เมืองหลวงควันและฝุ่นมากมาย ชวนมาปลูกต้นไม้กรองอากาศแบบธรรมชาติกันดีกว่า!!

Tips & Tricks สารพันเกร็ดน่ารู้

อากาศที่ชวนป่วยในเมืองหลวงขณะนี้ คงจะหนีไม่พ้นปัญหามลภาวะทางอากาศที่เกาะกุมผืนฟ้าอย่างค่าฝุ่น PM 2.5 ที่มีขนาดเล็กมากจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ซึ่งเกินระยะปลอดภัยไปมากจนเข้าขั้นอันตรายที่อาจส่งผลเรื่องสุขภาพปอดในระยะยาวได้ในอนาคต จนทำให้เวลาออกจากบ้านทีไร เป็นต้องใส่หน้ากากอนามัยหนีฝุ่นกันเลยทีเดียว เปรียบเสมือนหน้ากากอนามัยเป็นอวัยวะที่ 33 ของมนุษย์เราไปแล้ว

หรือแม้แต่ฝุ่นละอองขนาดจิ๋วที่มักจะชอบอาศัยอยู่บนตู้เสื้อผ้า เตียงนอน พื้นที่มิดชิดที่สุดอย่างห้องเก็บของที่ปะปนอยู่ในอากาศภายในบ้านของเราเอง บวกกับภาระหน้าที่จากงานที่อาจจะยุ่งเหยิงจนทำให้ละเลยการดูแลสุขภาพของตัวเองไป

แต่เราสามารถกู้วิกฤตบ้านของเราให้กลับมาเป็นบ้านที่เต็มไปด้วยอากาศบริสุทธิ์ได้ง่ายมากค่ะซิส ซึ่งวิธีลดมลภาวะเป็นพิษนี้ ก็ง่ายแสนง่าย นั่นก็คือการสร้างเครื่องกรองอากาศแบบธรรมชาติ ด้วยการปลูกต้นไม้ภายในบ้านเพื่อลดการเกิดฝุ่นนั่นเองจ้า

เราจึงคัดสรร ต้นไม้ 6 สายพันธุ์ ที่ไม่ได้มีประโยชน์แค่ปลูกประดับ ตกแต่งเพื่อความสวยงาม แต่ยังช่วยดูดซับฝุ่นละออง ฟอกอากาศและเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่บ้านของเรามาฝากกันจ้า

1.ลิ้นมังกร

ลิ้นมังกรเป็นพืชที่มีลักษณะโดดเด่นที่ใบสวยงามแปลกตา ปลูกได้ทั้งภายนอกอาคาร และปลูกลงในกระถางเพื่อประดับภายในอาคารและบ้านเรือน ถึงแม้จะเป็นพืชที่โตช้าแต่ก็ปลูกง่ายและมีความทนทาน ลิ้นมังกรจะมีหลายชนิด เช่น ลิ้นมังกรสั้น ลิ้นมังกรยาว ลิ้นมังกรลาย หรือเรียกว่าหอกพระอินทร์ ลิ้นมังกรมีลำต้นเป็นหัวหรือเหง้าอยู่ใต้ดิน ใบโผล่พ้นดินเป็นใบยาวแหลมคล้ายหอกแข็งตั้งตรงสูงประมาณ 1 เมตร ใบสีเขียว มีลายตามแนวขวาง ลิ้นมังกรยาวจะมีสีเหลืองบริเวณขอบใบเป็นแนวยาว ดอกมีสีขาวอมเขียว

ถึงแม้คุณสมบัติในการดูดสารพิษของลิ้นมังกรจะไม่มากนัก แต่คุณสมบัติเด่นของลิ้นมังกรอยู่ที่เป็นพืชที่คายออกซิเจนออกมาตอนกลางคืนและดูดคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไป จึงเหมาะที่จะปลูกไว้ในห้องนอน และเป็นพืชที่ปลูกง่าย ทนทาน แม้มีแสงน้อย และขาดน้ำเป็นเวลาหลายวัน ไม่ค่อยพบโรคและแมลงรบกวน

การปลูก สามารถขยายพันธุ์โดยการตอนกิ่งและแยกหน่อหรือตัดใบเป็นท่อนๆ แล้วปักชำ ชอบดินร่วนซุย ใช้ดินร่วน 3 ส่วน ทราย 1 ส่วน ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก 1 ส่วน เศษใบไม้ผุ 1 ส่วน
การดูแล ต้องการแสงพอสมควร ต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง ควรใช้ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกละลายต้องการน้ำปานกลาง รดน้ำเดือนละครั้ง และเปลี่ยนกระถางปีละครั้ง

