5วิธี’ลอยกระทง’ คอนเซ็ปต์รักษ์โลก

Tips & Tricks สารพันเกร็ดน่ารู้

ไม่ว่าจะคิดเล่น ๆ หรือคิดจริงจัง ไอเดียลอยกระทงทางเลือกที่มีเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งลดปริมาณขยะจากวัสดุทำกระทงและลดการสร้างมลพิษในแหล่งน้ำ ล้วนเป็นความคิดที่น่าสนใจ และอาจนับได้ว่าเป็นความกล้าได้ด้วย เพราะในแง่หนึ่งนี่คือการปรับเปลี่ยนประเพณีและวิถีที่ปฏิบัติกันมายาวนานให้เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน

จาก “กระทงขนมปัง” ที่นับเป็นกระทงทางเลือกยุคแรก ๆ เพื่อทดแทนกระทงโฟม ไอเดียใหม่ ๆ ในวันลอยกระทงยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง

แม้จะมีทางเลือกใหม่ในการลอยกระทง แต่ปริมาณกระทงที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เก็บได้หลังเทศกาลในรอบ 5 ปี ยังคงเฉียด 1 ล้านใบทุกปี โดยกว่าร้อยละ 90 เป็นกระทงที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายได้ ทั้งนี้ยังไม่รวมจำนวนกระทงในจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศ

ยกตัวอย่างเทศกาลลอยกระทงปี 2561 กทม. จัดเก็บกระทงได้ 841,327 ใบ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.7 ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายได้ โดยกระทงที่ทำจากโฟมคิดเป็นร้อยละ 5.3

บีบีซีไทยสำรวจไอเดียลอยกระทงแบบรักโลกที่มีการนำเสนอทั้งในสื่อกระแสหลักและสื่อสังคมออนไลน์ หลายแนวคิดเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ยังได้รับการพูดถึงมากในปีนี้ ลองมาดูกันว่ามีแบบไหนเข้าตาคุณบ้าง

1.กระทงข้าวโพดอาหารปลา-กระทงกรวยไอศรีม

กระทงที่ทำจากวัสดุที่เป็นอาหารปลาและสัตว์น้ำยังคงมาแรงในปีนี้ แต่ไม่ใช่กระทงขนมปังที่ดูเหมือนความนิยมจะแผ่วลงไปแล้ว หลังจากนักวิชาการเตือนว่ากระทงขนมปังใช่ว่าจะดีต่อสิ่งแวดล้อม เพราะแป้งที่อยู่ในน้ำนาน ๆ อาจทำให้น้ำเน่าได้ ต้องแน่ใจว่าแหล่งน้ำนั้นมีปลาจำนวนมาพอที่จะกินกระทงขนมปังหมด

ไอเดีย “กระทงกินได้” ที่คนสนใจกันมากในปีนี้คือกระทงที่ทำจากข้าวโพดอาหารปลาหลากสีสัน ซึ่งมาโด่งดังหลังจากเยาวชนวัย 15 ปีที่ประดิษฐ์กระทงจากข้าวโพดอาหารปลาเป็นรูปใบหน้าคาแรคเตอร์การ์ตูนยอดฮิต แต่กลับโดนผู้ที่อ้างว่าเป็นตัวแทนบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนแจ้งความ แม้ยังไม่รู้ว่าเรื่องนี้จะจบอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่รู้แน่คือไอเดียการนำข้าวโพดอบกรอบสำหรับเลี้ยงปลา ซึ่งใส่สีผสมอาหารหลากสีสดใส ได้กลายเป็นที่นิยม ถึงขนาดร้านขายอาหารปลาบางแห่งบอกว่าสั่งสินค้ามาขายไม่ทันกันเลยทีเดียว

กระทงอาหารสัตว์ที่กำลังเป็นที่นิยมอีกแบบ คือ กระทงที่ทำจากกรวยไอศกรีม หนึ่งในกลุ่มผู้ประดิษฐ์กระทงชนิดนี้ คือ กลุ่มผู้สูงอายุแห่งเทศบาลโพธิ์ประทับช้าง อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร พวกเธอบอกว่ากระทงจากกรวยไอศกรีมนอกจากสวยงามแล้วยังเป็นอาหารของสัตว์น้ำได้อีกด้วย

กระทงกรวยไอศกรีมที่วางขายในร้านค้าออนไลน์มีหลายราคา ตั้งแต่ 40-300 บาท

 

2.กระทงน้ำแข็ง

“เอาน้ำใส่ขัน ใส่ดอกไม้ที่ชอบ เอาไปแช่ช่องฟรีซตู้เย็นไว้หนึ่งคืน เท่านี้เราก็จะได้กระทงน้ำแข็ง ช่วยลดขยะ ช่วยลดโลกร้อน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” เป็นข้อความที่ถูกส่งต่อกันในสื่อสังคมออนไลน์พร้อมรูปน้ำแข็งที่มีดอกไม้อยู่ข้างในและปักธูปเทียนอย่างสวยงาม

