แพทย์สรุปบทเรียนรักษาผู้ป่วย “โควิด-19”

Health สุขภาพดีๆ

ที่ศูนย์แถลงความความคืบหน้าสถานการณ์โรคไวรัสโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุข แพทย์จากโรงพยาบาลของรัฐที่ได้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อ ร่วมแบ่งปันประสบการณ์และข้อสรุปจากช่วงวิกฤตที่ผ่านมา

ผศ.นพ.พจน์ อินทลาภาพร โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า โรงพยาบาลได้มีส่วนในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ตั้งแต่ผู้ป่วยระดับไม่มีอาการ อาการเล็กน้อย ไปจนถึงอาการรุนแรง และมีปอดอักเสบ เบื้องต้น การดูแลผู้ป่วยในช่วงระบาดหนัก

โรงพยาบาลราชวิถีได้รับผู้ป่วยเข้ารักษาจำนวน 69 ราย พบว่ามีปอดอักเสบประมาณ 33 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยที่เป็นปอดอักเสบชนิดรุนแรง 10 ราย และรักษาหาย 64 ราย เสียชีวิต 4 ราย ซึ่งในการรักษาทำให้เราได้สรุปเป็นกรศึกษาดังนี้คือ

กรณีศึกษารายแรก ผู้ป่วยหญิงอายุ 31 ปี มีไข้ 11วัน ก่อนเข้ารับการรักษา โดยที่ 5 วันก่อนมาโรงพยาบาล เริ่มไอ และเหนื่อยมากขึ้น ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งด้วยโรคปอดอักเสบ 2 วันต่อมาขอกลับบ้าน แต่ไม่ดีขึ้น เลยมารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐ จากนั้นถูกส่งต่อมายังราชวิถี ได้รับการยืนยันว่าเป็นปอดอักเสบจากโควิด จึงให้การรักษาด้วยยา Favipiravir และยาอื่นๆ ที่อยู่ในสูตรการรักษาของไทยเช่น Darunavir/Ritonavir, Chloroquine, Azithromycin

สิ่งที่น่าสนใจในผู้ป่วยรายนี้คือ 3 วันหลังรักษาด้วยยาดังกล่าวผลตรวจไม่พบไวรัส และเมื่อติดตามผลหลังการรักษาไปอีก 28 วัน ก็ไม่พบไวรัสเช่นเดียวกัน แสดงว่ารักษาเพียง 3 วันก็หายแล้ว ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีการนำยา Favipiravir เข้ามาใช้ในประเทศไทย จึงเป็นจุดเรื่มทำให้มีการนำยาชนิดนี้เข้ามาไทย และมีการเสนอให้ยานี้เข้าสู่แนวทางการรักษาสำหรับประเทศไทย และเป็นประโยชน์ในการรักษาปอดอักเสบจากโควิด

กรณีศึกษารายที่สอง ชายไทย อายุ 55 ปี มีอาการไข้ไอมาแล้ว 13 วันก่อนมารพ.ไม่มีโรคประจำตัว เมื่อตรวจพบโควิดก็พบว่ามีปอดอักเสบมาแล้ว จึงให้การรักษาด้วย Favipiravir และยาอื่นๆ เช่นเดียวกับผู้ป่วยรายแรก แต่ 4 วันต่อมา หลังเข้ารับการรักษาก็เสียชีวิต ด้วยลักษณะปอดอักเสบรุนแรงขึ้นจนต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ พร้อมด้วยระบบไหลเวียนล้มเหลว ระบบหายใจล้มเหลว แต่ยังตรวจพบไวรัสในร่างกาย เพราะฉะนั้นบทเรียนผู้ป่วยรายนี้ แม้จะรักษาเหมือนรายแรก แต่มีปัจจัยเสี่ยงคืออายุมากอาการรุนแรงจากโรคจึงมีมากกว่า มีปอดอักเสบและเข้ารับการรักษาช้า แม้ว่าจะไม่มีโรคประจำตัวก็ตาม

กรณีศึกษารายที่สาม หญิงไทยอายุ 57 อายุใกล้เคียงกับรายแรก แต่รายนี้เป็นผู้เข้าข่ายจะติดเชื้อ เพราะบุตรสาวเป็นผู้ป่วยโควิด และตรวจพบผลบวก ผู้ป่วยรายนี้ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีอาการเลย แม้เข้ารพ.แล้วก็ยังอาการปกติ จนเข้าสู่วันที่ 5 ของการตรวจพบ คนไข้เริ่มมีอาการป่วย ไข้ ไอ มากขึ้น เอกซเรย์ปอดพบความผิดปกติ จึงรีบให้ยาเหมือนผู้ป่วยสองรายแรก จนอาการดีขึ้น

