จีนเผย 100 อันดับสถานที่เที่ยว “สร้างความสุขสูงสุด” พระราชวังต้องห้าม คว้าอันดับ 1

Trending ฮิตติดกระแส
พระราชวังต้องห้าม

สมาคมสถานที่ท่องเที่ยวของจีน และสถาบันวิจัยของโอซีที กรุ๊ป  ผู้พัฒนาและให้บริการสวนสนุกชั้นนำของประเทศจีน เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความสุขของสถานที่ท่องเที่ยวภายในประเทศ  โดยดัชนีดังกล่าวจัดอันดับสถานที่ท่องเที่ยวของจีน ที่สร้างความสุขสูงสุด 100 อันดับในปี 2019  ซึ่งผลการสำรวจพบว่า “พิพิธภัณฑ์พระราชวังโบราณ” หรือ “พระราชวังต้องห้าม” กรุงปักกิ่ง คว้าอันดับ 1 ที่สร้างความสุขสูงสุด  ตามมาด้วย “เซี่ยงไฮ้ ดิสนีย์ รีสอร์ต” และ อันดับ 3 “ศูนย์วิจัยการผสมพันธุ์แพนด้ายักษ์” นครเฉิงตู เมืองเอกของมณฑลเสฉวน อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน

สถาบันวิจัยของโอซีที ระบุว่าดัชนีอ้างอิงงานวิจัยได้สำรวจความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวแบบสุ่มตัวอย่าง  ผ่านแฟลตฟอร์มออนไลน์  โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มที่เป็นนตัวอย่างการสำรวจนี้เคยเดินทางไปเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยว 1,181 แห่ง และเปลี่ยนอารมณ์ ความรู้สึก และประสบการณ์การท่องเที่ยวของพวกเขา ให้กลายเป็นข้อมูลที่เห็นภาพชัดเจนและสามารถวัดระดับได้  นอกจากนี้ สถาบันยังจัดอันดับสถานที่ท่องเที่ยวที่สร้างความสุขสูงสุด 20 แห่ง แบ่งตามหัวข้อย่อย อาทิ ภูมิทัศน์ทางธรรมชาติและวัฒนธรรม  พิพิธภัณฑ์   ทิวทัศน์ชนบท  และสถานที่สร้างความบันเทิงยุคใหม่ 

สถาบันระบุว่า ดัชนีชี้วัดนี้ช่วยให้ผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวสามารถศึกษาความชอบของกลุ่มลูกค้า เพื่อปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ และยังเป็นข้อมูลอ้างอิงให้นักท่องเที่ยวในการเลือกสถานที่ท่องเที่ยวอีกด้วย

สำหรับ “พระราชวังต้องห้าม” กรุงปักกิ่ง ถือเป็น 1 ใน 4 ของสิ่งก่อสร้าง “ที่สุดในโลก” ซึ่งหากนับมาถึงปัจจุบันมีอายุครบ 600 ปี  หลังผ่านช่วงเวลาที่เป็นวังหลวงตั้งแต่กลางราชวงศ์หมิง จนถึงราชวงศ์ชิง การก่อสร้างพระราชวังต้องห้ามใช้เวลา 14 ปี  โดยสร้างอยู่บนพื้นฐานพระราชวังเมือง “ต้าตู” ของราชวงศ์หยวน เมื่อรัชสมัยพระเจ้า “หย่งเล่อ”  เป็นที่รวบรวมสติปัญญาและความสามารถของประชาชนจีนในสมัยเมื่อหลายร้อยปีก่อน ตอนก่อสร้างใช้คนงาน 1,000,000 คน และช่าง 100,000 คน

เซี่ยงไฮ้ ดิสนีย์แลนด์

ความสามารถในการก่อสร้างพระราชวังที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ได้นั้น สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาระดับสู งและเทคนิคทางด้านนวัตกรรมของประชาชนสมัยโบราณของจีนอย่างชัดเจน  การก่อสร้างพระราชวังต้องห้ามต้องใช้ต้นไม้จำนวนมาก  ส่วนใหญ่มาจากทางภาคใต้ของจีน เช่น มณฑลเสฉวน มณฑลกวางสี  มณฑลกวางตุ้ง  มณฑลยูนนาน  และมณฑลกุ้ยโจว ประชาชนจำนวนมากมายพากันตัดและขนส่งไม้จากภูเขาและป่าไม้ธรรมชาติ มายังสถานที่ก่อสร้าง ส่วนวัสดุที่เป็นหิน ส่วนใหญ่ได้มาจากชานเมืองและเขตภูเขา ที่ห่างจากกรุงปักกิ่งประมาณ 200-300 กิโลเมตร  หินบางชิ้นนั้นมีน้ำหนักหลายสิบตันหรือหลายร้อยตัน เช่น บันไดหินที่อยู่ข้างหลังพระตำหนัก “เป่าเหอเตี้ยน” ก็คือหินแกะสลักรูป ” 9 มังกรดั้นเมฆ” ซึ่งก้อนหนึ่งมีน้ำหนักประมาณ 250 ตัน

