ตามไปดู “ตะเกียบ” จีน-ญี่ปุ่น-เกาหลี ใช้กินไม่เหมือนกัน..คุณสมบัติคนละแบบ

Food Story อาหาร

หลายคนอาจเคยสงสัยว่าทำไม “ตะเกียบ” ถึงมีหลากหลายแบบ ที่จริงแล้วประวัติศาสตร์บอกเราได้ว่าตะเกียบที่ใช้สำหรับคนญี่ปุ่น คนจีน และคนเกาหลีนั้น มีความเฉพาะตามวัฒนธรรมและธรรมเนียมของแต่ละชาติ

โดย ตะเกียบญี่ปุ่น เราจะเห็นว่ามีลักษณะสั้น และปลายเรียว เมื่อวางเข้าคู่หัวปลายจะค่อยๆเล็กเรียว ส่วนตะเกียบจีน จะมีความยาวกว่าตะเกียบญี่ปุ่น และปลายกลมไม่เรียวเท่า สำหรับตะเกียบเกาหลีเอกลักษณ์จะทำจากโลหะและรูปทรงออกแนวแบน

ทั้งหมดนี้ “เอ็ดเวิร์ด หวัง” นักประวัติศาสตร์ด้านวัฒนธรรมเอเชีย ซึ่งเขียนหนังสือเรื่อง Chopsticks A Cultural and culinary history ได้อธิบายถึงนัยยะและความหมายของตะเกียบแบบต่างๆ

เขาเล่าว่า ตะเกียบถูกนำมาใช้เป็นอุปกรณ์ในการกินตั้งแต่ ศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล โดยตะเกียบที่ค้นพบในอดีตประวัติศาสตร์ดั้งเดิมนั้นมีการผลิตจากหลายหลายวัสดุ และหลายรูปทรง และประยุกต์กันไปตามแต่ละวัฒนธรรมท้องถิ่น

ส่วนเหตุผลความแตกต่างของตะเกียบแต่ละแบบในแต่ละชาติที่ได้เกริ่นไว้ข้างต้นนั้น

อย่างจีน มีวัฒนธรรมการกินแบบ “แบ่งปัน” นำอาหารมาไว้ตรงกลางและกินร่วมกัน ซึ่งรูปแบบการกินนี้เริ่มต้นในศตวรรษที่ 10 เมื่อเริ่มมีการนำโต๊ะและเก้าอี้เข้ามาในจีนและเกิดวัฒนธรรมการนั่งกินด้วยเก้าอี้และใช้โต๊ะร่วมกัน ทำให้เกิดการ “กินอาหารร่วมกัน” นั่นทำให้เป็นคำตอบว่า ตะเกียบของชาวจีนจึงมีลักษณะยาวกว่าชาติอื่น เพราะผู้ร่วมโต๊ะจะได้เอื้อมมือใช้ตะเกียบยาวไปคีบอาหารที่ตั้งอยู่ไกลได้ รวมถึงอาหารบางประเภทเช่นการรับประทานจำพวกเมนูฮอต พอท ซึ่งตะเกียบยาวก็ช่วยให้คีบอาหารโดยไม่ถูกนำซุปที่ร้อนในหม้อน้ำร้อนฮอต พอท กระเด็นใส่มือได้ด้วย

นักประวัติศาสตร์ด้านวัฒนธรรมเอเชีย อธิบายต่อว่า ส่วนตะเกียบญี่ปุ่นที่มักจะสั้นนั้น เพราะวัฒนธรรมการกินของคนญี่ปุ่นจะไม่มีการกินแบบกินในจานกับข้าวร่วมกัน ขณะที่ปลายตะเกียบญี่ปุ่นเรียวแหลมกว่าตะเกียบจีน เพราะคนญี่ปุ่นนิยมกินปลาและปลาเป็นเมนูที่อยู่ในมื้อหลักประจำ ตะเกียบปลายเรียวแหลมจึงมีประโยชน์ในแง่การเลาะก้างปลานั่นเอง

