การยกเลิกคำว่า ‘ลาว’ ถึงกำเนิดของคำว่า ‘อีสาน’ และภาคอีสานนิยมในไทย

Culture ศิลปวัฒนธรรม
การแห่ปราสาทผึ้งของชาวบ้าน ที่เมืองนครพนม พ.ศ.2449(ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ช่วงนี้เกิดการถกเถียงและกระแสดราม่าเกี่ยวกับเรื่องคนอีสาน จึงอยากนำบทความที่น่าสนใจ เกี่ยวกับ เรื่องราวประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับ “อีสาน” มานำเสนอ ในเรื่อง “พ.ศ. 2442 ยกเลิกคำว่า “ลาว” เกิดคำว่า “อีสาน” และภาคอีสานนิยม” เผยแพร่ในเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม นำมาจากหนังสือการเมืองสองฝั่งโขง จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2546 เขียนโดย ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์ บอกถึงที่มาของคำว่า “อีสาน”ไว้อย่างละเอียด ดังนี้

พ.ศ. 2434 ราชสำนักกรุงเทพฯได้รวมหัวเมืองต่างๆ มาเป็นมณฑล แต่ยังไม่ได้จัดเป็นแบบเทศาภิบาล จนถึง พ.ศ. 2437 จึงได้ตั้งเป็นมณฑลเทศาภิบาล  โดยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมี 3 มณฑล คือ

1.มณฑลลาวกลาง พระยาประสิทธิศิลปการเป็นข้าหลวงเทศาภิบาล มีที่บัญชาการมณฑลอยู่ที่เมืองนครราชสีมา ประกอ ด้วย 3 เมือง คือ นครราชสีมา, ชัยภูมิ และบุรีรัมย์

2.มณฑลลาวกาว มีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์เป็นข้าหลวงต่างพระองค์สําเร็จราชการมณฑล มีที่บัญชาการมณฑลอยู่ที่เมืองอุบลราชธานี ประกอบด้วย 7 เมือง คือ อุบลราชธานี, นครจําปาศักดิ์, ศรีสะเกษ, สุรินทร์ ร้อยเอ็ด, มหาสารคาม และกาฬสินธุ์

3.มณฑลลาวพวน มีพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เป็นข้าหลวงต่างพระองค์ ก่อน พ.ศ. 2436 มีหัวเมือง ทางฝั่งซ้ายรวมอยู่ด้วย และมีแคว้นพวนเป็นแคว้นใหญ่ มีเมืองเชียงขวางเป็นเมืองสําคัญ และทรงตั้งชื่อมณฑลลาวพวนตามชื่อ เมืองพวน ภายหลังปี พ.ศ. 2436 เมืองในมณฑลนี้จึงเหลือเพียง 6 เมือง คือ อุดรธานี ขอนแก่น นครพนม สกลนคร เลย หนองคาย ตั้งที่บัญชาการอยู่ที่เมืองอุดรธานี (เดิมอยู่ที่หนองคาย)

นโยบายรวมศูนย์อํานาจดังกล่าวนี้ อํานาจการปกครองตนเองของบรรดาเจ้าเมืองท้องถิ่นเดิม ถูกแทนที่โดยพวกเจ้าและ “ข้าราชการ” ตามระบบใหม่จากส่วนกลาง อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2442 ได้โปรดฯ ให้แก้ไขชื่อมณฑลในอีสานใหม่ ดังเหตุผลที่ สมเด็จกรมพระยาดํารงราชานุภาพได้ทรงอธิบายในนิทานโบราณคดี ไว้ว่า

“ลักษณะการปกครองแต่เดิม นิยมให้เป็นอย่างประเทศราชาธิราช (Empire) อันมีเมืองคนต่างชาติต่างภาษาเป็นเมืองขึ้นอยู่ในพระราชอาณาเขต จึงถือว่าเมืองชายพระราชอาณาเขต มณฑลนั้นเป็นเมืองลาว และเรียกชาวเมืองซึ่งอันที่จริงเป็นชนชาติไทยว่าลาว แต่ลักษณะการปกครองอย่างนั้นพ้นเวลาอันควรแล้ว ถ้าคงไว้จะกลับให้โทษแก่บ้านเมือง จึงทรงพระราชดําริให้แก้ไขลักษณะการปกครองเปลี่ยนเป็นอย่างพระราชอาณาเขต (Kingdom) ประเทศ ไทยรวมกัน” [เน้นคําโดยผู้วิจัย]