2. งาช้างบอนเซล

งาช้างบอลเซล (Sansevieria boncellensis) อยู่ในพืชสกุลลิ้นมังกร (Sansevieria) เป็นพืชอวบน้ำประเภทใบเลี้ยงเดี่ยว ลำต้นเป็นเหง้า หรือไหลอยู่ใต้ดิน จะมีปล้องสั้นและอวบอ้วน ลักษณะใบกลม มีความสูงถึง 40-50 ซม. และมีเส้นใบขนานไปตามแนวยาว ตั้งแต่โคนกาบใบไปจนจรดปลายใบ ภายในใบจะเก็บสะสมน้ำไว้จำนวนมาก ทำให้มีความทนทานต่อความแห้งแล้งได้เป็นเวลานาน

มีคุณสมบัติเด่น คือ สามารถกำจัดสารมลพิษในอากาศได้อย่างดีเยี่ยม โดยพบว่าการปลูกต้นไม้ในอาคารเป็นวิธีการกรองอากาศที่รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพในการลดมวลสารอันตราย อีกอย่างงาช้างบอลเซลยังมีความทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดี ทนทานต่อโรคและแมลง ที่สำคัญการปลูกเลี้ยงและดูแลรักษาง่าย เนื่องจากลำต้นเทียมหรือใบมีลักษณะโดดเด่นต่างกับพืชอื่น รวมถึงดอกที่ออกเป็นช่อสวยงาม จึงนิยมปลูกเป็นไม้ประดับทั้งปลูกในกระถาง และปลูกในแปลงจัดสวน หรือจะดัดบิดเป็นเกลียวพันหลายต้นเข้าด้วยกันก็เก๋ไปอีกแบบ

นอกจากจะปลูกเพื่อดูดสารพิษในบ้านแล้ว เรายังสามารถปลูกเพื่อเสริมความปัง ความเฮงให้แก่บ้านของเราก็ย่อมได้ ด้วยความเชื่อที่ว่าเป็นว่านที่ช่วยเสริมความเป็นสิริมงคลแก่คนในครอบครัว ถ้าเปิดร้านค้าก็ช่วยให้ผู้คนเข้าร้านมากขึ้น ทำให้ทำมาค้าขายร่ำรวย

 

การปลูก ขยายพันธุ์ด้วยการแตกเหง้าใหม่ ใช้วิธีแยกเหง้าปลูกด้วยการขุดแยกเหง้าอ่อนออกมาแยกปลูกเป็นต้นใหม่ ส่วนการปลูกในกระถาง จำเป็นต้องใช้วัสดุปลูกที่ผสมระหว่างดินกับวัสดุอินทรีย์ อาทิ ปุ๋ยคอก แกลบดำ อัตราส่วนผสมประมาณ 1:3 – 5 เพื่อให้มีอินทรีย์วัตถุมาก เพราะว่านงาช้างเป็นพืชที่เติบโตได้ดี มีลำต้นสวยงามหากดินมีความร่วนซุย และดินมีอินทรียวัตถุสูง รวมถึงดินมีความชื้นตลอดเวลา

การดูแล รดน้ำสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ส่วนการให้อาหารแก่งาช้างบอลเซล เราควรให้ปุ๋ย ที่เป็นปุ๋ยสูตรเสมอ 16-16-16 อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

3.กวักมรกต

ต้นกวักมรกต เป็นต้นไม้ที่มีการตั้งชื่อที่เป็นมงคล เหมาะสำหรับนำมาประดับเป็นต้นไม้ในบ้าน และในออฟฟิศ เพราะสามารถอยู่ได้ในที่แสงน้อย ลักษณะลำต้นเป็นหัวอยู่ใต้ดิน แท่งใบเหนือดิน ก้านใบอวบน้ำ ใบประกอบใบย่อย ผิวใบเรียบมัน ออกดอกเป็นแท่ง ช่อดอกคล้ายดอกเดหลี ลำต้นแตกกอง่ายและมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เป็นไม้ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในต่างประเทศ ในการตกแต่งในบ้านและสำนักงาน ไม่ค่อยพบปัญหาแมลงรบกวน แต่จะมีปัญหาโรคหัวและรากเน่า ถ้ารดน้ำมากเกินไป

