ผักเสี้ยว มีคุณค่าทางอาหาร เป็นยาดีที่ก่อนเก่าใช้

Health สุขภาพดีๆ

หลายคนที่เคยพบเห็นผักเสี้ยว แล้วเกิดงุนงงสงสัย ว่ามันคือผักอะไร เป็นผักกินได้หรือ ชาวบ้านเอามาวางขายเป็นกองเล็กๆ ในตลาดสดท้องถิ่น จับดูใบอ่อนที่วางขายแล้วสากๆ มือ แต่สีเขียวอ่อนสดใสน่ากิน เขาเด็ดมาเป็นยอดเล็กๆ มีใบยอดละ 3-4 ใบ รูปทรงใบสวยเหมือนปีกผีเสื้อ โคนใบ และปลายเว้าลึกมองเห็นลวดลายเส้นใบชัดเจน ยิ่งตอนรับแสงสว่างจะแลดูอ่อนช้อย โปร่งสว่าง น่าเชยชม และก็จะสับสนเมื่อเห็นยอดอ่อนของต้นไม้อีกอย่าง คือ ชงโค โดยเฉพาะใบยอดเพิ่งแตกยอดใหม่ เหมือนกันมาก แตกต่างกันที่ขนาด เขาเป็นพืชชนิดเดียวกัน

“ผักเสี้ยว” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bauhinia Purpurea Linn.

อยู่ในวงศ์ LEGUMINOSAE

มีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น เสี้ยวดอกแดง เสี้ยวหวาน เป็นต้น ลักษณะของผักเสี้ยว หรือเสี้ยวดอกแดง มีลำต้นชูกิ่งขึ้นสูงหลายเมตร แต่ถ้าหมั่นตัดแต่งให้เป็นพุ่มเอาไว้เด็ดยอดอ่อนสูงประมาณ 1 เมตรเศษๆ กำลังเป็นพุ่มพอเหมาะ แต่ถ้าปล่อยให้ต้นสูงจะเด็ดยอดอ่อนกินลำบากหน่อย ใบสีเขียวเข้ม แต่ใบอ่อน ยอดอ่อน จะมีสีเขียวอ่อนสว่าง โคนใบ ปลายเว้าเข้าหากัน ใบกว้างประมาณ 2-3 นิ้ว ยาว 3-4 นิ้ว ขอบใบเรียบ ดอกออกเป็นช่อ มีกลีบดอกสีชมพูอมม่วงคล้ายกล้วยไม้ จะมีดอกตลอดปี เกสรตัวผู้มี 5 อัน เกสรตัวเมีย 1 อัน ฝักคล้ายฝักถั่วพร้า ยาวประมาณ 4 นิ้ว สามารถขยายพันธุ์ได้โดยนำเมล็ดไปเพาะ ตอนกิ่ง หรือใช้วิธีปักชำก็ได้ มีการนำมาปลูกกันไว้ริมรั้ว ไว้เก็บมาทำอาหาร บางบ้านปล่อยให้สูงมากๆ ที่จริงแล้วต้นผักเสี้ยวจะสูงได้ถึง 7-10 เมตร ทีเดียว ถ้าปล่อยให้สูงยาวมากๆ ลำบากที่ต้องตัดฟันต้นลงมาเอายอดเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าจะปลูกเอาต้นสูงเพื่อเป็นร่มเงาก็ไม่ว่ากัน

ส่วนที่ใช้ทำอาหารคือยอดอ่อน ใบอ่อน ซึ่งจะแตกยอดอ่อนตามกิ่ง ถ้ามีการโน้มหัก หรือตัดแต่งกิ่ง ยอดอ่อนจะแตกออกมามาก ถ้ามีการบำรุงรักษาดูแลให้น้ำให้ปุ๋ยดี สามารถเก็บยอดอ่อนได้ทุกสัปดาห์ บางต้นเก็บยอดได้ 3 วันครั้ง จะเก็บยอดได้มากน้อยขึ้นอยู่กับขนาดทรงพุ่มและการดูแลให้น้ำ ให้ปุ๋ยอินทรีย์ แต่ขอแนะนำไม่ควรใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีใดๆ เพราะว่าโดยธรรมชาติแล้ว นอกจากหนอนใยผักเล็กๆ น้อยๆ ศัตรูพืชอื่นๆ แทบไม่มีเลย ปลอดภัยดีด้วย และอีกประการหากมีการเร่งปุ๋ย ใส่ปุ๋ยเคมี ถ้าเผลอใส่ที่โคนต้นจะทำให้เกิดโรครากเน่า โคนเน่า ได้ง่าย อายุต้นผักเสี้ยวจะสั้นลง ใบยอดอ่อนที่ได้จะอวบน้ำ นำมาทำอาหารไม่อร่อย ผักเสี้ยวเป็นไม้ประเภทผลัดใบ ในช่วงปลายฤดูหนาวหรือที่เรียกกันว่าฤดูแล้ง ต้นเสี้ยวจะทิ้งใบหนาและจะออกใบอ่อน ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ หรืออาจจะล่าไปถึงมีนาคม ถ้าหากหนาวนาน แต่ถ้าได้รับน้ำดีจะมีผลัดใบบ้าง แต่ไม่หมดต้น ก็สามารถบังคับให้ออกยอดใบใหม่ได้ ขึ้นอยู่กับวิธีการ แต่ก็ไม่ควรใช้วิธีบังคับ กดดัน ปล่อยผักเสี้ยวเจริญเติบโตไปอย่างธรรมชาติจะดีกว่า

