‘ททท.’ ยืนเป้ารายได้ภาคท่องเที่ยวปี 63 รวม 1.23 ล้านล้านบาท อัด 3 มาตรการฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย

Business ธุรกิจ

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ยึดตัวเลขรายได้จากภาคการท่องเที่ยวอยู่ที่ 1.23 ล้านล้านบาท เป็นรายได้รวมทั้งตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ และตลาดไทยเที่ยวไทย ซึ่งน่าจะสามารถทำได้ใกล้เคียง เนื่องจากขณะนี้ทั้งในแง่จำนวนและรายได้ติดลบ 60% โดยแบ่งเป็นรายได้จากตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8.28 แสนล้านบาท รายได้จากตลาดไทยเที่ยวไทย 4.02 แสนล้านบาท จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาเที่ยวในประเทศอยู่ที่ประมาณ 14-16 ล้านคน ส่วนไทยเที่ยวอยู่ที่ 100 ล้านคน-ครั้ง ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่าจะสามารถทำได้มากกว่านี้ เพราะเชื่อว่าความต้องการในการเดินทางท่องเที่ยวจะมีสูงมากขึ้น แม้ยังมีความกังวลในส่วนของอำนาจซื้อที่ชะลอตัวลง เพราะภาวะเศรษฐกิจไม่สดใสมากนัก แต่ยังหวังว่าคนไทยกลุ่มที่นิยมเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ แต่ไม่สามารถไปได้ในขณะนี้ จะกลับมาท่องเที่ยวในประเทศแทน และเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันและขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวในประเทศต่อไป

นายยุทธศักดิ์กล่าวว่า การประมาณการตัวเลขดังกล่าว สอดคล้องกับที่องค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ได้คาดการณ์ออกมาว่า ภาพการท่องเที่ยวระหว่างประเทศทั่วโลกในไตรมาส 1/2563 จะติดลบที่ 22% เฉพาะเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา ติดลบ 57% โดยได้คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศในปี 2563 ไว้ 3 กรณีคือ ปลดล็อกการเดินทางระหว่างประเทศได้ภายในเดือนกรกฎาคม หรือภายในเดือนกันยายน หรือสุดท้ายเดือนธันวาคม ซึ่งตัวเลขดีที่สุดจะติดลบ 58% ส่วนแย่ที่สุดจะติดลบ 78% ซึ่งตัวเลขที่ททท.คาดการณ์ไว้ว่าจะติดลบ 60% ก็ถือว่าเป็นตัวเลขติดลบในกรณีที่ดีอยู่ โดยจาการสำรวจของดับเบิลยูทีโอ คาดว่าการท่องเที่ยวภายในประเทศจะฟื้นตัวกลับมาได้เร็วกว่าการเดินทางระหว่างประเทศ ซึ่งท่องเที่ยวในประเทศจะฟื้นได้ภายในไตรมาส 3 ส่วนท่องเที่ยวระหว่างประเทศจะกลับมาได้เร็วที่สุดภายในไตรมาส 4

นายยุทธศักดิ์กล่าวว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้มอบหมายให้จัดทำแผนการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวไทย โดยจะใช้นโยบายประเทศไทยที่คุณวางใจ ชูจุดขาย 3 เรื่องคือ 1.ความปลอดภัย ระบบสาธารณสุขและการจัดการที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงเป็นที่ยอมรับ 2.ความคุ้นเคย เน้นอาหารและวัฒนธรรมที่โดดเด่น มีเอกลักษณะเฉพาะตัว และ 3.ความสวยงาม ทั้งทางธรรมชาติและผู้คน ซึ่งเป็นจุดขายที่ต้องรักษาไว้เพื่อความยั่งยืน โดยจะมุ่งเน้นในการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวอย่างเป็นขั้นเป็นตอนด้วยความระมัดระวัง เพื่อให้เศรษฐกิจขยับและเริ่มฟื้นตัว โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1.ระยะที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการควบคุมให้สามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้บ้าง แต่ยังมีข้อจำกัดในการเดินทาง การเคลื่อนย้ายผู้คน และสถานที่ชุมนุม โดยในระยะนี้จะมุ่งเตรียมความพร้อมเรื่องบุคลากร ซ่อมสร้างอุปทานเพื่อปรับตัวสู่การท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ แบบความปกติใหม่หรือนิวนอร์มอล ยกระดับคุณภาพสินค้าและบริการ ปรับภาพลักษณ์ เน้นการทำตลาดแบบนุ่มนวล ให้ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวคนไทยและต่างชาติยังนึกถึงเสมอ 2.ช่วงเปิดเมืองหรือเปิดประเทศ เพื่อการท่องเที่ยวแบบจำกัดประมาณไม่เกิน 60% ของพื้นที่ที่อนุญาตให้เดินทาง การเคลื่อนย้ายของผู้คน และสถานที่ชุมนุม ให้ความสำคัญกับการเที่ยวภายในประเทศเป็นอันดับแรก โดยอาจอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติบางประเทศที่มีการควบคุมโรคได้ดีแล้วเดินทางเข้ามาเที่ยวในไทยได้ อยู่ภายใต้การควบคุมเพื่อความปลอดภัยและป้องกันการระบาดซ้ำ