หลังจากพระราชวังต้องห้ามสร้างแล้วเสร็จ ในช่วง 500 กว่าปีของราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง มีจักรพรรดิของทั้งสองราชวงศ์ทั้งหมด 24 พระองค์ เคยประทับอยู่ที่นี่  เป็นศูนย์กลางของอำนาจสูงสุดในทั้งสองราชวงศ์ ประวัติศาสตร์กว่า 500 ปีของพระราชสำนักราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง  ซึ่งรวมถึงการเคลื่อนไหวของจักรพรรดิและพระมเหสี  ระบอบชนชั้น การต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจ การเซ่นไหว้บูชาทางศาสนา ล้วนเกิดขึ้นภายในสถานที่แห่งนี้  สมัยนั้น ชาวบ้านธรรมดาแม้เพียงเดินใกล้ชิดกำแพงพระราชวังต้องห้าม ก็นับเป็นการทำผิดกฎหมาย  เนื่องจากพระราชสำนัก เป็นใจกลางการปกครองประเทศสูงสุดของระบอบศักดินาที่มีความสมบูรณ์ในระดับสูง  ในสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง เหตุการณ์สำคัญๆ มักจะเกิดขึ้นโดยเกี่ยวข้องถึงการสืบทอดราชสมบัติ และอำนาจของจักรพรรดิเสมอ

เมื่อปี ค.ศ. 1911 เกิดการปฏิวัติ “ซินไฮ่” โค่นอำนาจราชวงศ์ชิงลง  ความจริงแล้วพระราชวังต้องห้าม ต้องตกเป็นของรัฐ  แต่ “เงื่อนไขให้สิทธิพิเศษแก่พระบรมวงศานุวงศ์ของราชวงศ์ชิง” กำหนดไว้ ว่า อ้ายซินเจวียหลัว ผู่อี๋ (ฟูยี)จักรพรรดิองศ์สุดท้ายของราชวงศ์ชิง ผู้สละราชสมบัติได้รับการอนุญาตให้  “อยู่ในวังในของพระราชวังต้องห้ามชั่วคราว”  หลังจากนั้น อ้ายซินเจวียหลัว ผู่อี๋ ก็อยู่ในวังนี้ต่ออีก 14 ปี  จนถึงปี ค.ศ. 1924  จอมพลเฝิง ยู่เสียง  ก่อ “การรัฐประหารปักกิ่ง”  ไล่อ้ายซินเจวียหลัว ผู่อี๋ ออกจากพระราชวังต้องห้าม  ทั้งจัดตั้ง “คณะกรรมการจัดการกิจการพระราชสำนักราชวงศ์ชิง” รับมือบริหารพระราชวังต้องห้ามต่อไป

หลังจากอ้ายซินเจวียหลัว ผู่อี๋  ถูกไล่ออกจากพระราชวังต้องห้ามไปแล้ว  แต่ฝั่งทาง “ต้วน ฉีรุ่ย” และพวกอดีตข้าราชการระดับสูงของราชวงศ์ชิง พากันวางแผนเชิญอ้ายซินเจวียหลัว ผู่อี๋ กลับพระราชวังต้องห้ามอีกครั้ง และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีเช่นนี้อีก  เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1925  รัฐบาลจีนในขณะนั้นได้จัดตั้ง “พิพิธภัณฑ์กู้กง” ขึ้น อย่างเป็นทางการ และเปิดให้เข้าชมด้วย  หลังจากปี ค.ศ. 1925  พระราชวังต้องห้ามจึงเรียกว่า “กู้กง” หรือ “พระราชวังโบราณ” เนื่องจากพระราชวังต้องห้ามขาดการดูแล โดยเฉพาะในช่วง 38 ปีก่อนปี ค.ศ. 1949  สิ่งก่อสร้างต่างๆ เสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ พระที่นั่งพังไปหลายแห่ง กองขยะก็ทับถมเหมือนภูเขา

ต่อมาปี ค.ศ. 1949 มีการสถาปนา “สาธารณรัฐประชาชนจีน”  พอถึงปี ค.ศ. 1961 คณะรัฐมนตรีจีนได้กำหนดให้พระราชวังต้องห้ามเป็น “โบราณสถานที่ต้องอนุรักษ์เป็นพิเศษระดับชาติ”  ในช่วงทศวรรษที่ 1950-1960 จึงมีการบูรณะซ่อมแซมขนาดใหญ่ และในปี ค.ศ. 1987  องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) กำหนดให้พระราชวังต้องห้ามเป็น “มรดกวัฒนธรรมโลก” โดยมีชื่อปัจจุบันว่า “พิพิธภัณฑ์กู้กง”