จึงโปรดเกล้าฯ ประกาศให้เรียกชื่อตามทิศและตามพื้นที่ ให้เป็นระเบียบเดียวกัน คือ มณฑลลาวกลาง เรียกว่า มณฑลนคร ราชสีมา, มณฑลลาวพวน เรียกว่า มณฑลฝ่ายเหนือ ต่อมาปี พ.ศ. 2443 เรียกว่ามณฑลอุดร ส่วนมณฑลลาวกาวในปี พ.ศ. 2442 นั้น เรียกว่า มณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ และปี พ.ศ. 2443 เรียกว่ามณฑลอิสาน จะเห็นได้ว่า “อิสาน” หรือ “อีสาน” เป็นคําใหม่ที่ราชสํานักกรุงเทพฯ สร้างขึ้นและเริ่มนํามาใช้แทนที่เป็นครั้งแรกในปีดังกล่าว และจะพบว่ามณฑลอิสานหรืออีสานในช่วงนี้ก็คือ การรวมหัวเมืองห้าหัวเมืองเข้าด้วยกัน คืออุบลราชธานี จําปาศักดิ์ ขุขันธ์ สุรินทร์ และร้อยเอ็ด เป็นที่น่าสังเกตว่า คําว่า “อีสาน” และ “ตะวันออกเฉียงเหนือ” ทั้งสองคํานี้ได้ถูกนํามาใช้เรียกแทนคําว่า “ลาว” ที่มีเมืองอุบลฯ เป็นศูนย์บัญชาการ

และต่อมาพบว่า “อิสาน” หรือ “อีสาน” ได้เริ่มถูกนํามาใช้ในการตั้งชื่อพงศาวดารของหัวเมือง แถบนี้ด้วย ดังปรากฏในงานของหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) เรื่องพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน แต่งขึ้นเมื่อครั้งดํารงตําแหน่งปลัดมณฑลอีสานนั้นเคยพิมพ์รวมอยู่ในหนังสือประชุม พงศาวดารภาคที่ 4 และพิมพ์ครั้งแรกในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาศรีสํารวจ (ชื่น ภัทรนาวิก) เมื่อ พ.ศ. 2458

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ราชสํานักกรุงเทพฯ ได้มีความพยายาม สร้างสํานึกแบบใหม่ในอีสานและความพยายามนี้มีผลต่อการลดทอนความเป็นลาวลงด้วย ต่อมาในปี พ.ศ. 2455 ได้ตั้งมณฑลอีกหนึ่งมณฑลคือ มณฑลร้อยเอ็ด โดยแบ่งท้องที่มาจากมณฑลอีสาน ส่วนมณฑลอีสานได้เปลี่ยนชื่อเป็น มณฑลอุบล

นโยบายการรวมอํานาจเข้าสู่ศูนย์กลางนี้ไม่เพียงก่อให้เกิดการสถาปนาความมั่นคงของพระราชอํานาจซึ่งส่งผลต่อนโยบายสร้างชาติแล้ว แต่ยังส่งผลต่อการเกิดสํานึกในท้องถิ่นอีกด้วย (โดยท้องถิ่น ในความหมายนี้เป็นความหมายในเชิงพื้นที่) ดังเช่น ภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 หลวงวรนิติปรีชา ภูมิลําเนาอยู่มณฑลอุดร และได้รับราชการอยู่ที่มณฑลนั้น (ในปี พ.ศ. 2476 ได้รับเลือกเป็น ส.ส. คนแรกของจังหวัดสกลนคร) ได้มีบันทึกความเห็นทางด้านการปรับปรุงการปกครองเกี่ยวกับมณฑลอุดรมายัง เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๔๗๕ ว่า

“…1 การคมนาคม ข้าพเจ้าเห็นว่า ถ้ารัฐบาลสามารถทําได้ ควรต้องให้เริ่มก่อสร้างทางรถไฟจากขอนแก่นไปอุดรธานี และนครพนมโดยทันทีตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป… เพราะทางรถไฟสายอื่นที่จําเป็นรัฐบาลได้ทําเสร็จไปหมดแล้ว เหลืออยู่แต่สายนี้เป็นสายเดียว เท่านั้นเป็นสายสุดท้าย…

