บุกตรวจ รง.ต้องสงสัยย่านปทุมฯ พบขยะพลาสติก 200 ตัน หาที่มาไม่ได้

Uncategorized

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. พร้อมเจ้าหน้าที่ตัวแทนกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.คลองหลวง กว่า 30 นาย ได้นำหมายค้นศาล จ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี เข้าตรวจค้นบริษัท เจดับบลิว เมททรัลเรคคัพเวอรี่ อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 39/25 หมู่ที่ 5 ต.คลองสี่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี พบพนักงานเสมียนออฟฟิศนั่งประจำเครื่องคอมพิวเตอร์ ชาวจีน ไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ ต้องให้ล่ามจีนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจแปลภาษาให้ ทราบว่าเจ้าของโรงงานไม่อยู่ และเจ้าหน้าที่ได้พบแรงงานกรรมกรชาวจีนและชาวกะเหรี่ยงอีกจำนวน 10 คนภายในโรงงาน บนพื้นที่กว่า 2 ไร่ มีรั้วล้อมรอบมิดชิด กำลังทำการคัดแยกและบรรจุเศษพลาสติกอยู่ บนลานคอนกรีตมีกองวัสดุ เศษชิ้นส่วนตู้เกมส์ เป็นพลาสติกหลากหลายชนิด และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกบางส่วน กองเป็นพะเนินสูง 6 เมตร อยู่ในโรงงานโครงหลังคาสูง และเต็มพื้นที่กลางแจ้ง บนเนื้อที่กว่า 1 ไร่ จึงควบคุมตัวกรรมกรคนงานชาวจีนและกะเหรี่ยง ทำการตรวจสอบหลักฐานการเข้าเมือง

นายสหวัฒน์ โสภา อุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี หลังร่วมตรวจสอบ กล่าวเปิดเผยว่า เป็นนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม สืบเนื่องมาจากปัญหาโรงงานกำจัดขยะพิษ จากอิเล็กทรอนิกที่ จ.ฉะเชิงเทรา ตนได้รับเบาะแสว่ามีโรงงานต้องสงสัยในพื้นที่ จึงได้นำเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจ ซึ่งเป็นโรงงานผลิดเม็ดพลาสติก แท่ง ท่อ หลอด แผ่น และชิ้นส่วนผง หรือรูปทรงต่างๆ และล้างบด ย่อยพลาสติก พบว่ากำลังประกอบกิจการ โดยใช้เครื่องจักรกำลังรวม 463.75 แรงม้า และใช้คนงานรวม 10 คน ลักษณะดังกล่าวเป็นการตั้งโรงงานและประกอบกิจการจำพวกที่ 3 ประเภทหรือชนิดของโรงงานลำดับที่ 37 ไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา12 วรรคหนึ่งและวรรคสองเป็นความผิด มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 กรณีนี้จึงเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 จึงมีคำสั่งให้ระงับการฝ่าฝืนจนกว่าจะได้รับอนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

พล.ต.อ.วิระชัยกล่าวว่า จากการตรวจค้นร่วมกับเจ้าหน้าที่ กรมควบคุมมลพิษ เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม และเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ ได้พบซากชิ้นส่วนพลาสติกและชิ้นส่วนขยะพิษจากเครื่องตู้เกมส์ ยังไม่ทราบว่าแหล่งที่มาจากที่ใด มีจำนวนมากกว่า 200 ตัน หากการทำลายแบบผิดวิธีจะเกิดมลพิษที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ เมื่อซึมลงดินต้องใช้เวลากว่า 6 ปีถึงย่อยสลายได้ หากซึมลงน้ำก็จะเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและย่อยสลายยากกว่าบนดินอีก

 


ที่มา มติชนออนไลน์