โดยสรุปจากกรณีศึกษาผู้ป่วยทั้งสามราย พบว่า โควิดเป็นความเสี่ยงเสียชีวิต แม้มียาดีรักษา แต่ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะอาการของแต่ละคน หากมีอาการ ไม่ควรปกปิด ควรจะรีบพบแพทย์โดยเร็ว เพราะถึงแม้ไม่มีโรคประจำตัว จะอายุมากหรือน้อย แต่ถ้ามาพบแพทย์ช้าก็อาจจะปอดอักเสบรุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิตได้

“จากข้อมูลรายงานประเทศไทย และหลายๆ ประเทศ 70-80% ของผู้ติดเชื้อจะไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย 20% และอาการรุนแรง 5% ในกลุ่มที่มีอาการส่วนใหญ่มีไข้ ร่วมกับอาการอื่นๆ ในระบบทางเดินหายใจเช่น ไอ น้ำมูก เจ็บคอ และมี 1 ใน3 อาการจมูกไม่ได้กลิ่น ซึ่งเกิดขึ้นได้กับบางคน ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะบางคนอาจจะเป็นโรคอื่นมาก่อน เช่นไซนัสอักเสบ ไม่อยากให้เข้าใจคาดเคลื่อนว่า ถ้าจมูกไม่ได้กลิ่นจะเป็นโควิด อยากให้ประเมินตนเองว่ามีอาการภูมิแพ้หรือไซนัสอักเสบหรือไม่ ไม่อยากให้วิตกกังวล”

นอกจากนี้ แพทย์หญิงเปี่ยมลาภ แสงสายัณห์ สถาบันโรคทรวงอก กล่าวว่า นับตั้งแต่ทราบปัญหาโควิด-19 มีความกังวลเรื่องการแพร่กระจายเชื้อมากเนื่องจากเป็นโรงพยาบาลที่เกี่ยวกับทรวงอก เพราะฉะนั้นจึงมีการแยกกลุ่มคนไข้ที่มีอาการเสี่ยงของโรคมีการแยกบางส่วนออกมานอกอาคารเพื่อป้องกันการปนเปื้อน ดึงกรณีความเสี่ยงสูงออกมาตรวจในพื้นที่เฉพาะ มีการจัดจุดคัดกรองต่างๆ

ในแง่ของการรักษาช่วงต้นมีความรู้เรื่องของการทำท่าคว่ำ ซึ่งจะพบว่าในคนไข้ที่มีปัญหาปอดอักเสบรุนแรงมากค่อนข้างได้ผล จึงมีการพัฒนาประยุกต์ให้ผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้ามาในสถาบันโรคทรวงอกและมีปอดอักเสบที่เป็นลักษณะของ2ข้าง คว่ำตั้งแต่เริ่มจะมีอาการหรือเข้ามารักษาในสถาบัน โดยคว่ำให้ได้มากที่สุด หลังจากที่มีการคว่ำคนไข้จนเป็นปกติ คนไข้มีออกซิเจนในเลือดดีขึ้น ทำให้คนไข้ไม่ต้องไปสู่ภาวะของปอดอักเสบรุนแรงจนกระทั่งต้องใส่ท่อช่วยหายใจ รวมถึง ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ตั้งแต่ปอดอักเสบรุนแรงขึ้น

อีกทั้ง จากการพบว่าปอดอักเสบของผู้ป่วยโควิด-19จะรุนแรงในช่วง 2 สัปดาห์แรกและจะเบาบางในสัปดาห์ที่ 3 จึงต้องมีการยื้อไว้ไม่ให้ออกซิเจนในเลือดต่ำเกินไป เพราะจะมีผลทำให้ระบบการทำงานอื่นๆของร่างกายหยุดทำงาน ซึ่งเมื่อมีการศึกษาข้อมูลจากต่างประเทศมีการใช้ยากดปฏิกิริยาการอักเสบกลุ่ม tocillizumab จึงนำมาใช้กับผู้ป่วยตั้งแต่ปอดอักเสบรุนแรงมาก เพื่อชะลอโรค ไม่ให้ระบบอื่นของร่างกายหยุดทำงาน จนต้องล้างไต เป็นต้น

ด้วยจำนวนแพทย์ของสถาบันมีเพียง 50 คน เพราะฉะนั้น แพทย์ที่ไม่ใช่แพทย์ระบบบทางเดินหายใจก็มาช่วยรักษาด้วย โดยการใช้ใบคำสั่งมาตรฐานเดียว ทำให้กลุ่มคนไข้เดียวกันได้รับการรักษามาตรฐานเดียวกัน ซึ่งง่ายและลดความผิดพลาด

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์