2 การศึกษาข้าพเจ้าเห็นว่า ควรจัดตั้งให้ มีการสอนชั้นมัธยม 7-8 ขึ้นที่มณฑลนี้และตามจังหวัดต่างๆ ของมณฑลนี้ควรให้มีถึงชั้นมัธยม 6 ทุกแห่ง เหตุไรจึงว่าดังนั้น ก็เพราะเหตุว่ามณฑลภาคเหนือคือพายัพ มณฑลภาคใต้คือนครศรีธรรมราช รัฐบาลได้จัดให้มีถึงชั้น 8 มานานหลายปีแล้ว จึงนับได้ว่ามณฑลที่ห่างไกลจากกรุงเทพฯ ยังมีเพียงมัธยม 6 ก็แต่อุดรเท่านั้น จึงคิดว่าควรหรือไม่…”

จากข้อความข้างต้นนี้ชี้ให้เห็นได้ประการหนึ่งก็คือ สํานึกท้องถิ่นนิยมที่มีความเกี่ยวพันกับมณฑลที่ตนอยู่อาศัยได้เกิดขึ้น แล้วในอีสานในช่วง พ.ศ. 2475 ซึ่งก่อนหน้านั้นจะพบว่า หน่วยการปกครองส่วนภูมิภาคที่มีขนาดถัดลงไปจากมณฑลเทศาภิบาล ได้แก่ เมือง กล่าวคือก่อนการปฏิรูปการจัดระเบียบการปกครองในสยามประเทศ “เมือง” เป็นหน่วยการปกครองที่มีความสําคัญที่สุดและมีบทบาทมากที่สุด และนับได้ว่าเป็นหน่วยการปกครอง หลักเพียงหน่วยเดียวในการปกครองส่วนภูมิภาค ดังนั้นเมื่อรัฐไทยส่วนกลางได้เข้ามาจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลขึ้น จึงมีผลต่อการเริ่มต้นของสํานึกแบบภูมิภาคนิยม

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการเปลี่ยนแปลงบางประการเกี่ยวกับการจัดส่วนราชการบริหารส่วนภูมิภาค ซึ่งแต่เดิมมามณฑลเทศาภิบาลเป็นหน่วยการปกครองที่ใหญ่ที่สุด แต่การเปลี่ยนแปลงใหม่นี้ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รวมอาณาเขตของมณฑลเทศาภิบาลหลายๆ มณฑลเข้าด้วยกันเป็นเขตการปกครองที่เรียกว่า “ภาค” และในครั้งนี้ก็ได้ทรงประกาศรวมมณฑลอุดร มณฑลร้อยเอ็ด และมณฑลอุบลราชธานี ขึ้นเป็น “ภาคอิสาน” ในปี พ.ศ. 2465 โดยมีอุปราชภาคประจํา และมีที่บัญชาการภาค ณ เมืองอุดรธานี และโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชนิกุลวิบูลยภักดี (อวบ เปาโรหิตย์) เป็นอุปราชภาค

และต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทวีความรุนแรงขึ้น พระองค์จึงทรงปลดข้าราชการ และยุบตําแหน่งทางการปกครองที่ไม่จําเป็นลงเพื่อประหยัดรายจ่ายของแผ่นดิน โดยในปี 2468 พระองค์ทรงประกาศยกเลิกตําแหน่งอุปราชภาค เป็นผลให้การปกครองแบบภาคถูกยุบไปโดยปริยาย พร้อมกันนั้นมณฑลอุบลราชธานี มณฑลร้อยเอ็ดก็ถูกยุบลง การปกครองจังหวัดในมณฑลดังกล่าวไปขึ้นกับมณฑลนครราชสีมา และ ปี พ.ศ. 2476 ได้ยุบมณฑลอุดร และมณฑลนครราชสีมา

อันเป็นผลมาจากในปี พ.ศ. 2476 รัฐบาลได้ออก “พระราชบัญญัติว่าด้วย ระเบียบการบริหารราชการแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2476″ ส่งผลให้ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลสิ้นสุดลง และได้จัดแบ่งการปกครองเป็นจังหวัดต่างๆ แล้วรวมจังหวัดในแต่ละภูมิภาคเข้าเป็นภาค มีผู้ว่าราชการภาคเป็นผู้บริหารสูงสุด ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย ดังนั้นหลัง พ.ศ. 2476 เป็นต้นมาบริเวณที่เคยเป็นมณฑลต่างๆ ในอีสานได้ถูกรวมกันเรียกว่า ภาคอีสาน อีกครั้งหนึ่ง

