จิตอาสา MBK Spirit เก็บขยะปรับภูมิทัศน์ป่าชายเลนปากน้ำประแส ลดขยะสู่ทะเล

Event อีเวนต์

ปัจจุบันขยะในทะเลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุล้วนมาจากมือมนุษย์ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ในท้องทะเล และสัตว์ในทะเลล้มตายจากการกินขยะพลาสติกจำนวนมาก

การใส่ใจอนุรักษ์ระบบนิเวศน์ในท้องทะเลจึงมีความสำคัญ ล่าสุดพนักงานจิตอาสา “MBK Spirit” กว่า 80 ชีวิต จากกลุ่มธุรกิจในเครือ เอ็ม บี เค ผนึกกำลังลงพื้นที่ดูแล สิ่งแวดล้อม ภายใต้กิจกรรม “ขอ 1 วัน ทำดี ปี 2 ณ ปากน้ำประแส จ.ระยอง” เพื่อปรับภูมิทัศน์ป่าชายเลนและชายหาดในชุมชน

นางสาวศตกมล วรกุล ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) เผยว่า ในช่วงปีที่ผ่านมาปรากฏข่าวสัตว์ทะเลหายากล้มตายจากการกินขยะพลาสติก หรือถูกปิดกั้นทางเดินหายใจ โดยขยะที่ลอยอยู่ใต้ท้องทะเลจำนวนมาก กิจกรรม ขอ 1 วัน ทำดี ปี 2 ณ ปากน้ำประแส จ.ระยอง ในครั้งนี้เป็นการรวมพลังของกลุ่มเอ็ม บี เค ที่ต้องการเรียนรู้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชุมชน โดยจุดประสงค์ที่เลือกมาทำกิจกรรมในพื้นที่ปากน้ำประแส เพราะต้องการให้ทุกคน ได้เล็งเห็นความสำคัญของพื้นที่บริเวณปากน้ำอันเป็นปลายทางสุดท้ายก่อนที่ขยะจะหลุดลงสู่ท้องทะเล ว่ามีผลกระทบจากปริมาณขยะมากน้อยเพียงใด และชุมชนมีวิธีปรับตัวเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมในชุมชนอย่างไร 

โดย กิจกรรมเริ่มต้นด้วยการเวิร์คช็อปประดิษฐ์ไม้เก็บขยะ ก่อนแบ่งกลุ่มลงพื้นที่เก็บขยะพลาสติก ที่ตกค้างอยู่ในพื้นที่ป่าชายเลน และชายหาด จากนั้นลงพื้นที่เรียนรู้วิถีชุมชนชายฝั่ง โดยมีกลุ่มรถสามล้อชุมชนประแส พาเหล่าจิตอาสาเข้าไปเยี่ยมเยือนชุมชน ชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบดั้งเดิมไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม อาทิ การทำกะปิยกยอยุทธหัตถ์ หรือ กะปิเคย ด้วยกรรมวิธีธรรมชาติ การทำชาใบขลู่ ชาจากพืชสมุนไพรพื้นบ้านที่พบแถบป่าชายเลนประแส

จากนั้นเหล่าจิตอาสาได้นั่งเรือชมระบบนิเวศน์ป่าชายเลนที่ทำหน้าที่เสมือนรั้วกั้น ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง และเป็นด่านกักเก็บขยะจากเมืองที่กำลังไหลลงสู่ท้องทะเล

ทั้งนี้เดิมทีป่าชายเลน ต.ปากน้ำประแส จ.ระยอง เคยถูกทำลายจากการตัดไม้ชายเลนมาเผาเป็นถ่าน โดนบุกรุกพื้นที่ทำบ่อเลี้ยงกุ้ง จนกระทบทั้งชายฝั่งและระบบนิเวศน์ ต่อมาชาวบ้านได้ร่วมมือกันรณรงค์ลดการทำลายชายฝั่ง และฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ดังเดิม อันมีทุ่งโปรงทอง กำแพงธรรมชาติที่ช่วยป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง สีทองอร่ามเป็นเครื่องชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ในพื้นที่แห่งนี้

P1030681
P1030716
P1030736
P1030751
P1030766
P1030611