‘มะเมียะ’มีตัวตนหรือเรื่องแต่ง? ‘สมฤทธิ์ ลือชัย’ตอบในเสวนา‘เบื้องหลังเรื่องรักของมะเมียะ’

Culture ศิลปวัฒนธรรม
เสวนาเบื้องหลังเรื่องรักของ “มะเมียะ”

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม  ที่ห้องโถงศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชน(มติชนอคาเดมี) หมู่บ้านประชานิเวศน์1 สโมสรศิลปวัฒนธรรม ในเครือมติชน จัดเสวนา เบื้องหลังเรื่องรักของ มะเมียะ โดย อ.สมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอิสระ และนักเขียนผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมอุษาคเนย์ โดยมี อดิศักดิ์ ศรีสม ดำเนินรายการ

“มะเมียะ” ตำนานความรักที่เป็นเรื่องเล่ากันมาในคุ้มหลวงเจ้าหลวงเชียงใหม่ เรื่องนี้กลายเป็นที่โด่งดังเมื่อคุณ ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง ระบุว่า ปี 2440 เจ้าน้อยศุขเกษม ราชโอรสของนายแก้วนวรัฐ ไปเรียนหนังสือที่มะละเหม่ง ได้พบรักกับสาวพม่า ชื่อมะเมียะ แม่ค้าขายบุหรี่ รักกันจนเรียนจบ ตัดผมมะเมียะให้เป็นผู้ชายแล้วปลอมตัวกลับมาเชียงใหม่ เมื่อถูกจับได้จึงต้องถูกส่งกลับไปเนื่องจากมะเมียะเป็นคนพม่าอยู่ภายใต้อังกฤษ ล้านนาจะได้รับความเดือดร้อน เรื่องนี้ถูกเผยแพร่ในหนังสือเพชรล้านนา และหนังสือชีวิตรักเจ้าเชียงใหม่ จากนั้นก็กลายเป็นที่โด่งดัง นำมาผลิตเป็นเพลง ละครภาพยนตร์ ละครเวที จนกลายเป็นที่รู้จักกันทั่ว ถึงกับมีการจัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี ตำนานรักมะเมียะเมื่อ พ.ศ. 2546 อีกด้วย

อ.สมฤทธิ์ กล่าวว่า  “เหตุการณ์เกิดขึ้นที่ประตูหายยา ฉากที่สะเทือนใจที่สุด มะเมียะกราบลาและสยายผมเช็ดพระบาท และได้วิ่งมากอดกันถึง 3 รอบ ชาวเมืองต่างมารุมเศร้าโศกเสียใจกับคู่รัก และหลังจากนั้นก็ไม่เคยได้เจอกันอีกเลย พอส่งเสร็จเจ้าศุขเกษมนั้นก็ถูกส่งไปรับราชการเป็นข้าราชการที่กรุงเทพฯ และได้สัญญากันว่า 1 เดือนจะตามไป มะเมียะก็รอ 1 เดือน พอ 1 เดือนแล้วไม่ไป มะเมียะก็บวชเป็นแม่ชี เจ้าน้อยศุขเกษมได้ถูกบังคับให้แต่งกับเจ้าหญิงบัวชุม วันหนึ่งเจ้าศุขเกษมกลับไปเชียงใหม่ มะเมียะก็ได้มาเชียงใหม่เป็นแม่ชี มาหาเจ้าศุขเกษม เจ้าศุขเกษมร้องไห้ไม่กล้าไปพบเพราะผิดสัญญา ก็เลยฝากเงิน 800 บาท กับแหวนทับทิม 1 วง ให้ข้าหลวงนำไปให้มะเมียะซึ่งเป็นแม่ชี แล้วก็ไม่ได้เจอกันอีกเลย หลังจากนั้นเจ้าศุขเกษมก็ตรอมใจตายเพราะผิดสัญญา ไม่รักษาคำพูด เมื่ออายุ 33 ปี มะเมียะก็กลับไปอยู่มะละแหม่งเป็นแม่ชี ตายเมื่อปี 2505 เมื่ออายุ 75 ปี

