว้หมดแล้ว ซึ่งต้องดูเป็นระยะเพราะไม่รู้ว่าจะปิดยาวถึงวันไหน

“ตอนนี้สถานการณ์แย่มาก ต้องยอมรับในสถานการณ์แบบนี้ แต่ไม่ใช่เราแค่เจ้าเดียวแต่ก็เสียหายกันทั้งประเทศ ท่านนายกเมืองพัทยาก็ช่วยทำหนังสือถึงเจ้าของพื้นที่ให้ลดค่าเช่า ซึ่งหากเจ้าของพื้นที่ไม่ยอมลดค่าเช่าให้ คิดว่าผู้ประกอบการก็ยุบร้านลงไปเรื่อย ๆ และเวลาต้องการจะฟื้นเศรษฐกิจก็จะยาก เพราะในการเปิดผับ บาร์เบียร์ หรืออะโกโก้ ต้องใช้ต้นทุนสูง เช่น ผับ 1 แห่งต้องใช้เงินลงทุนหลาย 10 ล้านบาท”

แหล่งข่าวจากเจ้าของสถานบันเทิงแห่งหนึ่ง เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาพรวมธุรกิจสถานบันเทิงเมืองพัทยาเป็นอย่างมาก ปกติผับขนาดใหญ่ 1 แห่ง จะมีลูกค้าเข้าร้านประมาณ 300 คน/วัน มีรายได้ประมาณ 400,000-500,000 บาท/วัน คิดเป็นรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 16 ล้านบาท โดยผับแต่ละแห่งมีพนักงานให้บริการรวมประมาณ 150-200 คน/แห่ง ซึ่งตอนนี้รายได้กลายเป็นศูนย์ และไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าต้องปิดกิจการชั่วคราวนานอีกกี่เดือน สร้างมูลค่าความเสียหายให้ธุรกิจบันเทิงในเมืองพัทยารวมหลายพันล้านบาท มีจำนวนพนักงานในสถานบันเทิงต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบรวมกันกว่า 100,000 คน มีสถานบันเทิงประมาณ 12,000 แห่ง

“ตอนนี้ให้พนักงานเดินทางกลับไปอยู่บ้าน บางส่วนก็อาศัยอยู่ในเมืองพัทยารอวันที่ร้านจะกลับมาเปิดได้ตามปกติ แต่ถึงจะกลับมาเปิดตามเดิมก็คาดว่าจะยังไม่มีลูกค้า ซึ่งทางผู้ประกอบการก็แบกภาระในส่วนนี้ไปก่อน รวมถึงถ้าเจ้าของพื้นที่ไม่ลดค่าเช่าให้อาจจะเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้มีการยุบกิจการร้านเพิ่มมากขึ้น”

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์