‘ธงทอง’ เผยประวัติศาสตร์การขึ้นครองราชสมบัติ รัชกาลที่ 5’

Culture ศิลปวัฒนธรรม

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 19 กันยายน ที่ห้องโถง มติชนอคาเดมี หมู่บ้านประชานิเวศน์1 สโมสรศิลปวัฒนธรรม จัดเสวนา “ยุวกษัตริย์ รัชกาลที่ 5” โดยศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ชัชพล ไชยพร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง กล่าวว่า การสืบพระราชสมบัตินับแต่โบราณมาล้วนแต่เกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งมีความผันแปรและไม่แน่นอน

 “พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ท่านมีความคิดชัดเจนมากเลยว่าการเป็นพระเจ้าแผ่นดินนั้นไม่ใช่เรื่องของการสืบพระราชสมบัติหรือเรื่องของสวรรค์มอบให้เป็น แต่ว่าเป็นเพราะเจ้านายและขุนนางยอมให้เป็น การเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ท่านมีประสบการณ์มาตั้งแต่รอบแรกที่ท่านไม่ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ไม่ได้เป็นเพราะเจ้านายและขุนนางไม่ให้ท่านเป็น”

หากรัชกาลที่ 4 เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จะต้องได้ครองราชย์ก่อนสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ทำให้รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “พระราชวังนันทอุทยาน” ขึ้น มีพระราชดำริว่าเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตแล้ว และหากพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติต่อจากพระองค์ พระราชโอรสพระราชธิดามิอาจประทับอยู่ในวังหลวงต่อไปได้ จึงมีพระราชดำริให้มาประทับที่พระราชวังนันทอุทยาน แต่เหตุการณ์นั้นมิได้เป็นดั่งที่ตั้งพระทัยไว้ เนื่องจาก พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่เสด็จสวรรคตเสียก่อน

ผศ.ดร.ชัชพล กล่าวเพิ่มเติมว่า รัชกาลที่ 4 ทรงมุ่งหวังที่จะให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ครองราชย์ต่อจากพระองค์สะท้อนจากในพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ประทับพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์บนพระราชยานคานหาม ซึ่งเป็นพระราชยานสำหรับพระมหากษัตริย์เท่านั้น แทนที่จะประทับพระราชยานกงสำหรับเจ้านายชั้นพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้า

นอกจากนี้ ในพระนิพนธ์ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าเรื่องตอนหนึ่งที่เป็นข้อพิสูจน์ได้ว่า รัชกาลที่ 4 หมายมอบพระราชสมบัติให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ความว่า

“เวลาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสสั่งให้เลื่อนกรมเจ้านายครั้งนั้น เสด็จประทับที่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อทรงสั่งแล้วมีพระราชดำรัสให้หาเจ้านายทั้ง 4 พระองค์นั้นเข้าไปเฝ้า ณ ที่รโหฐานตรงหน้าพระพุทธรูป แล้วมีพระราชดำรัสว่าจะทรงปฏิญาณเฉพาะพระพักตร์พระมหามณีรัตนปฏิมากรว่า เจ้านายซึ่งจะเป็นกรมขุน 4 พระองค์นี้ ถ้าใครได้ครองราชย์สมบัติต่อไปจะไม่ทรงรังเกียจเลย เจ้านาย 3 พระองค์ ต่างกราบทูลถวายปฏิญาณว่ามิได้ทรงคิดมักใหญ่ใฝ่สูง ตั้งพระหฤทัยแต่จะสนองพระเดชพระคุณช่วยทำนุบำรุงสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอให้ได้รับราชสมบัติสืบไป”

รูปเสวนา ร.5_๑๙๐๙๒๐_0005
รูปเสวนา ร.5_๑๙๐๙๒๐_0013

กระทั่งเมื่อความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้น เมื่อรัชกาลที่ 4 ทรงประชวรด้วยไข้ป่าหรือมาลาเรียหลังจากเสด็จหว้ากอเพื่อทอดพระเนตรเหตุการณ์สุริยุปราคาตามที่ได้ทรงคำนวณไว้อย่างแม่นยำ ขณะที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ก็ประชวรโรคเดียวกันด้วย ครั้นเมื่อรัชกาลที่ 4 คงทราบพระทัยดีว่าจะทรงมีพระชนม์อยู่ได้อีกไม่นาน จึงทรงเรียกเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์มาปรึกษาเกี่ยวกับกิจการในภายภาคหน้า ทรงมีพระราชดำรัสให้ถวายพระราชสมบัติแก่บุคคลที่เหมาะสมตามสมควร แต่มิได้กำชับโดยตรงว่าให้ถวายพระราชสมบัติให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ และเสด็จสวรรคต วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411

และเมื่อนั้นก็ถึงการณ์แห่งความทุกข์ยากของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ยุวกษัตริย์ในพระชนมายุเพียง 15 พรรษา เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์เสด็จมาถวายน้ำสรงพระบรมศพก็มิได้ถวายเพราะทรงเป็นลมเสียก่อน จนต้องกลับไปประทับที่พระตำหนักสวนกุหลาบ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ประชวรหนักจนเป็นที่กังวลว่าจะเสด็จสวรรคตอีกพระองค์หนึ่งหรือไม่ จนคุณหญิงพัน ภรรยาของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ถึงกับออกปากพูดว่า “นี่พ่อจะอยู่ไปได้อีกสักเท่าไหร่?”

