พิษโควิด!!หมอลำอีสาน 4 พันคนเคว้งไร้งาน

Trending ฮิตติดกระแส
พ่นพิษ-คนในธุรกิจหมอลำตกงานกว่า4,000คน เพราะพิษโควิด-19 ทำงานหาย 100%

ธุรกิจหมอลำอีสานกว่า 100 วง เดี้ยงพิษโควิด-19 ตกงานกว่า 4,000 คน งานถูกยกเลิกทั้งหมด รายได้เป็นศูนย์ ต้องกู้เงินแบงก์ประคองธุรกิจ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ถือเป็นช่วงพีกสุดของการว่าจ้างสูญรายได้มหาศาล ด้านนายกสมาคมหมอลำจังหวัดขอนแก่นชี้คนตกงาน 100% นับพันคน ด้าน “คณะหมอลำเรื่องต่อกลอนวงใหญ่” งานหายตลอดทั้งปี วอนรัฐบาลดูแลให้ทั่วถึง ชี้งานแสดงในอนาคตคงเปลี่ยนไปมาก ไม่ว่าผู้ว่าจ้าง-ผู้แสดงต่างต้องปรับตัว เพราะการจัดงานถือเป็นการรวมตัวของคนหมู่มาก

นางราตรี ศรีวิไล นายกสมาคมหมอลำจังหวัดขอนแก่น เปิดเผย ว่า ในวงการศิลปินหมอลำได้รับผลกระทบอย่างมากจากสถานการณ์โควิด-19 ประเด็นหลักที่ได้รับผลกระทบที่สุด การระบาดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นช่วงที่หมอลำรับงานมากที่สุดในรอบปีหรือเรียกว่าช่วงกอบโกย บางคนรับงานไว้นอกจากถูกยกเลิก ถูกเรียกคืนเงินมัดจำจากเจ้าภาพหรือผู้ว่าจ้างด้วย เป็นผลกระทบในวงกว้างที่รุนแรงมากจนไม่มีอะไรมาเปรียบเทียบได้

ยิ่งคณะหมอลำวงใหญ่ยิ่งเกิดความเสียหายมาก

โดยหมอลำเรื่องต่อกลอนส่วนใหญ่มีสมาชิกประมาณ 200-300 คน ปกติราคาสูงสุดในการจ้างต่องานเฉลี่ย 170,000-300,000 บาท ราคามัดจำอยู่ที่ 50,000-100,000 บาท/งาน หรือประมาณ 30% ส่วนหมอลำกลอนหรือคณะลำกลอนประยุกต์ประมาณ 10 คน ราคาค่าจ้าง 40,000-60,000 บาท/งาน จะมีเงินมัดจำ 30% ถ้าไม่มีงานแสดงคือไม่มีรายรับ เป็นลักษณะอาชีพรายวัน ไม่มีเงินสำรอง ทำให้กลายเป็นคนตกงานทั้งหมด 100% ขณะที่เงินมัดจำที่ผู้ว่าจ้างจ่ายมัดจำจะรวมทั้งค่าเครื่องเสียงเวที หมอแคน รายจ่ายนั้นเจ้าภาพบางรายขอเอาคืนทั้งหมด

“ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับอาชีพหมอลำรวมทั้งภาคอีสานคงประเมินได้ยาก เฉพาะจังหวัดขอนแก่นที่มีหมอลำมากที่สุดจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน หมอลำเรื่องต่อกลอนที่มีชื่อเสียงจนถึงปานกลางประมาณ 10 วง รวมคนตกงานไม่ต่ำกว่า 3,000 คน ส่วนหมอลำกลอนประยุกต์วงละ 10 คน ตกงานเกือบ 100 วง ทุกคนออกงานไม่ได้เลย รายได้ที่จะรองรับอย่างอื่นก็ไม่มี แม้บางคนจะมีไร่นาแต่ช่วงนี้ไม่ใช่ฤดูทำนา ที่สำคัญในสถานการณ์เช่นนี้ก็ออกจากบ้านไปหางานทำไม่ได้ เงินเยียวยาที่ได้จากรัฐบาลก็ได้รับกันไม่ถึง 50% ของจำนวนผู้ที่ตกงาน ส่วนคนที่ได้ก็พอประทังชีวิต”

