ขายทุเรียนออนไลน์บูม ชาวสวนมาเองไม่ง้อล้ง

Business ธุรกิจ

ตลาดค้าทุเรียนออนไลน์คึกคัก เจ้าของสวนคัดขายเองดันราคาสูงกว่าขาย “ล้ง” เท่าตัว เฉพาะ “หมอนทอง” ตกไซซ์ 50-60 บาท/กก.ขายออนไลน์ 150-180 บาท/กก. ด้าน ททท.ตะวันออกอัดแคมเปญ “ลดยกก๊วนช็อปสวนออนไลน์” แจกคูปองกระตุ้นยอดซื้อให้ส่วนลดค่าขนส่ง 5,000 ใบ มูลค่า 500,000 บาท

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ออกสำรวจการค้าผลไม้ออนไลน์ที่เติบโตมา 4-5 ปี แต่หลังการระบาดของไวรัสโควิด-19 ปรากฏการค้าผลไม้ออนไลน์ในขณะนี้ได้พุ่งทะยานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทุเรียน กับมังคุด มีผู้ค้าทั้งรายเก่า-รายใหม่ ตลอดจนเจ้าของสวน สหกรณ์การเกษตร ผู้ค้าคนกลาง หันมาทำตลาดออนไลน์เพื่อเพิ่มช่องทางการค้ามากขึ้น คาดว่าจะมีเงินสะพัดหลายร้อยล้านบาทในปีนี้

นายวราพงษ์ ปรุงผล เกษตรกรเจ้าของสวนทุเรียน อ.เมือง จ.ตราด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้ขายทุเรียนออนไลน์มา 3-4 ปีแล้ว เฉพาะปีนี้ยอดขายเพิ่มขึ้นถึง 20% หากไม่ติดเรื่องการขนส่งจากการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตลาดทุเรียนออนไลน์น่าจะขยายตัวได้มากกว่านี้

“ราคาทุเรียนขายออนไลน์ดีมากอย่างหมอนทอง ล้งเปิดราคารับซื้อแค่ 150 บาท/กก. แต่เราคัดมาขายออนไลน์รวมค่าส่งได้ถึง 180 บาท/กก. แม้ราคาหน้าสวนที่ขายล้งลดลงเหลือ 90-100 บาท/กก. ส่วนทุเรียนตกไซซ์ ถ้าขายเหมาให้ล้งก็ได้ราคาแค่ 50-60 บาท/กก.เท่านั้น แต่ถ้านำมาขายออนไลน์มีการคัดเลือกคุณภาพ เน้นทุเรียนแก่จัด เนื้อดีทุกพู รสชาติอร่อย ไม่เน้นขนาด รูปทรงขายได้ระหว่าง 150-180 บาท/กก. การขายออนไลน์ช่วยเพิ่มมูลค่าทุเรียนตกไซซ์ที่ส่งตลาดจีนไม่ได้ ก็จะได้ราคาเพิ่มจากล้งถึง 50-60%” นายวราพงษ์กล่าว

ทั้งนี้ ที่สวนจะมีผลผลิตทุเรียนประมาณปีละ 13-14 ตัน ตอนนี้ได้แบ่งขายผ่านช่องทางออนไลน์ไปแล้ว 5 ตันเศษ หรือประมาณ 35% นอกจากหมอนทองแล้ว ก็มีพันธุ์พวงมณี-นกหยิบ ราคา กก.ละ 110-130 บาท, ก้านยาว 180 บาท, หลงลับแล 200 บาท และชะนี 110-130 บาท การสั่งซื้อจะเปิด “ออร์เดอร์” ให้ลูกค้าจองก่อนถึงเวลาตัด และทางสวนรับ “เคลม” ให้ลูกค้าทุกลูกที่มีปัญหา โดยให้ลูกค้าถ่ายภาพ ขั้ว เนื้อ เม็ดและลูกทุเรียน มาให้เพื่อจัดส่งให้ใหม่ การเปิดรับเคลมทุเรียนเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2562 โดยรวมกลุ่มเพื่อนระยอง-จันทบุรี ในเฟซบุ๊ก ทำในนามของ “กลุ่มทุเรียนเคลมได้”

