“เฉลิมชัย” จับมือ 69 สถาบันการศึกษา เปิดศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม AIC ทั่วประเทศ 77 จังหวัด Kick off 1 มิ.ย.63

Technology

“เฉลิมชัย” จับมือสถาบันการศึกษา เปิดศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม Agritech and Innovation Center หรือ  AIC ครบทั่วประเทศ 77 จังหวัด Kick off  วันนี้ 1 มิถุนายน 2563

ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีพิธีเปิดศูนย์ Agritech and Innovation Center (AIC) พร้อมกันทั่วประเทศ 77 จังหวัด โดยมีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ร่วมด้วย นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และข้าราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้แทนจากมหาวิทยาลัย/สถาบันการศึกษา 77 จังหวัดทั่วประเทศ

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าความตั้งใจเบื้องต้นที่มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป้าหมายอย่างหนึ่งคือ การปฏิรูปภาคการเกษตร เป็นโจทย์ใหญ่ที่ตั้งขึ้นมาและต้องหาแนวทางวิธีการเดินไปให้ถึงเป้าหมาย ซึ่งเห็นว่าหนึ่งในขบวนการดังกล่าว คือการเปลี่ยนแปลงองค์ความรู้และตัวเกษตรกรเอง

นอกจากนี้แล้ว การขับเคลื่อนการเกษตรสมัยใหม่ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0  คือการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และภูมิปัญญาในการพัฒนาสินค้าเกษตร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าเกษตรให้ปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค  ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้จัดตั้งศูนย์กลางทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรในชื่อ “ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม” (Agritech and Innovation Center หรือ AIC) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันภาคเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม สนับสนุนและส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตร  การประดิษฐ์นวัตกรรม  รวมทั้งเครื่องจักรกลการเกษตร  และยังเป็นศูนย์อบรมบ่มเพาะเกษตรกร  สนับสนุน Smart Farmer รวมถึง Young Smart Farmer ในแต่ละจังหวัด ตลอดจนผลักดันงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่านการวิจัย การพัฒนา การลงทุน การแปรรูปและการบริหารจัดการเชิงพาณิชย์ 

ศูนย์ AIC ถือเป็นศูนย์กลางในการบริการเกษตรกร เป็นที่รวบรวมองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร สามารถนำองค์ความรู้ต่างๆ ไปใช้พัฒนาต่อยอดการผลิต  สามารถลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร ให้สินค้ามีคุณภาพและมาตรฐาน ซึ่งจะเป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันระหว่าง ภาคเกษตรกร ภาควิชาการ และภาคเอกชน โดยมีรูปแบบโครงสร้าง 1 จังหวัด 1 ศูนย์ แต่ละศูนย์ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยที่ได้รับการคัดเลือก

“แนวทางการขับเคลื่อนของ AIC นั้น จะเน้นการส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตร  สิ่งประดิษฐ์  นวัตกรรมในรูปแบบต่างๆ โดยจะใช้ฐานข้อมูลเดิมที่มีอยู่ ผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาท้องถิ่นและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เน้นการจัดการในพื้นที่แปลงใหญ่  ดึงกลุ่ม Young Smart Farmer เข้าร่วม เสริมสร้างองค์ความรู้ทั้งด้าน อี-คอมเมิร์ช  การสร้าง Story และ Packaging รวมถึงมาตรการ กฎ ระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้านการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรไทย มีองค์ความรู้ มีเครือข่ายที่ดี ก้าวเข้าสู่ยุคเกษตร 4.0 อย่างครบวงจร

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์ AIC กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นวันสำคัญยิ่ง เพราะเป็นวันเปิดศูนย์ AIC พร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันกระทรวงเกษตรฯ ร่วมมือกับสถาบันการศึกษา จัดตั้งศูนย์ AIC ทั้งสิ้น 83 แห่ง ใน 69 สถาบัน และใน 77 จังหวัด  แบ่งประเภทได้คือ มหาวิทยาลัย 26 สถาบัน  มหาวิทยาลัยราชภัฎ 27 สถาบัน  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 5 สถาบัน  สถาบันการอาชีวศึกษา 8 สถาบัน และสถาบันวิทยาลัยชุมชน 3 สถาบัน  โดยมีศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร หรือ Excellent Center อีก 6 แห่ง ร่วมสนับสนุน

ส่วนการบริหารจัดการศูนย์ในแต่ละจังหวัด เน้นให้จังหวัดเป็นผู้บริหารจัดการด้วยตัวเอง เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และระดมพลังจากทุกภาคส่วนภายในจังหวัดมาร่วมกันทำงานให้เกิดการพัฒนาและเจริญอย่างยั่งยืน โดยศูนย์ AIC จะเชื่อมโยงการดำเนินงาน กับคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการเกษตร 4.0 ของกระทรวงเกษตรฯ  ซึ่งทั้ง 4 คณะ ได้แก่ 1.คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน Big data และ Cov Tech 2.คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ  3.คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน อี-คอมเมิร์ช  4.คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจเกษตร  และยังเชื่อมโยงกับการดำเนินงานของคณะกรรมการการเกษตรกรรมยั่งยืน และคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเกษตรด้วย ทั้งหมดถือเป็นแนวทางการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ

สำหรับ นายเฉลิมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ให้ความสำคัญอย่างมากกับการผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตร ซึ่งหากมีการจัดตั้งศูนย์ AIC ได้ตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์แล้ว คาดว่าจะทำให้ตัวเลขการส่งออกสินค้าของไทยมีปริมาณและมูลค่าเพิ่มมากขึ้น  ซึ่งปัจจุบันการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย อิงจากจากตัวเลขการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทย ไปยังตลาดโลกในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2562  มีมูลค่าถึง 1,091,510 ล้านบาท แบ่งออกเป็น กลุ่มประเทศอาเซียน 9 ประเทศ จำนวน 266,758.87 ล้านบาท  จีน  227,486.22 ล้านบาท  ญี่ปุ่น 129,883.14 ล้านบาท  สหรัฐอเมริกา 105,150.19 ล้านบาท  กลุ่มสหภาพยุโรป 27 ประเทศ รวม 91,377.70 ล้านบาท  และกลุ่มประเทศอื่น ๆ  รวม 270,853.96 ล้านบาท 

โดยสินค้าที่ส่งออก ได้แก่ ผลไม้และผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปต่างๆ  ยางพารา  ข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าว ปลาและผลิตภัณฑ์แปรรูปปลา  เนื้อไก่และผลิตภัณฑ์  น้ำตาลและผลิตภัณฑ์  มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์  

ที่สำคัญอีกประการ คือประเทศไทยยังได้เปรียบดุลการค้ากับประเทศต่าง ๆ จากความตกลงเขตการค้าเสรีของไทย ภายใต้กรอบเจรจาต่าง ๆ อีกด้วย เช่น กลุ่มอาเซียน ประเทศไทยได้เปรียบดุลการค้ามูลค่า 144,838 ล้านบาท  ประเทศจีน ไทยได้เปรียบดุลการค้ามูลค่า 112,843 ล้านบาท และออสเตรเลีย ไทยได้เปรียบดุลการค้ามูลค่า 5,207 ล้านบาท