นางราตรีกล่าวต่อไปว่า สำหรับศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทยด้านศิลปกรรมการแสดงพื้นบ้าน (หมอลำ) ห้องเรียนลำฟรี จังหวัดขอนแก่น ปรับตัวให้เรียนทางออนไลน์แทนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นช่องทางการสอนที่ทำมาก่อนจะเกิดการระบาดเชื้อโควิด-19 อยู่แล้ว เพียงแต่ไม่สามารถนัดผู้เรียนเข้ามาซ้อมที่ศูนย์ได้ เป็นเพียงหลักสูตรการท่องกลอนลำและท่วงทำนองเท่านั้น ในช่วงต้องกักตัวอยู่ที่บ้านนี้จึงถือว่าการท่องกลอนลำดีที่สุด รอให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติจึงจะออกงานและใช้กลอนลำที่ท่องมาไปใช้ในการแสดง

นางราตรีกล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม ธุรกิจหมอลำในขณะนี้ยังพออดทนได้บ้าง เพราะบางส่วนกู้เงินเพื่อมาประคองวงในช่วงที่ออกงานไม่ได้ แต่ศิลปินทุกคนทำอะไรไม่ได้มาก ต้องทำใจให้ได้และประหยัดให้มากที่สุดในวิกฤตนี้ หลังโควิด-19 ผ่านไปการจ้างงานคงจะน้อยลง จนเรียกได้ว่าต้องมาเริ่มต้นใหม่จากศูนย์ทั้งผู้แสดงรวมไปถึงผู้ว่าจ้างต้องปรับตัวใหม่ ถึงรัฐบาลจะผ่อนปรนมาตรการยังต้องคิดระแวงเรื่องการแพร่ระบาดอยู่ เพราะการจัดงานหรือการแสดงแต่ละครั้งจะเป็นการรวมตัวของกลุ่มคนจำนวนมาก ทั้งคณะหมอลำและกลุ่มผู้ฟัง เป็นเรื่องยากที่จะได้กลับมาแสดงอีกในเร็ววัน

“หากวงการหมอลำกลับมาทำการแสดงได้ในปีหน้าก็คงต้องใช้เวลาฟื้นตัว และคงไม่หรูหราเหมือนเดิม จากผลกระทบราคาจ้างต่องานอาจจะลดลงหรือผู้ว่าจ้างไม่จ้างคณะใหญ่เหมือนเดิม ด้วยทุนว่าจ้างคงน้อยลงจากภาวะเศรษฐกิจ ทุกอย่างจะซบเซาและไม่เหมือนเดิมแล้ว สถานการณ์จะซบเซาไปอีกกี่ปีก็ต้องรอดูการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภาพรวม ไปถึงกำลังของผู้ว่าจ้าง อยากฝากถึงรัฐบาลว่าอาจจะทำดีที่สุดแล้ว แต่ยังไม่ทั่วถึง ก็อยากให้หันหลังกลับมามองกลุ่มศิลปินหมอลำบ้าง”

ด้านนายสันติ สิมเสน เจ้าของคณะหมอลำประถมบันเทิงศิลป์ เปิดเผยว่า ตอนนี้หมอลำทั่วประเทศอยู่ในสถานการณ์เดียวกันคือ หยุดการแสดง ขัดสน ขาดทุน ไม่มีงานทำ ทุกคนได้แต่ประคับประคองตัวเองให้อยู่รอด บ้างก็หันหน้าไปค้าขายพอให้ได้เงินใช้ในชีวิตประจำวัน บางคนทำอะไรไม่ได้ก็ไม่มีเงินเลย สำหรับคณะหมอลำประถมบันเทิงศิลป์ซึ่งเป็นคณะหมอลำเรื่องต่อกลอน มีสมาชิกในวง 200-300 คน จากปกติรับงานอยู่ที่ 190-200 งาน/ปี ราคางานแสดงเฉลี่ยประมาณ 200,000 บาทต่องาน และอาจจะราคาต่ำกว่าหรือมากกว่าแล้วแต่ผู้ว่าจ้างและขนาดของงาน แต่เมื่อเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 งานที่รับไว้ในปี 2563 จากย้ายช่วงเวลาการแสดงก็กลายเป็นยกเลิกไปเลย เริ่มมาตั้งแต่ช่วงประมาณวันที่ 18 มีนาคม จนถึงปัจจุบัน

“ในปีนี้หมอลำทุกคณะบ่นว่าแย่กันหมด ปีหน้าคงไม่มีเงินหรือต้นทุนทำชุดใหม่ออกมา ช่วงหลังการระบาดของเชื้อไวรัสโควิดคงกลับมาทำการแสดงเช่นเดิม แต่คงจะไม่เหมือนเดิม เพราะการจ้างงานคงมีจำนวนลดน้อยลง ถึงอย่างไรก็อยากให้สถานการณ์กลับมาเป็นปกติโดยเร็ว” นายสันติกล่าว

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์