“หนู” วายร้ายในเงามืด

Content พาเพลิน

นิตยสาร National Geographic ฉบับที่ 213 เดือนเมษายน 2562 ซึ่งเป็นฉบับพิเศษว่าด้วยการสำรวจแนวคิดเพื่อสร้างเมืองแห่งอนาคต มีเรื่องราวของ “หนู” เขียนไว้อย่างน่าสนใจ รวมทั้งอาจเกิดอาการขนลุกขนพองกับภาพและเรื่องราวในเล่ม ผู้เขียน “เอ็มม่า แมร์ริส” เริ่มจากการกล่าวถึง “หนู” คือตัวตนในเงามืดของมนุษย์ กล่าวคือมนุษย์อาศัยอยู่บนพื้นผิวของเมือง ขณะที่หนูตามปกติแล้วจะอาศัยอยู่ข้างล่าง มนุษย์ส่วนมากทำงานตอนกลางวัน ขณะที่หนูทำงานตอนกลางคืน แต่เกือบทุกที่ที่มนุษย์อาศัยอยู่จะมีหนูอยู่ด้วยเสมอ

ลักษณะนิสัยของหนูที่ผู้เขียนบรรยายไว้ ว่าหนูปีนท่อน้ำเก่งมาก โดยปีนอยู่ข้างใน ชอบไต่ขึ้นมาเหนือผิวน้ำในโถสุขภัณฑ์ตัวเปียกปอน หนูบางพันธุ์อย่างในซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา ทำรังบนต้นไม้และไต่ไปมาตามสายโทรศัพท์ ส่วนที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ประชากรหนูในเมืองกำลังทวีจำนวนขึ้นมาก อยู่ระหว่างร้อยละ 15-20 ในทศวรรษที่ผ่านมา

หนูบุกถังขยะ

หนูมีชื่อเสียงเรื่องความสกปรกและเจ้าเล่ห์ เราเห็นหนูเป็นสัญลักษณ์แห่งความเสื่อมโทรมของเมืองและเป็นพาหะนำโรคติดต่อร้ายแรง ทำให้มนุษย์กลัวและรังเกียจหนูยิ่งกว่าสัตว์ในเมืองชนิดอื่นๆ สิ่งที่มนุษย์ชิงชังเกี่ยวกับหนู มีทั้งความสกปรก ความมีลูกดก ความอดทนและไหวพริบในการอยู่รอดของมัน ส่วนใหญ่หนูเติบโตจากขยะและอาหารที่เราทิ้งขว้างอย่างมักง่าย

หนูในนิวยอร์ก ซิตี้

หลายเมืองใหญ่พยายามควบคุมประชากรหนูและกำจัดมัน เช่นที่นิวยอร์ก มีแผนกำจัดหนูขั้นรุนแรงแผนใหม่ เพื่อสู้กับหนูในเขตการเคหะของเมือง ใช้งบประมาณถึง 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีเป้าลดจำนวนหนูให้ได้ถึงร้อยละ 70 ในย่านที่หนูระบาดมากที่สุด หลายเมืองพยายามควบคุมประชากรหนูด้วยยาเบื่อ แต่น่าเสียดายที่ยาเบื่อออกฤทธิ์เร็วใช้ไม่ค่อยได้ผล หนูที่รู้สึกพะอืดพะอมหลังกินยาเบื่อเข้าไปคำสองคำจะหยุดกิน ดังนั้น ธุรกิจกำจัดหนูจึงเลือกใช้ “ยาต้านการแข็งตัวของเลือด” หรือ “ยาละลายลิ่มเลือด” ซึ่งไม่ส่งผลต่อหนูในทันที แต่หลังจากนั้นหลายชั่วโมงหรือหลายวันหนูจะค่อยๆ ตาย จากการตกเลือดภายใน

หนูในวัดการณีมาตา ราชสถาน ประเทศอินเดีย จะได้กินนมและอาหารต่างๆ

คนที่ฆ่าหนูโดยอาชีพน้อยคนจะคาดหวังความสำเร็จ เมื่อหนูในย่านหนึ่งถูกวางยาเบื่อ หนูที่เหลือรอดก็จะแพร่พันธุ์จนมีหนูเต็มรังอีกครั้งอย่างง่ายดาย และหนูรุ่นต่อๆไปก็ยังออกมาเจอกองขยะกองใหญ่วางอยู่บนทางเท้าของทุกคืน “หนูคือผู้ชนะในสงครามนี้” จนกว่าเมืองใหญ่ต่างๆ จะเปลี่ยนวิธีจัดการขยะชนิดถอนรากถอนโคนเสียก่อน

บนเส้นทางสายไหม “หนูนอร์เวย์” (อาจมีชื่อมาจากเรือสัญชาตินอร์เวย์) เข้าครอบครองดินแดนสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน ตั้งแต่ทศวรรษ 1750 “หนูท้องขาว” หรือ “หนูดำ” พบได้ทั่วโลก สันนิษฐานว่าอาจถือกำเนิดในอนุทวีปอินเดีย หนูดำและหนูสีน้ำตาลมักเดินทางไปกับนักสำรวจและพ่อค้าในสมัยโบราณ “หนูจี๊ด” เป็นหนูสกุล Rattus rattus ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว นักสำรวจชาวโปลินีเซียที่ออกเรือจากเกาะตาฮิตินำหนูลงเรือแคนูไปเพื่อเป็นอาหาร พวกเขาตุ๋นเนื้อหนูโดยใช้น้ำมันจากตัวหนูและทำเสื้อคลุมสวยๆ จากขนหนู

แม่ค้าริมถนนโก๋หยุง ประเทศเวียดนาม ขายหนูรมควันเป็นอาหาร

ถึงแม้ชื่อเสียงหนูจะแย่ แต่หนูก็มีคุณสมบัติที่ดี พวกมันฉลาดและมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจกัน ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่าหนูปล่อยหนูตัวอื่นจากกรง ทั้งที่มันไม่ได้อะไรตอบแทนจากการทำเช่นนั้น คนส่วนใหญ่เกลียดหนูเข้ากระดูกดำ จะเป็นเพราะการมีเลศนัยแบบสัตว์กลางคืน หรือหนูชอบทำตัวลับๆ ล่อๆ ไม่เหมือนสัตว์อื่น หนูจึงถูกมองว่าน่ารังเกียจในเกือบทุกวัฒนธรรมของมนุษย์