Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

“ขอนแก่น” มุมที่ยังไม่เคยรู้ และโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ

“ขอนแก่น” เป็นจังหวัดตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทิศเหนือติดกับ จ.เลย, จ.หนองบัวลำภู และอุดรธานี ทิศตะวันออกติดกับ จ.กาฬสินธุ์และมหาสารคาม ทิศใต้ติดกับ จ.บุรีรัมย์ และนครราชสีมา ทิศตะวันตกติดกับ จ.ชัยภูมิ เพชรบูรณ์ และ จ.เลย โดยทั่วไปพื้นที่เป็นที่ราบสูง มีที่ราบลุ่มบ้างในแถบลุ่มแม่น้ำชี แม่น้ำพอง และแม่น้ำเชิน นอกจากแม่น้ำแล้ว ในเขตจังหวัดขอนแก่นยังมีภูเขาอยู่มากมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายคนนึกไม่ถึง และอาจมองไม่เห็นภาพ แต่ถ้าลองนำเอาแผนที่ประเทศไทยฉบับที่ละเอียดหน่อยมาเปิดดู จะเห็นเลยว่ามีภูเขาจำนวนมากมายอยู่ในขอนแก่น

ตั้งแต่ “ภูผาม่าน” มีลักษณะเป็นหน้าผาสูงชันรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เมื่อมองดูไกลๆ คล้ายกับม่านผืนใหญ่ “ภูเวียง” เป็นทิวเขาในเขต อ.ภูเวียง อ.ชุมแพ อ.สีชมพู และกิ่งอำเภอหนองนาคำ ในเขตอุทยานแห่งชาติภูเวียง “ภูผาคำ” เป็นทิวเขาต่อเนื่องมาจากทิวเขาเพชรบูรณ์ในเขต จ.ชัยภูมิ เขตติดต่อระหว่าง อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ กับกิ่งอำเภอโคกโพธิชัย จ.ขอนแก่น “ภูผาแดง” เป็นทิวเขาต่อจากภูผาคำ เข้าไปในเขตกิ่งอำเภอโคกโพธิชัย และกิ่งอำเภอมัญจาคีรี ถึงบริเวณช่องฝาง

“ภูเม็ง” เป็นทิวเขาแยกออกจากภูผาแดง บริเวณช่องฝาง ผ่านเข้าไปในเขต อ.หนองเรือและสูงขึ้นเป็นภูเขาใหญ่ ในเขตบ้านหนองแวงหัวภู ตำบลบ้านเม็ง แล้วค่อยๆ ลาดต่ำลงสู่พื้นดิน “ภูพานคำ”

เป็นทิวเขาต่อจากภูพานคำน้อย ในเขต ต.โคกสูง อ.อุบลรัตน์ และถูกตัดขาดโดยลำน้ำพองจึงเรียกว่า “พองหนีบ” ต่อมามีการสร้างเขื่อนกั้นน้ำพองตรงบริเวณพองหนีบชาวบ้านจึงเรียกว่าเขื่อนน้ำพอง “ภูโน” เป็นทิวเขาต่อจากภูเค็ง ภูเชือก ภูแผ่ว ภูแอ่น ภูท่าคันโท ติดต่อกับเทือกเขาภูพาน ผ่านเขต อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์เข้ามาในขอนแก่นทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ “ภูวัด” เป็นทิวเขายาวติดต่อกันไปในเขต อ.อุบลรัตน์ อ.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น กับ อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู และ อ.หนองแสง จ.อุดรธานี “เขาสวนกวาง” เป็นภูเขาลูกเล็ก อยู่ทางเหนือกั้นเขตพื้นที่ อ.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น กับ อ.โนนสะอาด จ.อุดรธานี

ส่วนแม่น้ำ ไม่มากเท่าภูเขา แต่ก็ถือว่ามีความสำคัญ อาทิ “แม่น้ำพอง” ต้นน้ำเกิดจากน้ำตกขุนพอง บนภูกระดึง จ.เลย ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ และไหลต่อไปในเขต อ.น้ำพอง อ.เมือง ไปบรรจบกับแม่น้ำชีที่บ้านหนองแสง ต.โพนงาม อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม “แม่น้ำเชิน” ต้นน้ำเกิดจากธารน้ำหลายสายในเทือกเขาเพชรบูรณ์ และภูผาม่าน ในเขตป่าสงวนแห่งชาติดงลาน