ต่อมาเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้เรียกประชุมเจ้านายและขุนนางเพื่อคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมจะครองราชย์สืบต่อ ผลคือในที่ประชุมเห็นควรเป็นเอกฉันท์ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ถัดไป จากนั้นได้ปรึกษาการเลือก “วังหน้า” ซึ่งได้ลงความเห็นว่าควรถวายบวรราชสมบัติแด่ พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ 

แต่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพทรงไม่เห็นด้วยเพราะผู้ที่จะแต่งตั้ง “วังหน้า” ได้คือพระมหากษัตริย์ เป็นเหตุให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ไม่พอใจ ถามว่า “ที่ไม่ยอมนั้นอยากเป็นเองหรือ”พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ” จึงตรัสตอบว่า “จะให้ยอมก็ต้องยอม” การประชุมจึงเป็นอันตกลงกัน และหลังจากนั้นก็เป็นที่เล่าลือกันว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพไม่เสด็จออกจากวังที่ประทับของพระองค์อีกเลยเนื่องจากการปะทะกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ในครั้งนี้

เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงครองราชย์โดยมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการนั้น พระองค์ทรงเล่าถึงความยากลำบากเมื่อต้นรัชกาล ตามความในพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ความว่า

“ในเวลานั้น อายุพ่อเพียง 15 ปีกับ 10 วัน ไม่มีมารดา มีญาติฝ่ายมารดาก็ล้วนแต่โลเลเหลวไหลก็มิได้ตั้งอยู่ในตำแหน่งราชการอันใดเป็นหลักฐาน ฝ่ายญาติข้างพ่อ คือเจ้านายทั้งปวงก็ตกอยู่ในอำนาจสมเด็จเจ้าพระยา และต้องรักษาตัวรักษาชีวิตอยู่ด้วยกันทั่วทุกองค์ ที่ไม่เอื้อเฟื้อต่อการอันใดเสียก็มี โดยมากฝ่ายข้าราชการถึงว่ามีผู้ที่ได้รักใคร่สนิทสนมอยู่บ้าง ก็เป็นแต่ผู้น้อยโดยมาก ที่เป็นผู้ใหญ่ไม่มีกำลังสามารถอาจจะอุดหนุนอันใด

ฝ่ายพี่น้องซึ่งร่วมบิดาหรือที่ร่วมทั้งมารดาก็เป็นเด็กมีแต่อายุต่ำกว่าพ่อลงไปไม่สามารถจะทำอะไรได้ทั้งสิ้น ส่วนตัวพ่อเอง ยังเป็นเด็กอายุเพียงเท่านั้น ไม่มีความสามารถรอบรู้ในราชการอันใดที่จะทำการตามหน้าที่แม้แต่เพียงเสมอเท่าที่ทูลกระหม่อมทรงประพฤติมาแล้วได้ ยังซ้ำเจ็บเกือบจะถึงแก่ความตายอันไม่มีผู้ใดสักคนเดียว ซึ่งจะเชื่อว่ารอด ยังซ้ำถูกอันตรายอันใหญ่คือทูลกระหม่อมเสด็จสวรรคตในขณะนั้นเปรียบเหมือนคนที่ศีรษะขาดแล้ว จับเอาแต่ร่างกายขึ้นตั้งไว้ในที่สมมติกษัตริย์ เหลือที่จะพรรณนาถึงความทุกข์อันต้องเป็นกำพร้าในอายุเพียงเท่านั้น 

และความหนักของมงกุฎอันเหลือที่คอจะทานไว้ได้ ทั้งมีศัตรูซึ่งมุ่งหมายอยู่โดยเปิดเผยรอบข้าง ทั้งภายในภายนอกหมายเอาทั้งในกรุงเองและต่างประเทศ ทั้งโรคภัยในกายเบียดเบียนแสนสาหัส”

แต่พระองค์ก็สามารถผ่านพ้นเหตุการณ์ความยากลำบากเหล่านั้นมาได้ โดยสรุปได้ว่า ทรงเริ่มจากการรักษาพระองค์ให้หายประชวรเสียก่อน ทรงปฏิบัติพระองค์ด้วยความจริงใจต่อเจ้าจอมทั้งหลายรวมถึงบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ที่เป็นพระเจ้าน้องยาเธอพระเจ้าน้องนางเธอต่างทรงไม่คิดถึงเรื่องเก่าแต่ความหลังที่เคยมีปัญหา ทรงอ่อนน้อมต่อพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ ทรงยกย่องพระบรมวงศานุวงศ์ให้มีวาสนาเสมอความดีที่ได้กระทำ หากกระทำผิดก็ต้องว่าตามความผิด ทรงดูแลข้าราชการทั้งหลายทั้งปวง และทรงไม่อาฆาตผู้ที่วางตนเป็นศัตรูต่อพระองค์

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2413 รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา และในปีถัดมาเสด็จประพาสอินเดีย ซึ่งการเสด็จประพาสทั้งสองครั้งได้มอบแรงบันดาลพระทัยหลายประการจากธรรมเนียมและวิทยาการของชาวตะวันตก ซึ่งได้ทรงนำมาปรับใช้ในสยามหลายอย่าง เช่น เครื่องแต่งกาย (สีกากีและราชประแตน) กิจการรถไฟ การชลประทาน การรับประทานอาหารบนโต๊ะ และอื่น ๆ อีกมากมาย

กระทั่งเมื่อทรงผนวชและได้ลาสิกขาบท ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 พระองค์ก็มิได้มีฐานะเป็น “ยุวกษัตริย์” อีกต่อไป ซึ่งเมื่อถึงเวลานี้เป็นเวลาอันสุกงอมที่จะทรงปกครองบ้านเมืองด้วยพระองค์เองแล้ว และจะทรงนำประเทศสู่การเป็นรัฐสมัยใหม่ในการต่อกรกับจักรวรรดินิยมตะวันตกที่เป็นภัยคุกคามอันใหญ่หลวงต่อสยาม

รูปเสวนา ร.5_๑๙๐๙๒๐_0001