‘ไมเกรน’ภัยเงียบคนทำงาน

Health สุขภาพดีๆ

‘ไมเกรน’ภัยเงียบคนทำงาน – ‘โรคไมเกรน’ ไม่ใช่แค่อาการปวดหัวทั่วไป แต่เป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันและเป็นอุปสรรคต่อการทำงานอย่างแท้จริง

ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทและสมอง คณะแพทย ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การมีความรู้และความเข้าใจอย่างถูกต้องจึงเป็นพื้นฐานสำคัญของการเริ่มต้นสังเกตตนเองและบุคคลใกล้ชิดให้ห่างไกลจากโรคไมเกรนได้ยิ่งขึ้น

ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรคคือ ร้อยละ 10-20 มาจากพันธุกรรม และกว่าร้อยละ 80 – 90 เกิดจากพฤติกรรมสิ่งแวดล้อมที่สมองตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เป็นตัวกระตุ้นทำให้การรับรู้สึกถึงระบบประสาทเกิดความเปลี่ยนแปลงไวกว่าคนปกติ (Hypersensitivity) เช่น ความเครียด ฮอร์โมน พักผ่อนไม่เพียงพอ อากาศเปลี่ยนแปลง ความไวต่อแสงจ้า เสียงดัง และกลิ่นฉุน ล้วนเป็นสิ่งกระตุ้นชั้นยอดต่ออาการปวดศีรษะ รวมไปถึงการเคลื่อนไหว เนื่องจากการเคลื่อนไหวจะกระตุ้นให้อาการปวดศีรษะเลวร้ายมากขึ้นเช่นกัน

นอกจากนี้โรคไมเกรนยังมีอาการอื่นร่วมด้วย ได้แก่ การมองเห็นผิดปกติ คลื่นไส้ อาเจียน หงุดหงิดง่าย หากยิ่งซ้ำเติมจะยิ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการแย่ลงไปอีก โดยระยะของโรคแบ่งความปวดศีรษะเป็น 4 ระยะ ดังนี้

1.ระยะนำ คือบอกเหตุก่อนเริ่มปวดศีรษะประมาณ 1-2 วัน โดยผู้ป่วยจะมีการเปลี่ยนแปลงทางระบบสมองที่ควบคุมร่างกาย เช่น ตัวบวม ปวดเมื่อยตามตัว อารมณ์ รวมถึงพฤติกรรมและความอยากอาหารมากกว่าปกติ

2.ระยะอาการเตือน คือการเตือนก่อนเกิดอาการปวดศีรษะ ประมาณ 5-60 นาที แต่จะไม่เกิดกับผู้ป่วยทุกคน เป็นอาการที่เกิดจากระบบประสาทส่วนกลางทำงานผิดปกติ สามารถเกิดได้หลายรูปแบบ เช่น มองเห็นแสงกะพริบๆ แสงซิกแซ็ก มองเห็นเป็นเส้นคลื่น หรืออาการที่เกิดจากความรู้สึก การเคลื่อนไหว กล้ามเนื้ออ่อนแรง รู้สึกชาที่มือหรือเท้า การพูดลำบาก พูดไม่ชัด ซึ่งอาการเหล่านี้ จะค่อยๆ เริ่มเกิดขึ้น และจะยังคงมีความรู้สึกนี้เป็นชั่วโมง หรือหลายชั่วโมงก็ได้หากมีหลายอาการ

3.ระยะปวดศีรษะ คือ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะด้านใดด้านหนึ่ง โดยมีอาการปวดแบบตุบๆ ตามจังหวะหัวใจเต้น มักจะมาพร้อมกับอาการคลื่นไส้อาเจียน และผู้ป่วยบางรายอาจไวต่อแสงหรือเสียงดัง ซึ่งอาการปวดศีรษะอาจยาวนาน 4-72 ชั่วโมง

4.ระยะหลังจากปวดศีรษะ หรือระยะพัก คืออาการปวดศีรษะและอาการอื่นๆ จะค่อยๆ ลดลง ในระยะนี้ผู้ป่วยอาจจะมีความรู้สึกเหนื่อยล้า ซึ่งอาจกินระยะเวลาไม่กี่วันหลังจากหายปวดศีรษะ

อาการปวดยังแบ่งเป็นชนิดย่อยตามระยะโรคได้อีก 2 กลุ่มได้แก่ เป็นครั้งคราว คือปวดน้อยกว่า 15 วันต่อเดือน และแบบเรื้อรัง คือ ปวดนานมากกว่าหรือเท่ากับ 15 วันต่อเดือน ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องเลี่ยงสิ่งเร้าที่ก่อให้เกิดอาการมากที่สุด

การรักษาไมเกรนให้หายขาดยังเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาค้นคว้ากันต่อไป จุดมุ่งหมายในการรักษาจึงอยู่ที่การรับมือกับอาการปวด เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทุกข์ทรมานจากความปวดน้อยลง

 

ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่การปวดเรื้อรัง คือหมั่นสังเกตตัวเองให้ดี รวมทั้งพิจารณาจากประสบการณ์ที่ผ่านมา หลับให้เพียงพอ 6-8 ชั่วโมงต่อวัน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ จดบันทึกความปวด อาทิ วัน เวลา ระยะเวลา ลักษณะอาการปวด อาหารที่รับประทาน รวมถึงความผิดปกติต่างๆ

“แม้อาการปวดศีรษะแบบไมเกรนจะเป็นประสบการณ์ที่แสนทรมาน แต่หากรู้จักรับมืออย่างถูกวิธีแล้ว ไมเกรนก็อาจไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตประจำวันหรือการทำงานของคุณจนเกินไปนัก ความเข้าใจภาวะโรคไมเกรนของตัวเอง จะช่วยทำให้ผู้ป่วยสามารถจัดการกับโรคได้ดีขึ้น ปัจจุบัน มี Smile Migraine Application ซึ่งผมและทีมงานได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อที่จะช่วยให้ผู้ป่วยไมเกรนสามารถบันทึก ติดตาม อาการปวดศีรษะและยาที่รับประทาน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา และทำให้ผู้ป่วยไมเกรนกลับมายิ้มได้อีกครั้งหนึ่ง หรือหากต้องการพบปะพูดคุยกับผู้ป่วยที่เป็นไมเกรนด้วยกันและช่วยกันสร้างความตระหนักร่วมกันว่า ‘โรคไมเกรนรักษาได้’ สามารถเข้าร่วมได้ที่ Smile Migraine Community ซึ่งประกอบด้วย Facebook Page, Instagram, Twitter และ YouTube” ผศ.นพ.สุรัตน์กล่าว

 

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์