PA263840-1024x768

ผักเสี้ยว เป็นผักที่ชาวเหนือนิยมรับประทานมาก จะนำยอดใบอ่อนมาทำกับข้าว เช่น แกงผักเสี้ยวใส่ปลาย่าง แกงกับเนื้อ และนิยมแกงรวมกับผักชะอม ผักเชียงดา รสชาติอร่อยมาก นำมาเป็นผักลวกจิ้มน้ำพริก จะสัมผัสกับรสชาติ รู้สึกได้ถึงความหวาน และเชื่อว่าเป็นอาหารบำรุงร่างกายได้ดี เจริญอาหาร ฝีมือแกงผักเสี้ยวของชาวเหนือเป็นสุดยอดเมื่อได้ลิ้มรส

มีคำถามกันในหมู่คนรู้จักว่า ทำไมถึงเรียกว่า “ผักเสี้ยว” ฟังชื่อแล้วน่าจะมีที่มาลึกซึ้งเหมือนคำประพันธ์ของไทย ก็เพราะผักเสี้ยวมีมาจากอินเดียมาไทยนานแล้ว คงมีหลายสายพันธุ์ บ้างก็ต้นสูงใหญ่เป็นชงโค ต้นเล็กแต่ดอกสีขาวอมชมพูเป็นเสี้ยวดอกขาว สัญลักษณ์ต้นไม้ประจำจังหวัดน่าน บ้างก็ออกดอกสีชมพูถึงม่วงเป็นเสี้ยวดอกแดง คือที่ชาวบ้านนำมากินกันเป็น “ผักเสี้ยว” ที่กล่าวถึงอยู่ในขณะนี้ มีเรื่องเล่าขานมาว่า มีมัคนายกวัดหนึ่งสมัยเก่าก่อนโน้น เด็ดเอาใบไม้นี้มา 3 เสี้ยว ตำผสมน้ำที่นึ่งข้าวนำมากรอกปากให้เด็กป่วย เพียง 2 ช้อน เด็กหายป่วย และมีคนนำไปนึ่งจิ้มน้ำพริกกินเป็นกับข้าว อร่อย รสชาติหวาน หอม เลยตั้งชื่อใบไม้ชนิดนี้ว่า “ผักเสี้ยว” ซึ่งคำว่า “ผัก” คือ ใบพืชต่างๆ ที่กินได้ของชาวเมืองเหนือนั่นเอง

ผักเสี้ยวเป็นพืชที่มีความสำคัญ เป็นยาสมุนไพรรักษาคนได้ ใช้กันมาแต่โบราณ ใบแก่ ราก จะมีรสเฝื่อน ใช้แก้ไอ ใบอ่อนกินบำรุงร่างกาย ดอกมีรสเฝื่อนผสมสมุนไพรอื่นๆ รักษาไข้ ดับพิษไข้ เป็นยาระบาย รากนำมาต้มน้ำดื่มขับลม หรือโขลกผสมน้ำดื่มรักษาไข้ เป็นยาระบาย ดอก-แก่นไม้ รักษาโรคบิด หมอพื้นเมืองใช้กับหญิงอยู่ไฟ โดยการถากเปลือกและราก ทุบแช่น้ำข้าวสารเจ้า นำมาลูบหัวและขมับ หรือดื่มแก้ลมมะเฮ็งคต ในด้านคุณค่าทางอาหาร ผักเสี้ยว 100 กรัม ให้พลังงาน 47 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย สารอาหารคาร์โบไฮเดรต 8.2 กรัม โปรตีน 34 กรัม ไขมัน 1.1 กรัม เส้นใย 1.8 กรัม แคลเซียม 46 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 31 มิลลิกรัม เหล็ก 0.3 มิลลิกรัม วิตามิน A, B1, B2, C และไนอะซีน ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์แก่ร่างกายคนเรา

แม้จะมีชื่อว่า “ผักเสี้ยว” แต่คุณสมบัติต่างๆ ทั้งด้านโภชนาการ ด้านเป็นยารักษาโรค ด้านเป็นไม้ประดับที่สวยงาม และจะเป็นพืชพื้นบ้านที่นิยม จะมีปลูกกันเป็นแปลงใหญ่ หรือจะใช้เป็นพืชเพิ่มสีเขียวให้กับชุมชนบ้านเมือง ถึงแม้จะไม่ใช่ไม้ใหญ่มากพอจะสร้างเป็นป่าทดแทนป่าไม้ที่สูญสิ้นไปกับการบ่อนทำลายของมนุษย์ได้ ต้นเสี้ยว ผักเสี้ยว เสี้ยวดอกแดง ก็คงจะอาสาเป็นไม้สีเขียวประดับสังคมไทยต่อไป

ประโยชน์คงไม่มีแค่เพียงเศษเสี้ยว แต่จะเป็นหลายๆ เสี้ยวที่เติมเต็มร้อย หรือแม้จะเป็นแค่เสี้ยวหนึ่งของหัวใจ แต่ก็ขอเป็นเสี้ยวใจที่งดงาม

ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน

ผู้เขียน : อดุลย์ศักดิ์ ไชยราช