“แม่น้ำชี” ต้นน้ำเกิดจากภูหลวงในเทือกเขาเพชรบูรณ์ ทางด้านทิศตะวันตกของจังหวัดชัยภูมิ แล้วไหลไปทางทิศตะวันออกเข้าเขตขอนแก่น ผ่านเขต อ.แวงน้อย อ.แวงใหญ่ กิ่งอำเภอโคกโพธิชัย  อ.ชนบท อ.มัญจาคีรี อ.บ้านไผ่ กิ่งอำเภอบ้านแฮด อ.พระยืน และ อ.เมือง แล้วไหลเข้าเขต อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม มีความยาวในเขตจังหวัดขอนแก่นประมาณ 108 กิโลเมตร ดังนั้นลุ่มน้ำชีในบริเวณนี้จึงมีความสำคัญอย่างมากมาแต่โบราณกาล

สำหรับประชากรใน จ.ขอนแก่น มาจากเผ่าพันธุ์เดียวกันเป็นส่วนใหญ่ คนในพื้นที่เป็นชาวพื้นเมืองเดิมในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ คาบเกี่ยวกับสมัยประวัติศาสตร์ มีร่องรอยทางโบราณคดีปรากฏ เช่น ชุมชนโบราณโนนนกทา บ้านนาดี ต.กุดธาตุ กิ่งอำเภอหนองนาคำ และที่โนนเมืองบ้านนาโพธิ์ อ.ชุมแพ มีอายุอยู่ประมาณ 3,000 ปีเศษ พื้นที่ขอนแก่นเดิมเคยอยู่ในอำนาจการปกครองของ “ขอม” มาก่อน จึงมีโบราณสถาน ศาสนสถานของศาสนาพราหมณ์ปรากฏอยู่ทั่วไป จากนั้นจึงตกอยู่ใต้อำนาจการปกครองของอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ จำปาศักดิ์ ประชาชนลาวได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้ การอพยพของประชากรชัดยิ่งขึ้นในสมัยธนบุรี และต้นรัตนโกสินทร์

การอพยพของประชากรเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตขอนแก่น แบ่งได้ 3 ทาง คือ 1. อพยพมาจากแขวงหลวงพระบาง โดยเข้ามาทาง จ.เพชรบูรณ์ จ.เลย เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขต อ.ภูผาม่าน อ.ชุมแพ และ อ.สีชมพู สำเนียงภาษาพูดเหมือนกับชาวหลวงพระบาง 2. อพยพมาจากแขวงเวียงจันทน์ หนีภัยสงครามและถูกต้อนมาจากสงคราม เข้ามาทาง จ.หนองคาย จ.หนองบัวลำภู เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขต อ.ภูเวียง อ.สีชมพู อ.ชุมแพ และ อ.หนองเรือ สำเนียงภาษาใช้วรรณยุกต์ตรีเป็นส่วนมาก 3. อพยพมาจากแขวงจำปาศักดิ์ เมื่อขอมสิ้นอำนาจ เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่เมืองท่ง ซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ปัจจุบันอยู่ในเขต อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด จากนั้นอพยพขึ้นมาตามลำน้ำชี มาตั้งบ้านเรือนเป็นชุมชนกระจายในพื้นที่ส่วนใหญ่ของ จ.ขอนแก่น สำเนียงภาษาใช้วรรณยุกต์โทเป็นส่วนมาก เหมือนสำเนียงพูดของชาวมหาสารคามและร้อยเอ็ด