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า หน่วยการปกครองที่เรียกว่า “ภาค” ในอีสานนั้น ได้รับการสถาปนาขึ้นในปี พ.ศ. 2465 คําว่า “ภาคอีสาน” หรือ “อิสาน” เป็นความหมายใหม่ที่รัฐไทยเป็นผู้สร้างขึ้น ซึ่งมีผลต่อท้องถิ่นนิยมและภูมิภาคนิยมมีความชัดเจนขึ้น และเป็นที่น่าสังเกตว่า สํานึกความเป็น “ภาค” ก่อน พ.ศ. 2475 ก็ได้เริ่มเกิดขึ้น

ดังปรากฏว่า มีผู้ใช้นามว่า “แม่น้ำโขง” เขียนวิจารณ์ เรื่อง “สภาพการณ์แห่งภาคอีสาน” ลงหนังสือพิมพ์ติดต่อกัน โดย เฉพาะในช่วง 8-13 เมษายน พ.ศ. 2472 และถือว่าเป็นงานเขียนเกี่ยวกับภาคอีสานช่วงก่อน พ.ศ. 2475 ที่ดีสุดชิ้นหนึ่งเท่าที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ โดย “แม่น้ำโขง” ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาอีสานหลายด้านด้วยกัน เช่น ธรรมการกับอิสานภาค เสนาบดีกับเทศาฯ ศึกษาพลี กระทรวงเกษตราธิการ พาณิชย์และคมนาคม เป็นต้น

และหากพิจารณาข่าวจากหนังสือพิมพ์ช่วงนั้นก็พบว่า มีคนจากอีสานส่วนหนึ่งได้ไช้เวทีของหนังสือพิมพ์เป็นสื่อ หรือเป็นเวทีในการแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ เช่น ผู้ใช้นามว่า “ณ โคราช” ได้ส่งจดหมายลงในหนังสือพิมพ์หลักเมือง 2 ครั้ง ( 14/6/2471 และ 14/2/2472) ผู้ใช้นามว่า “ชาวบ้านดง” / จังหวัดขอนแก่น เขียนลง ในหนังสือพิมพ์ศรีกรุง 9/32471 เรื่อง “การเกณฑ์แรงงานราษฎร ในจังหวัดขอนแก่นมิได้/เป็นไปตาม พ.ร.บ.เกณฑ์จ้าง” หรือมีผู้ใช้ นามว่า “เสือตะวันออก” เขียนเรื่อง “มหาสารคามงานของเจ้าเมือง” ลงในหลักเมือง 23/3/2471 เป็นต้น

และหากสังเกตก็จะพบ ว่าบุคคลเหล่านี้มีการใช้นามแฝงที่เกี่ยวพันกับท้องถิ่นของตนในการเขียนลงหนังสือพิมพ์ และยังได้เขียนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปกครองที่มีขึ้นในท้องถิ่นของตนอีกด้วย สิ่งเหล่านี้น่าจะแสดงให้เห็นถึงสํานึกในท้องถิ่นและภูมิภาคได้เริ่มมีขึ้นในช่วงนี้แล้ว

อาจกล่าวได้ว่า รัฐมีส่วนอย่างมากในการสร้างนิยามและความหมายของท้องถิ่นนิยมและภูมิภาคนิยม “อีสาน” ให้ชัดเจนขึ้น ส่วนสํานึกในความเป็นภาคหรือภูมิภาคนิยมนั้นจะได้รับการย้ำโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในช่วงหลัง พ.ศ. 2475เป็นต้นไป

เป็นที่น่าสังเกตว่า หน่วยการปกครองในเชิงพื้นที่ไม่ว่าจะเป็น หมู่บ้าน เมือง มณฑล และภาคนี้ ล้วนแล้วแต่รัฐเป็นผู้กําหนดขึ้นมาทั้งสิ้น และขณะเดียวกันการจัดการปกครองดังกล่าวนี้ก็ได้ ส่วนในการสร้างสํานึกของความเป็นท้องถิ่นนิยมและภูมิภาคนิยม ได้เช่นกัน


เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ: 22 กรกฎาคม 2562