นายเฉลิมพล ทัศมากร ประธานกลุ่มยังสมาร์ทฟาร์เมอร์จังหวัดตราด และเจ้าของสวนสมโภชน์ เกาะช้าง อ.เกาะช้าง จ.ตราด กล่าวว่า ที่สวนแบ่งทุเรียนกว่า 50% หรือประมาณ 1,000 กก. มาขายออนไลน์เพื่อกระจายความเสี่ยง โดยเริ่มมาตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว เนื่องจากสวนอยู่ที่เกาะช้าง การนำผลผลิตออกสู่ตลาดใช้ทั้งรถและเรือ ราคาขายเหมาให้พ่อค้าก็จะถูก อย่างปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ขายเหมาราคาตัดหน้าสวน กก.ละ 135 บาท แต่ถ้าคัดไซซ์ทุเรียนแล้วนำมาขายออนไลน์ ด้วยจุดขายใหม่ “ทุเรียนกลางทะเล” แบบพรีเมี่ยมก็จะขายได้ถึง 250 บาท/กก. คละไซซ์ 150-200 บาท รวมค่าขนส่ง หรืออย่างตอนนี้ราคาลงมา 80-90 บาท/กก. คัดขายออนไลน์ก็ได้ราคา 100-120 บาท

ด้าน นายรัฐ จันทวิสูตร เจ้าของสวนผลไม้ “จันทวิสูตร” จังหวัดจันทบุรี ก็ได้ขายทุเรียนออนไลน์มาแล้ว 5 ปี ยอดขายเติบโตขึ้นทุกปี โดยขายออนไลน์ 90% ให้ลูกค้าทั่วประเทศ รวมทั้งส่งขายไปยังเวียงจันทน์ สปป.ลาวด้วย ขายส่งเพียง 10% การขายออนไลน์นอกจากจะได้ “ส่วนต่าง” ของราคาค่อนข้างสูงแล้ว “เรายังมีฐานลูกค้าที่ค้าส่งไม่มี ผมว่าการค้าออนไลน์จะเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ปีนี้ดูฐานข้อมูลจากสมาชิกเฟซบุ๊กกลุ่มสั่งจองทุเรียนสวนจันทวิสูตร ก็เพิ่มขึ้นจาก 2,000 คน เป็น 5,000 คนแล้ว” นายรัฐกล่าว

ล่าสุดมีรายงานข่าวจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้จัดแคมเปญสนับสนุนการขายผลไม้ออนไลน์ใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก โดยแจกคูปอง 5,000 ใบ มูลค่า 500,000 บาท ให้เจ้าของสวน 43 แห่งที่สมัครใจเข้าร่วม 2 โครงการ แบ่งเป็น 1) โครงการ “ลดยกก๊วน ช็อปสวนออนไลน์” ระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม มีสวนจากจันทบุรีเข้าร่วม 13 ราย ตราด 4 ราย กับ 2) โครงการ 60 วันพรีเมี่ยมทุเรียนระยอง ระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน มีสวนระยองเข้าร่วม 31 สวน โดยมีเงื่อนไขต้องสแกนคิวอาร์โค้ดและสั่งซื้อโดยตรงกับเจ้าของสวน เจ้าของสวนใช้แท็กกิ้ง

ชื่อ ที่อยู่ ผู้สั่งซื้อออนไลน์ตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป (ไม่รวมค่าส่ง) ยกตัวอย่าง จังหวัดตราด ได้รับคูปอง 1,000 ใบ มูลค่า 100,000 บาท จะมอบให้ลูกค้าที่สั่งซื้อผลไม้สดตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป ได้สิทธิ์รับคูปองนำไปเป็นส่วนลดมูลค่า 200 บาท จันทบุรีได้รับโควตา 1,000ใบ มูลค่า 100,000 บาท ลูกค้าที่ซื้อผลไม้ตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป ได้รับส่วนลด 100 บาท และระยองได้รับโควตา 3,000 ใบ มูลค่า 300,000 บาท ซื้อผลไม้ตั้งแต่ 500 บาท ได้ส่วนลด 100 บาท แต่ให้ใช้ได้คนละ 1 สิทธิ์ ตามเวลาที่กำหนด หลังเปิดตัวแคมเปญได้เพียง 8 วัน ก็มีลูกค้าแห่ใช้สิทธิ์จำนวนมาก คาดว่าน่าจะใช้สิทธิ์ครบโควตาภายใน 2 เดือนข้างหน้านี้ (หน้า 1, 9)

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์