อ.สมฤทธิ์ ยังตั้งข้อสังเกตอีกหลายประการในเรื่องราวของมะเมียะ ว่า  “การลงพื้นที่ ที่มะละเหม่งทำไมไม่มีใครรู้เรื่องมะเมียะ แต่ที่เชียงใหม่มีประเด็นคำสั่งห้ามเจ้าล้านนาแต่งงานกับคนต่างด้าว แต่มีอีกหลายกรณีที่เจ้าล้านนาไปแต่งกับต่างด้าว เช่น เจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่ เป็นน้องของเจ้าศุขเกษม ไปแต่งกับลูกสาวของเจ้าฟ้าเชียงตุง แต่งกันหลังจากเหตุการณ์เจ้าศุขเกษม ฉะนั้นคำสั่งนี้ไม่น่าจริง ถ้ามองในเชิงจารีตด้วยสถานะที่ไม่เท่ากัน ถ้ามะเมียะมีตัวตนจริง คนเกลียดมะเมียะไม่ใช่สยามแต่จะเป็นบ้านเจ้าศุขเกษมเอง เพราะเจ้าสุขเกษมหน้าตาดี มีฐานะ เป็นเจ้า แล้วมาได้สาวชาวบ้านเป็นไพร่ เป็นพม่า และที่สำคัญคือยากจน ขายบุหรี่

 “เหตุผลต่อมา คือ ตอนที่มะเมียะมาเชียงใหม่ได้ปลอมตัวเป็นชาย ซึ่งยากที่จะจับไม่ได้ เพราะมีหน้าอก ผิวพรรณผู้หญิง อีกทั้งในเอกสารเขียนไว้อย่างชัดเจนว่าในวันที่จากกัน มะเมียะสยายผมลงเช็ดพระบาทเจ้าศุขเกษม แต่เพิ่งตัดผมตอนปลอมตัวมา ผมจะยาวเร็วขนาดนั้นเลยหรือไม่ จะเห็นว่ามันมีความย้อนแย้งเต็มไปหมด อีกเหตุผลหนึ่ง กู่วัดแก้วสวนดอก มีกู่ของเจ้าศุขเกษมที่เป็นทรงล้านนา และมีอีกกู่หนึ่งห่างออกไปไม่มาก เป็นกู่ทรงพม่า ว่ากันว่าเป็นกู่ของมะเมียะที่เอามาไว้ใกล้ๆเจ้าศุขเกษม แต่เมื่อตรวจสอบพบว่าเป็นกู่ของเจ้าแม่ทิพสม

อ.สมฤทธิ์กล่าวอีกว่า เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง แต่ที่ไม่จริงคือรายละเอียด มีบุคคล 2 ท่านที่ระบุว่าเคยเห็นมะเมียะ คือ เจ้าทิพวรรณ ณ เชียงตุง และเจ้าสมบูรณ์ ณ เชียงใหม่  ซึ่งน้องสาวเจ้าสมบูรณ์เป็นคนเล่าว่า เจ้าสมบูรณ์เคยบอกว่าเคยพบมะเมียะตอนบวชเป็นชี กำลังกวาดวัดอยู่ แต่เจ้าสมบูรณ์รู้จักได้อย่างไรว่าคนนี้คือ มะเมียะ พบจริงหรือไม่ พูดภาษาอะไร มีคำถามเต็มไปหมด

ถ้าเจอมะเมียะจริง ก็น่าจะเจอหลักฐานที่มะละแหม่ง แต่ปรากฏว่าไม่มีใครรู้จักมะเมียะในมะละแหม่ง ทั้งที่เจ้าน้อยศุขเกษมเป็นคนหน้าตาดีขนาดนั้น เป็นที่รู้จัก ถึงขั้นฝรั่งยังเคยเขียนถึง แต่ไม่พบบันทึกเรื่องนี้ อีกทั้งถ้าเรื่องนี้กระทบกระเทือนต่อสยาม เอกสารราชการของสยามต้องบันทึกเรื่องนี้ไว้ ซึ่งไม่มี แล้วทั้งหมดเรื่อง มะเมียะ เกิดขึ้นเพราะงานเขียนของคุณปราณี

 ส่วนตัวคิดว่า ความรักของเจ้าศุขเกษมกับมะเมียะนั้นมันคือนิยายอิงประวัติศาสตร์ อาจจะเป็นการหยิบยกเรื่องราวในประวัติศาสตร์ขึ้นมาเขียน แต่ประเด็นคือว่าเราไปเชื่อคุณปราณีต่างหาก หลักฐานมีน้ำหนักน้อยมากที่จะเชื่อว่ามะเมียะมีตัวตนจริงๆ เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การที่เราสนใจประวัติศสตร์อย่าอ่านหนังสือเล่มเดียวแล้วเชื่อ ต้องอ่านหลายๆเล่มเพื่อให้มีการตรวจสอบซึ่งกันและกัน บางอย่างเขียนเพื่อประโลมโลก ไม่ใช่ประโลมความรู้ แต่เราไปหลงเชื่อเอง อ.สมฤทธิ์ กล่าว