นอกจากจะปลูกไว้ประดับตกแต่งแล้ว กวักมรกตยังเป็นไม้ประดับที่ช่วยกรองอากาศและดูดสารพิษได้ดี จึงเป็นไม้ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

การปลูก ปลูกโดยใช้ดินทั่ว ๆ ไป ผสมทราย แกลบดำ ขี้เถ้าดำผสมมะพร้าวสับ และสามารถขยายพันธุ์ได้ 2 วิธี คือ การแยกหน่อปลูก และการปักชำใบ โดยตัดใบมาปักชำในน้ำ สักระยะหนึ่งที่โคนใบจะเห็นเป็นก้อนกลม หรือเกือบกลมมีสีขุ่นและมีรากออกมา เมื่อรากงอกออกมาสักระยะหนึ่งก็นำไปปักชำในดินได้ค่ะ

การดูแลรักษา รดน้ำไม่ต้องมากนัก แต่ควรใช้ปุ๋ยละลายน้ำรดเดือนละครั้ง

4.คลีบปลาวาฬ

คลีบปลาวาฬ เป็นไม้อยู่ในสกุลเดียวกับต้นลิ้นมังกร แต่จะมีลักษณะใบที่ใหญ่มากหลายเท่า ประมาณหนึ่งฟุต เป็นไม้ที่มีเหง้าและไหลใต้ดินเช่นเดียวกับต้นลิ้นมังกร ลักษณะใบแข็ง มีลาย คล้ายครีบปลาวาฬ ซึ่งเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ปลูกแล้วมีคุณค่าพิเศษช่วยฟอกอากาศให้บริสุทธิ์ได้รวดเร็วกว่าปลูกต้นไม้ชนิดใด ๆ อีกด้วย

ปลูกได้ในดินทั่วไป เป็นไม้ชอบแดดจัด ทนแล้งได้ดีมาก ไม่ชอบน้ำท่วมขังอย่างเด็ดขาด นิยมปลูกลงกระถางขนาดใหญ่ ตั้งประดับในที่มีแสงแดดส่องถึงตลอดทั้งวัน รดน้ำพอชุ่ม 3-4 วัน/ครั้ง ปุ๋ยที่ชอบคือปุ๋ยคอกหรือขี้วัวขี้ควายแห้งโรยบาง ๆ ตามหน้าดินรอบโคนต้น 15 วันครั้ง จะทำให้ต้นแข็งแรงมีใบสวยงามแบบไม่ขาดและจะมีต้นใหม่แทงขึ้นเรื่อย ๆ

ลักษณะเด่นของต้นครีบปลาวาฬ คือเป็นไม้ฟอกอากาศเช่นเดียวกับต้นลิ้นมังกร สามารถปลูกได้ในห้องนอนเช่นกัน เพราะต้นครีบปลาวาฬจะคายออกซิเจนในเวลากลางคืน

การปลูก ปลูกได้โดยใช้ดินร่วนทั่วไป หรือจะให้ดีแนะนำให้ปลูกด้วยดินใบก้ามปู รองก้นกระถางด้วยมะพร้าวสับ รดน้ำสองสามวันครั้งก็พอ เป็นไม้ชอบแดดจัด สำหรับวิธีการขยายพันธุ์ ก็รอให้เหง้าที่อยู่ใต้ดินแตกออกมา และขึ้นเป็นใบอ่อน จากนั้นก็สามารถตัดและแยกเหง้ามาปลูกเป็นต้นไม้ได้เลย

การดูแล ให้ปุ๋ยอย่างน้อย 2-3 ครั้ง/เดือน ควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยขี้วัวก็ได้

5. ฟิโลหูช้าง

ฟิโลหูช้าง เป็นสายพันธุ์เดียวกับ ฟิโลเดนดรอนต่าง ๆ ที่มีความหลากหลายและมีความโดดเด่นในเรื่องของใบ ทั้งรูปฟอร์มใบและสีสัน จึงเป็นพันธุ์ไม้ใบหรือไม้ประดับที่ดูทรงต้นและใบมากกว่าที่จะดูดอก

ฟิโลหูช้างนี้มีจุดเด่นตรงที่มีขนาดใบค่อนข้างใหญ่ สีเขียวเป็นมันสวยงาม จึงนิยมตัดใบไปใช้ในการจัดแจกันไม้ดอก ความสูงของต้นเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 1 เมตร นิยมปลูกเป็นไม้กระถาง สามารถปลูกได้ทั้งภายนอกและภายในอาคาร ในที่ที่มีแดดรำไรหรือเพียงครึ่งวัน หรือที่แสงพอประมาณ เป็นพันธุ์ไม้ที่ปลูกและดูแลรักษาง่าย ต้องการความชื้นสูง ควรรดน้ำทุกวัน(เพราะเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก) ใส่ปุ๋ยบำรุงเดือนละครั้ง

