“พ่อค้าตีเมีย” ไม่ได้หมายถึงคน แต่เป็นชื่อผักต่างหากล่ะ!

Food Story อาหาร
ภาพจาก : krua.co

“พ่อค้าตีเมีย” ผักพื้นบ้านชื่อแปลกที่บางคนอาจยังไม่เคยได้ยิน หรือยังไม่เคยเห็น ว่ามีผักชื่อแปลกๆ แบบนี้อยู่จริง วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับผักชนิดนี้ให้มากขึ้นกันค่ะ

จากบทความวิจัยฯ ของ ดร.ประทุมพร ยิ่งธงชัย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้กล่าวถึงผักชนิดนี้ไว้ว่า พ่อค้าตีเมีย เป็นผักป่าชนิดหนึ่งที่สามารถเจริญเติบโตได้เองตามธรรมชาติ พบได้ในป่าเบญจพรรณที่มีลักษณะค่อนข้างเย็นและชุ่มชื้น ไม่ได้พบตามป่าทั่วไป สภาพพื้นที่ที่พบมักมีลักษณะเป็นดินทรายมีหินและกรวดซึ่งทำให้ยอดและลำต้นสามารถแทงโผล่มาได้ง่าย เจริญเติบโตได้ดีในฤดูฝนช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม ในพื้นที่ป่าหลายแห่งของจังหวัดลำพูนและแม่ฮ่องสอน พบผักพ่อค้าตีเมียเจริญเติบโตอยู่ในดินทรายปนหินจำนวนมาก หลายต้นกำลังแทงยอดเล็กๆ โผล่ออกมาจากดิน หลายต้นเจริญเป็นต้นที่โตเต็มที่ แผ่ใบสวยงาม และเป็นที่น่าสังเกตว่าบริเวณที่ผักพ่อค้าตีเมียเจริญเติบโต มักพบพืชจำพวกกระเจียว หรือพืชตระกูลขิงชนิดอื่นๆ ขึ้นอยู่ด้วยเสมอ ซึ่งแสดงว่าพื้นที่นั้นมีความอุดมสมบูรณ์จึงมีพืชหลากหลายชนิดเจริญเติบโตได้ดี การเก็บผักพ่อค้าตีเมียไปรับประทานชาวบ้านนิยมเก็บเฉพาะต้นที่ยอดกำลังคลี่ใบอ่อนเท่านั้นโดยจะตัดส่วนลำต้นและยอดทั้งหมดที่โผล่พ้นดินออกมา ส่วนต้นที่ใบกางเต็มที่แล้วก็จะปล่อยทิ้งไว้ในป่าเพื่อขยายพันธุ์ต่อไป

สำหรับพ่อค้าตีเมียมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Selaginella argentea (Wall ex. Hook & Grew) Spring อยู่ในวงค์ Selaginellaceae มีชื่ออื่นเรียกว่า ผักกับแก้ (ลำพูน) ภาคกลางเรียก เฟินแผง จัดเป็นเครือญาติใกล้ชิดของเฟิน ลักษณะเป็นพืชกึ่งล้มลุก ขนาดเล็ก ความสูงประมาณ 15-50 ซม. ลำต้นผอมบาง ลำต้นตั้งตรง มีเหง้าไหลทอดไปกับพื้น ใบเป็นใบประกอบและมีใบประกอบย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก มีสีเขียวอ่อน ปนกับเขียวเข้ม มันวาว ก้านใบมีขน ต้นที่เจริญ เติบโตเต็มที่จะมีความสวยงาม สามารถปลูกเป็นพืชประดับได้

การนำผักพ่อค้าตีเมียไปปรุงอาหารนั้น ชาวบ้านนิยมนำไปแกงใส่เห็ดนางรมและปลาแห้ง หรือลวกกินกับน้ำพริก ผักพ่อค้าตีเมียที่ชาวบ้านนำไปขายตลาดจะขายเป็นมัดขนาดเล็กมัดละ 10 บาท เมื่อคิดตามน้ำหนักจะราคาประมาณกิโลกรัมละ 150-200 บาทและจะมีขายเพียงครั้งเดียวต่อปี สำหรับคุณค่าทางอาหารนั้น ผักพ่อค้าตีเมียมีคุณค่าอาหารเหมือนผักอื่นทั่วไป มีปริมาณเหล็ก โพแทสเซียม ฟอสฟอรัสและแคลเซียมค่อนข้างสูง มีวิตามินอี วิตามินบี และมีปริมาณแอนติออกซิเดนท์ จึงมีประโยชน์ต่อร่างกาย

ส่วนที่มาของชื่อผักชนิดนี้ว่า พ่อค้าตีเมีย อาศัยเรื่องเล่าจากชาวบ้านว่า พ่อค้าเดินทางไปขายสินค้า พอกลับมาถึงบ้านจึงทั้งเหนื่อยและหิว ด้วยความหิวจึงเรียกภรรยาให้ยกสำรับมาให้ ในสำรับมีแกงผักชนิดหนึ่ง พอพ่อค้าได้รับประทานแกงผักชนิดนี้เข้าไป ผักในแกงยังกรอบและไม่นุ่ม จึงด่าภรรยาว่าแกงผักไม่สุกแล้วเอามาให้รับประทาน และด้วยความโมโหจึงคว้าไม้ไล่ตีภรรยา ซึ่งความจริงแล้วผักชนิดนี้เมื่อนำไปปรุงอาหารจะมีลักษณะเฉพาะคือ มีความกรอบ ไม่เปื่อยยุ่ยเหมือนผักชนิดอื่น ด้วยสาเหตุนี้ผักชนิดนี้จึงได้ชื่อว่า ผักพ่อค้าตีเมีย ทำให้เป็นผักป่าที่มีชื่อแปลกกว่าผักชนิดอื่น