กินขนุนอย่าทิ้งเม็ด ต้มกินชะลอวัย

Tips & Tricks สารพันเกร็ดน่ารู้

รู้แล้วอย่าทิ้ง “เม็ดขนุนต้ม” ของเกินเล่นช่วยลดคอเลสเตอรอล ชะลอความชรา

“ขนุน” เป็นผลไม้พื้นบ้านที่รู้จักกันว่าเป็นไม้มงคล กินได้ทั้งผลดิบและผลสุก จึงมีผู้คนนิยมปลูกหลังบ้าน ด้วยชื่อของขนุน จะหนุนนำความเจริญสู่เจ้าของบ้านนั่นเอง

ขนุนมีชื่อภาษาอังกฤษว่า แจ็คฟรุ๊ต (Jackfruit) ยังไม่รู้ที่มาที่แน่ชัดของชื่อนี้ แต่ทำให้นึกถึงแจ็คผู้ฆ่ายักษ์ เพราะมีความเชื่อว่า การรับประทานขนุนกับน้ำผึ้งเป็นยาบำรุงกำหนัดชั้นยอด คนไทยจึงไม่นิยมถวายขนุนสุกแก่พระภิกษุสงฆ์ เพราะจะทำให้จิตใจไม่สงบ ส่วนคนจีนเชื่อว่าขนุนสุกช่วยแก้กระหายน้ำ แก้เมาสุรา เป็นยาบำรุงกำลังและช่วยย่อย

 

เนื้อขนุนสุกเป็นผลไม้ให้พลังงานอย่างทันอกทันใจ เพราะมีทั้งซูโครสและฟรุกโตส และอุดมไปด้วยวิตามินและเกลือแร่ วิตามินเอและสารฟลาโวนอยด์ที่มีอยู่มากในขนุน ทำให้เยื่อบุต่างๆ ในร่างกายและผิวหนังแข็งแรง ป้องกันปอด ช่องปาก และผิวหนังให้ห่างไกลจากมะเร็ง มีวิตามินซีสูงช่วยต้านการติดเชื้อและอันตรายจากรังสี ขนุนยังมีวิตามินบีช่วยบำรุงประสาทซึ่งไม่ค่อยพบในผลไม้ชนิดอื่น

อีกส่วนที่มีประโยชน์ของขนุน แต่คนเดี๋ยวนี้มักมองข้ามก็คือ “เมล็ด” ของขนุน ซึ่งเป็นอาหารที่มีประโยชน์ให้พลังงานมาก มีโปรตีนสูง พร้อมทั้งเกลือแร่และวิตามิน

คนจีนเชื่อว่าเม็ดขนุนมีสรรพคุณช่วยขับน้ำนม แก่นขนุน ใช้ต้มกินเพื่อคลายเครียด เป็นยาบำรุงเลือดลม บำรุงสุขภาพ มีรสหวานปนขมเล็กน้อย นำมาฝนกับน้ำซาวข้าวก็แก้ฝ้าได้ดี

 

นอกจากนี้ เม็ดขนุน นั้นมีประโยชน์และเม็ดขนุนยังอุดมไปด้วยวิตามินที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น วิตามินเอ วิตามินบี1 วิตามินบี2 และวิตามินซี และแร่ธาตุจำเป็น เช่น ชิงค์ ธาตุเหล็ก แคลเซียม  ฟอสฟอรัส ที่มีส่วนช่วยบำรุงสมอง ลดความเครียด ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความดัน เพราะมีโพแทสเซียมสูง ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจ โดยช่วยเพิ่มระดับไขมันชนิดดี (HDL) และช่วยลดระดับไขมันเลว (LDL)

รวมทั้งสารสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายหลายประการ เช่น ฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ซึ่งเป็นสารที่พบมากในพืชตระกูลถั่ว ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (ซึ่งวิธีการกินนั้นห้ามกินดิบ) สารพอลิฟีนอล (Polyphenol) ที่มีส่วนช่วยกระตุ้นกระบวนการเผาผลาญในร่างกาย ช่วยชะลอวัย (แต่ควรกินในปริมาณที่พอเหมาะ 6-7 เมล็ด)

4
1

ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์