‘ทิพยประกันภัย’พาคณะครูตามรอยศาสตร์พระราชา ‘ชั่งหัวมัน-หุบกะพง’

Journal ข่าวสาร

บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และมูลนิธิธรรมดี นำคณะครูจำนวน 30 คนจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ร่วมเดินทางไปยัง 1 ใน 9 เส้นทาง 81 แหล่งเรียนรู้ ตามรอยศาสตร์พระราชาในโครงการตามรอยพระราชา ตอน “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา”

นางวิชชุดา ไตรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเดินทางตามรอยพระราชาในครั้งนี้เป็นโครงการตามพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 พร้อมกิจกรรมที่ผสมผสานความสนุกกับการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ที่เน้นเรื่องการถอดรหัสพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ 9 น้อมนำพระปฐมบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ‘เราจะสืบสานรักษาและต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป’ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คณะครูในการร่วมกันสานต่อพระราชปณิธาน เข้าใจ เข้าถึง ‘ศาสตร์พระราชา’ พร้อมทั้งร่วมกันสร้างนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด และปลูกฝังคุณธรรม 4 

ประการ ได้แก่ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา เพื่อสร้างสรรค์และต่อยอดการเรียนการสอนด้วยนวัตกรรม ให้เยาวชนได้เรียนรู้ ได้สัมผัสสิ่งที่พระองค์ทรงทำเพื่อปวงชนชาวไทย เพื่อให้เยาวชนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและมีความสุข

โครงการตามรอยพระราชา ตอน “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา” เที่ยวบ้านไร่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 บนเส้นทางชั่งหัวมันและหุบกะพง เริ่มด้วยการเดินทางสู่โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงซื้อที่ดินจากราษฎร พัฒนาพื้นที่การเกษตรที่เคยเสื่อมโทรมแห้งแล้งให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง โครงการชั่งหัวมัน มีทั้งแปลงเกษตรสาธิตและการทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ พิพิธภัณฑ์ดิน ทุ่งกังหันลมผลิตไฟฟ้าและแผงโซลาร์เซลล์ ฟาร์มปศุสัตว์โคนมและไก่ไข่ ปัจจุบันได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางการเกษตรที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเพชรบุรี

จากนั้นเดินทางไปยังศูนย์เรียนรู้ทางการเกษตรเขากระปุก ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ศูนย์แห่งนี้เป็นสถานที่ฝึกอบรมทางการเกษตรของเกษตรกรและเยาวชนในพื้นที่ โดยเฉพาะครูและนักเรียนจากโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน รวมทั้งเป็นสถานที่เรียนรู้ ศึกษาดูงานของบุคคลทั่วไปของเกษตรกรและเยาวชน ในการทำเกษตรโดยไม่ใช้สารเคมี และมีผักสวนครัวต่าง ๆ จำหน่ายในราคาถูก

คณะครูเดินทางต่อไปไปยังศูนย์สาธิตสหกรณ์ โครงการหุบกะพง ซึ่งมีที่มาจากเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรในปี พ.ศ. 2507 ทรงทราบความเดือดร้อนของเกษตรกรกลุ่มชาวสวนผักชะอำจำนวน 83 ครอบครัว ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ประกอบอาชีพและไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง จึงทรงให้จัดหาที่ดินในเขตจังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ นำมาจัดสรรให้แก่เกษตรกร โดยดำเนินงานในลักษณะหมู่บ้านสหกรณ์ตัวอย่างแห่งแรก ที่เป็นการผนึกกำลังกันด้วยความรู้ความสามารถ ความซื่อสัตย์สุจริต ความเมตตาหวังดี และการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน

ซ้าย-วิชชุดา ไตรธรรม
ซ้าย-วิชชุดา ไตรธรรม
01-5

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เข้าชมแบบจำลองบ้านของเกษตรกรกลุ่มแรกที่อพยพครอบครัวเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่ของโครงการเพื่อพัฒนาชนบทหุบกะพง ร่วมกิจกรรมทำเกลือสปาขัดผิวจากธรรมชาติกับกลุ่มแม่บ้านหุบกะพง ซึ่งได้พัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ในครัวเรือน และสปาจากสมุนไพรส่งจำหน่ายภายในชุมชนและโรงแรมชื่อดังในอำเภอชะอำ ผ่านการรับรองมาตรฐานและยังได้รางวัล OTOP 5 ดาวอีกด้วย ต่อจากนั้นเยี่ยมชมโครงการสืบสานศิลปาชีพ (พิเศษ) จักสานป่านศรนารายณ์ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ได้ทรงพระราชทานอาชีพการทำหัตถกรรมป่านศรนารายณ์ พร้อมทั้งส่งครูผู้สอนมาให้คำแนะนำ จนกลายเป็นสินค้าที่สร้างรายได้และชื่อเสียงให้กับชาวหุบกะพงมาจนถึงปัจจุบัน

ปิดท้ายด้วยการสักการะต้นโพธิ์ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงปลูก ณ วัดหุบกะพง ซึ่งเป็นหน่อโพธิ์จากต้นพระศรีมหาโพธิ์ ประเทศอินเดีย แล้วร่วมกันจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ประจำปีพุทธศักราช 2562

นอกจากนี้ คณะครูยังได้ร่วมกิจกรรมถอดบทเรียน นำโดย นายอดุลย์ ดาราธรรม วิทยากรจิตอาสาจากสมาคมนักเรียนเก่าเอเอฟเอสประเทศไทย (TRAFS) ประกอบด้วยกิจกรรม ‘Game of Our Nation’ ที่สอดแทรกคุณธรรม 4 ประการ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา กิจกรรม ‘The Medici Effect 9’ ถอดบทเรียนและต่อยอดสร้างสรรค์นวัตกรรมจากการตามรอยพระราชา และกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษจากหนังสือชุด King Bhumibol Adulyadej of Thailand เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนให้นักเรียนนักศึกษาได้เข้าใจ เข้าถึงศาสตร์พระราชาและคุณธรรม 4 ประการ พร้อมทั้งสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาตนเองและสังคมต่อไป

ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด ในฐานะผู้จัดกิจกรรมครั้งนี้ ได้กล่าวปิดท้ายโครงการ และให้แต่ละคนได้ออกมาพูดความรู้สึก แชร์ความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับในการร่วมเดินทางในครั้งนี้ จากนั้นก็ร่วมกันร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นอันปิดโครงการลงอย่างซาบซึ้งและตื้นตันใจ

01-8