เช่นเดียวกับกระทงทางเลือกอื่น ๆ กระทงน้ำแข็งเป็นไอเดียที่เกิดขึ้นมา 2-3 ปีแล้ว แต่ยังคงได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นหนึ่งในความคิดดี ๆ ที่จะทำให้ประเพณีไปด้วยกันได้กับการรักษาสิ่งแวดล้อม

ก่อนหน้านี้ ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพัตร นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้สัมภาษณ์มติชนถึงแนวคิดกระทงน้ำแข็งว่า “เป็นแนวคิดที่ดี” เพราะเมื่อน้ำแข็งละลายหมด ก็ไม่มีผลใด ๆ กับแหล่งน้ำ ยกเว้นธูปเทียนที่ใส่ลงไป แต่ก็ถือว่าสร้างขยะน้อยกว่ากระทงชนิดอื่น ๆ ดร.เจษฎาจึงมองว่า กระทงน้ำแข็งเป็นกระทงที่ส่งผลกระทบกับแหล่งน้ำน้อยที่สุด

3.”มาด้วยกัน ลอยด้วยกัน”

ปีนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอแนวคิด “มาด้วยกัน ลอยด้วยกัน” เพื่อลดปริมาณขยะจากกระทง โดยรณรงค์ให้ใช้กระทงที่ใช้วัสดุธรรมชาติร่วมกันแบบ “1 ครอบครัว 1 กระทง, 1 คู่รัก 1 กระทง และ 1 กลุ่ม 1 กระทง”

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรี ทส. บอกว่าแนวทางนี้เป็นการ “สืบสานประเพณีอันดีงามของไทยควบคู่กับการลดขยะพลาสติกและโฟม”

กลุ่มเดียวกัน ใช้กระทงใบเดียวกัน

นอกจากจะเน้นเรื่องการลดปริมาณกระทงแล้ว ทส.ยังรณรงค์ครอบคลุมไปถึงผู้จัดงานลอยกระทงและร้านค้าต่าง ๆ ในงาน ตลอดจนคนมาเที่ยวงาน โดยขอให้ลดการใช้ถุงพลาสติกและโฟมบรรจุอาหาร และขอให้ประชาชนที่ไปเที่ยวงานพกถุงผ้า กระบอกน้ำและนำกล่องอาหารไปเอง เพราะสถานที่จัดงานส่วนใหญ่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ หากจัดการขยะไม่ถูกวิธี อาจลงสู่แม่น้ำลำคลองและออกไปสู่ทะเลในที่สุด

4.ลอยกระทงออนไลน์

กิจกรรมออนไลน์เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในยุค 4.0 ประเพณีลอยกระทงก็เช่นกัน มีการเปิดเว็บไซต์เฉพาะกิจเป็นทางเลือกให้คนที่อยากลอยกระทงแบบไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

เว็บไซต์ลอยกระทงออนไลน์ของ sanook.com มีสโลแกนว่า “สนุก รักษ์โลก รับพร” พร้อมฟีเจอร์ให้ผู้มาเยี่ยมชมเลือกว่าอยากจะ “กำจัด” หรือฝากอะไรทิ้งไปกับกระทง เช่น ขอขมาพระแม่คงคา กำจัดงานที่ค้างอยู่ ความอ้วน ความโสด โรคภัย หนี้สินหรือนิสัยติดโซเชียล

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเปิดเว็บไซต์ลอยกระทงออนไลน์เช่นกัน โดยมีกระทงออนไลน์ให้เลือก 6 แบบ เช่น กระทงกะลามะพร้าว กระทงใบตอง กระทงเปลือกข้าวโพด พร้อมช่องกรอกชื่อครอบครัว คู่รักหรือกลุ่มเพื่อนที่ต้องการลอยกระทงด้วย จากนั้นกรอกคำอธิษฐาน แล้วคลิกที่ปุ่ม “สาธุ” เป็นอันเสร็จพิธี

5.ไม่ลอยกระทง

ไอเดียที่ไปไกลกว่าลอยกระทงเสมือนจริงในโลกออนไลน์อีกขั้นหนึ่งคือข้อเสนอ “ไม่ลอยกระทง” โดยผู้หนึ่งที่ริเริ่มแนวคิดนี้คือแอดมินเพจเจ้าหญิงน้อยแห่งอันดามัน ที่มีผู้ติดตามเกือบ 170,000 คน

ก่อนวันลอยกระทงซึ่งตรงกับวันที่ 11 พ.ย.ประมาณ 1 เดือน แอดมินเพจดังกล่าวได้ประกาศทางเพจเฟซบุ๊กว่า “ปีนี้เราคิดว่า จะตอบแทนคุณพระแม่คงคาด้วยการไม่ลอยกระทง” และติดแฮชแท็ก #งดลอยกระทงตอบแทนพระแม่คงคา ซึ่งมีแฟนเพจเข้ามากดไลค์ แชร์และสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวจำนวนมาก หลายคนบอกด้วยว่าไม่ลอยกระทงมาหลายปีแล้ว เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

https://www.facebook.com/littleprincessofandaman/posts/1150688288461918?__tn__=-R

ไม่ว่าจะเลือกลอยกระทงแบบไหน บีบีซีไทยของให้ทุกคนมีความสุขในเทศกาลลอยกระทง 2562 !

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์