นอกจากนี้อีกหนึ่งเกร็ดวัฒนธรรมตะเกียบของชาวญี่ปุ่น คือ ในอดีตเชื่อกันว่าการใช้ตะเกียบของชาวญี่ปุ่นเป็นเรื่องเฉพาะคน จึงไม่นิยมนำตะเกียบไปคีบในจานอาหารรวมบนโต๊ะ เพราะเชื่อว่าเมื่อปากของเราได้สัมผัสกับตะเกียบแล้วเปรียบดั่งจิตวิญญาณของเราได้สัมผัสกับตะเกียบเช่นกัน ทำให้การใช้ตะเกียบของญี่ปุ่นเป็นเรื่องเฉพาะคน

รวมทั้งในอดีตยังมีธรรมเนียมหนึ่ง กล่าวคือ เมื่อคนในครอบครัวญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็นสามี หรือพ่อ ออกไปสู้รบ และสมาชิกในครอบครัวต้องการรำลึกหรือคิดถึง เวลาจัดจานอาหารที่แต่ละคนจะมีตะเกียบวางไว้บนชุดอาหารของใครของมันแล้ว ก็จะมีการวางตะเกียบหนึ่งคู่ไว้บนโต๊ะเป็นการรำลึกถึงบุคคลในครอบครัวด้วย

สำหรับการใช้ตะเกียบของชาวเกาหลีนั้น จะต่างกันในแง่วัสดุที่ใช้ ซึ่งนิยมใช้ตะเกียบและช้อนทำจากโลหะ โดยที่มานั้น “เอ็ดเวิร์ด หวัง” เล่าว่า ย้อนไปตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 ชาวเกาหลีเชื่อว่าการใช้ตะเกียบที่ทำจากโลหะเงินจะช่วยป้องกันพิษจากสารหนูได้ รวมทั้งตามประวัติศาสตร์ในราชสำนักที่จะมีเจ้าหน้าที่ทดสอบชิมอาหารก่อนเพื่อป้องกันการถูกไส้ศึกหรือศัตรูลอบวางยาในอาหารที่ให้เชื้อพระวงศ์เสวย ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้ทำการทดสอบจะใช้ตะเกียบเงิน และนั่นทำให้ตะเกียบเงินกลายเป็นสัญลักษณ์ขึ้นมา

 

อย่างไรก็ตามไม่ใช่ชาวเกาหลีทุกคนจะสามารถหาใช้ตะเกียบเงินกันได้ ทำให้บางคนจึงเลือกใช้ตะเกียบทำจากโลหะอื่นแทน ส่วนที่ตะเกียบเกาหลีมีความแบนกว่าตะเกียบญี่ปุ่นและจีนนั้น เพราะเนื่องจากทำจากวัสดุโลหะ หรือบ้างก็เป็นเงินแท้ ซึ่งการทำให้มีรูปทรงแบนจะเป็นการประหยัดการใช้วัสดุด้วยส่วนหนึ่ง และอีกเหตุผลหนึ่ง คือ การใช้ตะเกียบโลหะทนทานกับอาหรบางเมนูเช่น เมนูที่ต้องกินสไตล์บาร์บีคิว ย่างไฟ หรือกระทะร้อน เป็นต้น

ปัจจุบันเราจะเห็นตะเกียบหลากหลายรูปแบบ มีการประยุกต์ตามยุคสมัยไปจนถึงตะเกียบกับงานดีไซน์ หากพิจารณาถึงรากแห่งที่มาของมันแล้วก็ถือเป็นบางเสี้ยวจากประวัติศาสตร์ตะเกียบที่วันนี้กลายเป็นเรื่องราวของอีกหนึ่งวัฒนธรรมร่วมสมัยในโลกนั่นเอง


Content Team Matichon Academy
[email protected]
0-2954-3971 ต่อ 2111
ติดตามอ่านข่าวสารได้ที่ www.matichonacademy.com

ไม่พลาดข่าวสารอาหาร ท่องเที่ยว ไลฟ์สไตล์ เกร็ดความรู้
คอร์สเรียนสนุกๆได้ประโยชน์-เสริมอาชีพ
คลิกติดตามเพจเฟซบุ๊ค MatichonAcademy