“หากมีการอนุญาตให้เดินทางท่องเที่ยวและทำกิจกรรมอื่นๆ ได้มากขึ้นแล้ว รูปแบบการเดินทางท่องเที่ยวที่เป็นไปได้จะต้องอาศัยความยินยอมของประชาคมในพื้นที่ ประกอบด้วย 1.การท่องเที่ยวภายในกลุ่มที่ 1 พื้นที่ที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยมาก่อนเลย หรือภายในกลุ่มที่ 2 พื้นที่ที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยในช่วง 28 วันที่ผ่านมา 2.การท่องเที่ยวระหว่างกันของกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 2 และ 3.การเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติไปยังกลุ่มที่ 1 และ 2 ซึ่งทั้งหมดจะต้องเป็นไปตามแนวทางการเฝ้าระวังและสอบสวนโรคโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อย่างเคร่งครัด โดยททท.จะพิจารณาเลือกพื้นที่ปลอดโควิด-19 จากนั้นจะประสานกับคนในพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้าใจและเกิดความเชื่อใจขึ้น ซึ่งเบื้องต้นอาจจะเลือกเป็นพื้นที่เกาะก่อน พร้อมทำประชาคมหรือสอบถามความคิดเห็นจากคนในพื้นที่ เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มดำเนินแผนระยะที่ 2 ในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมในเชิงพื้นที่ รองรับความต้องการมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่คาดว่าน่าจะเริ่มกลับมาเที่ยวไทยในเดือนตุลาคมนี้ โดยจะต้องลบภาพเดิมในการต้อนรับนักท่องเที่ยวออกไปก่อน การสร้างความรู้สึกเชิงบวกในการต้อนรับนักท่องเที่ยว เพราะขณะนี้เกิดการต่อต้านนักท่องเที่ยวขึ้น แม้แต่การเดินทางของคนไทยข้ามจังหวัด ก็เกิดการไม่ต้อนรับกันเองขึ้น เพราะกลัวการนำเชื้อไวรัสเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งต้องสื่อสารและทำความเข้าใจกันมากขึ้น” นายยุทธศักดิ์กล่าว

นายยุทธศักดิ์กล่าวว่า ส่วน 3.เป็นการเปิดเมืองเปิดประเทศสู่ความยั่งยืน ภายใต้นิวนอร์มอล กระตุ้นไทยเที่ยวไทยด้วยรูปแบบการเดินทางท่องเที่ยวที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและบริการที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง เน้นตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติระดับบนด้วยภาพลักษณ์ประเทศไทยในฐานะจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก ขยายฐานนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มเที่ยวซ้ำและกลุ่มการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล และให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ เพื่อให้ภาคท่องเที่ยวไทยกลับมาอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน พร้อมถือโอกาสนี้รีแบรนด์ภาพลักษณ์ท่องเที่ยวไทยไปในตัว ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักของแผนฟื้นฟูร่วมกับกลยุทธ์อื่นๆ อาทิ การสร้างงาน สร้างรายได้ เสริมสภาพคล่องของภาคธุรกิจ กระตุ้นให้คนออกไปจับจ่ายท่องเที่ยว ปรับสมดุลในมิติต่างๆ อาทิ การกระจายนักท่องเที่ยว สร้างสมดุลเชิงโครงสร้างของตลาด ลดการพึ่งพิงตลาดต่างประเทศ และหันมาให้น้ำหนักกับตลาดในประเทศมากขึ้น

ที่มา : มติชนออนไลน์