แนะพ่อแม่เข้มโภชนาการ ห่วงเด็กเสี่ยงอ้วนช่วงปิดเทอม

Health สุขภาพดีๆ
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข หวั่นปิดเทอม เด็กใช้เวลาว่างไปกับเกมคอมพิวเตอร์ เล่นโทรศัพท์ ดูโทรทัศน์เป็นเวลานาน กินอาหารไม่มีประโยชน์และไม่ขยับร่างกาย เสี่ยงโรคอ้วน แนะพ่อแม่ ผู้ปกครอง คุมเข้มทั้งด้านโภชนาการและส่งเสริมให้เด็กเคลื่อนไหวออกกำลังกายมากขึ้น

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ช่วงปิดเทอมพฤติกรรมการบริโภคอาหารของเด็กอาจเปลี่ยนไป โดยส่วนใหญ่เด็กจะเลือกกินอาหารที่มีแป้ง น้ำตาล ไขมัน รวมทั้ง อาหารขยะหรือ JUNK FOOD ในปริมาณมากเกินไป และใช้เวลาว่างส่วนใหญ่ไปกับการดูโทรทัศน์ เล่นเกมคอมพิวเตอร์ มากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน มีการเคลื่อนไหวหรือออกกำลังกายน้อยลง ทำให้ร่างกายได้รับพลังงานมากเกินไปและมีการเก็บสะสมในรูปไขมัน 

ทำให้เป็นโรคอ้วนได้ พ่อแม่ ผู้ปกครอง จึงต้องใส่ใจสุขภาพเด็กเป็นพิเศษ โดยเฉพาะด้านโภชนาการและการออกกำลังกาย ควรจัดอาหารให้มีคุณค่าและถูกหลักโภชนาการ ทั้งปริมาณและความเหมาะสมกับวัย โดยกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และหลากหลาย เน้น ผัก ผลไม้ นมสดรสจืด และ ไข่ เพื่อเสริมสร้างการเจริญเติบโตทั้งร่างกายและสมอง ใน 1 วัน เด็ก (อายุ 6 -14 ปี) ควรได้รับพลังงานเฉลี่ย 1,600 กิโลแคลอรี โดยกิน ข้าวหรือแป้ง 8 ทัพพี เนื้อสัตว์ 6 ช้อนกินข้าว ผัก 12 ช้อนกินข้าว นม 2 แก้ว ผลไม้ 6 – 8 ชิ้นพอดีคำทุกมื้อ หากเด็กไม่ชอบกินผัก ให้เลือกผักรสชาติไม่ขม อาจสับละเอียดเข้ากับอาหารเพื่อฝึกให้เด็กได้กินผัก โดยพ่อแม่ ควรเปิดโอกาสให้เด็กเสนอเมนูอาหารที่ชอบในแต่ละวัน ฝึกให้เด็กช่วยปรุงอาหารเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม และฝึกเด็กให้กินอาหารตรงเวลาไม่กินจุบจิบ ไม่กินขนมก่อนกินอาหารมื้อหลัก เพราะจะทำให้อิ่มจนไม่สามารถกินอาหารมื้อหลักได้ สำหรับอาหารว่าง ควรเป็น ผลไม้สด ขนมไทยรสหวานน้อย หลีกเลี่ยงอาหารทอด อาหารรสจัด ขนมกรุบกรอบ และให้ดื่มน้ำสะอาด 6 – 8 แก้วต่อวัน

“ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรเพิ่มกิจกรรมทางกายและส่งเสริมให้ออกกำลังกาย เช่น การเล่น วิ่ง กระโดดเชือก กระโดดโลดเต้น จนเหนื่อยหอบ อย่างน้อย 60 นาทีทุกวัน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงและ ความอ่อนตัวของกล้ามเนื้อ แต่ต้องอยู่ในความดูแลของผู้ใหญ่เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุขณะออกกำลังกายด้วย ซึ่งช่วงเวลานี้พ่อแม่อาจหยุดทำงานอยู่กับบ้าน สามารถเพิ่มกิจกรรมการออกกำลังกายร่วมกันในครอบครัว และในบริเวณบ้าน นอกจากนี้ต้องให้เด็กนอนหลับสนิทเพียงพอ วันละ 9–11 ชั่วโมง เพื่อช่วยพัฒนาสมรรถภาพหัวใจ สมอง การเจริญเติบโต ให้สมวัย สูงสมส่วน และแข็งแรง ทั้งนี้ จากสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (COVID-19) พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรให้เด็กอยู่บ้าน หลีกเลี่ยงการเดินทางไกลหรือไปต่างจังหวัด แต่หากจำเป็นต้องให้เด็กสวมหน้ากากผ้าและหมั่นล้างมือบ่อยๆ เพื่อลดความเสี่ยง” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ภาพและข้อมูลจาก กรมอนามัย