ฟิโลหูช้างมีประสิทธิภาพในการคายความชื้นสูงเนื่องจากมีขนาดใบใหญ่ และมีอัตราการดูดสารพิษปานกลาง

การปลูก ดินปลูกควรใช้ ดินร่วน 2 ส่วน ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกเก่า 1 ส่วน ใบไม้ผุ 1 ส่วน ทรายหยาบ 1 ส่วน เมื่อปลูกแล้วให้ใช้ไม้หลักที่หุ้มด้วยกาบมะพร้าวปักไว้ตรงกลางกระถางเพื่อเป็นที่ยึดเกาะของราก ใช้ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกละลายน้ำรดเดือนละครั้ง ส่วนการขยายพันธุ์สามารถทำได้โดยการเพาะเมล็ด และปักชำยอด

การดูแล เป็นพืชต้องการร่มเงาและต้องการแสงเพียง 50-60 เปอร์เซ็นต์ ต้องการความชื้นสูง รดน้ำพอชุ่มอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยวันละหนึ่งครั้ง

6. ฟิโลใบหัวใจ

ฟิโลใบหัวใจเป็นพันธุ์ไม้เลื้อยที่เป็นที่นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับภายในอาคารชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะปลูกในกระถางแขวน ให้ห้อยย้อยลักษณะเดียวกับพลูด่าง แต่สวยงามด้วยใบสีเขียวเป็นมันและมีรูปคล้ายหัวใจ เป็นพืชที่ปลูกง่าย ทนทาน

ฟิโลใบหัวใจเป็นไม้เลื้อยที่มีเถาทอดเลื้อยไปตามสิ่งยึดเกาะ เถากลม และแบ่งออกเป็นข้อ ๆ แต่ละข้อจะมีรากงอกยาวออกมาเพื่อยึดเกาะและดูดซึมอาหาร ใบอ่อนจะแตกออกจากปลายยอด และถ้าหากหมั่นเด็ดยอดจะแตกออกเป็นทรงพุ่มมากขึ้น เจริญเติบโตได้แม้ในที่อับแสง ไม่ต้องการน้ำมากนัก ดังนั้นในห้องที่มีอากาศแห้งฟิโลใบหัวใจจะโตช้า เป็นพืชที่มีอัตราการคายความชื้นและอัตราการดูดสารพิษ ในระดับปานกลาง

การปลูก ปลูกได้ดีในดินร่วนซุย ส่วนผสมของดินใช้ดินร่วน 2 ส่วน ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก 1 ส่วนและสามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยวิธีการนำกิ่งมาปักชำ

การดูแล เป็นพืชที่ปลูกง่าย ไม่ต้องการแสงมาก ต้องการน้ำปานกลาง รดน้ำสัปดาห์ละ 1-2 ครั้งก็เพียงพอ แต่ต้องการความชื้นสูง จึงควรฉีดละอองน้ำให้บ่อย ๆ โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศแห้ง ใช้ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกละลายน้ำรดให้เดือนละครั้ง ใช้ฟองน้ำหรือผ้าหมาดเช็ดทำความสะอาดใบเพื่อกำจัดฝุ่นละอองจะทำให้เจริญเติบโตดีขึ้นและดูสวยงาม

ไม่ใช่เพียงต้นไม้ 6 ชนิด ที่เราได้นำเสนอไปเท่านั้นนะคะ แต่เมื่อขึ้นชื่อว่า ต้นไม้ ก็ล้วนมีคุณสมบัติดูดซับก๊าซคาร์บอนไดร์ออกไซด์และคายออกซิเจนด้วยกันทั้งนั้น

เมื่อเราปลูกต้นไม้ช่วยดักฝุ่นในบ้านแล้ว ก็อย่าลืมรดน้ำไล่ฝุ่น เช็ดคราบสกปรกที่เกาะอยู่ตามใบไม้ด้วยนะคะ เพราะด้วยธรรมชาติต้นไม้ไม่ได้ดูดสารอาหารทางรากเพียงอย่างเดียว แต่ยังรับสารอาหารทางใบและทางอากาศได้อีกด้วย