ในขอนแก่นมีแหล่งชุมชนโบราณจำนวนมากเช่นเดียวกัน มีตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์เลยทีเดียว ซึ่งที่สำคัญๆ มีดังนี้ แหล่งโบราณคดีโนนนกทา ต.กุดธาตุ กิ่งอำเภอหนองนาคำ มีอายุประมาณ 4,500-5,000 ปีมาแล้ว แหล่งโบราณคดีโนนเมือง อยู่ที่บ้านนาโพ ต.ชุมแพ อ.ชุมแพ มีอายุประมาณ 2,500 ปีมาแล้ว แหล่งโบราณคดีบ้านโนนชัย อยู่ในเขต อ.เมือง มีอายุประมาณ 2,500 ปี สำหรับชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ต่อเนื่องมายังสมัยประวัติศาสตร์ เช่น ชุมชนโบราณบ้านเมืองเพีย ชุมชนโบราณบ้านศรีฐาน ชุมชนโบราณท่ากระเสริม บ้านโนนกู่ โนนแท่น เป็นต้น

หากจะนับโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่ยังหาดูได้แล้ว ส่วนใหญ่จะอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จ.ขอนแก่น พอจะหยิบยกมาเป็นตัวอย่างได้ คือ “ภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ” เป็นภาชนะดินเผาขนาดเล็ก มีเชิงบริเวณลำตัวจนถึงส่วนก้น ตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ ปากกว้าง สภาพสมบูรณ์ ภาชนะดินเผาขนาดใหญ่จะสีดำ ก้นแหลม ปากตัด บริเวณคอถึงไหล่ผิวเรียบขัดมัน บริเวณลำตัวตกแต่งด้วยลายเส้นขนานและเชือกทาบจนถึงส่วนก้น ภาชนะดินเผา เป็นหลักฐานสำคัญที่ผลิตขึ้นในช่วงวัฒนธรรมสมัยกลางของแหล่ง

โบราณคดี “โนนนกทา” ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีแห่งแรกๆ ที่มีการขุดค้นใน จ.ขอนแก่น ผลการวิเคราะห์โบราณวัตถุเหล่านี้ พบว่ามีการนำแกลบข้าวมาเป็นส่วนผสมของดินที่ใช้ปั้น แสดงให้เห็นว่าชุมชนโนนนกทาเป็นชุมชนเกษตรกรรม มีการบริโภคข้าวและทำการเกษตรกรรมมาตั้งแต่ 4,500 ปีมาแล้ว

“ลูกปัดและต่างหูเปลือกหอย” พบที่แหล่งโบราณคดีบ้านโนนชัย ลักษณะของลูกปัดเป็นรูปทรงกลมแบน เจาะรูตรงกลาง ต่างหูมีลักษณะรูปทรงกลม เจาะรูเป็นแนวยาวจนเกือบถึงแกนกลาง แสดงให้เห็นว่า นอกจากการพบร่องรอยการผลิตสินค้าภาชนะดินเผา เครื่องประดับ เกลือ ปลาร้า และสินแร่ต่างๆ เพื่อนำไปค้าขายแลกเปลี่ยนกับชุมชนอื่นที่อยู่ใกล้เคียงแล้ว ชุมชนในแหล่งโบราณคดีบ้านโนนชัย อาจมีการติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนสิ่งของกับชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้ชายฝั่งทะเล เนื่องจากเครื่องประดับดังกล่าวทำจากเปลือกหอยมือเสือ ซึ่งเป็นสัตว์ทะเล

“พระพิมพ์ดินเผาปางยมกปาฏิหาริย์” มีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านหน้าเป็นภาพพระพุทธรูปนั่งสมาธิบนฐานบัวคว่ำบัวหงายเหนือบัลลังก์รูปสี่เหลี่ยม แผ่นหลังทำเป็นรูปซุ้มบัลลังก์ บริเวณขอบมีลวดลายเม็ดประคำหรือลายไข่ปลา ซึ่งเป็นลายวงกลมขนาดเล็กต่อเนื่องกันประดับอยู่ มีประภามณฑลรอบพระเศียร ขอบด้านนอกสุดของประภามณฑลทำเป็นลวดลายคล้ายเปลวไฟ เหนือขึ้นไปมีพระพุทธรูปกำลังลอยอยู่ในอากาศเป็นคู่ๆ ทั้งสองด้าน ตรงกลางด้านบนทำเป็นพระพุทธรูปนั่งสมาธิบนฐานบัวแต่มีขนาดเล็กกว่า และมีรูปบุคคลขนาดเล็กนั่งพนมมือ หันหน้าเข้าหาองค์พระพุทธรูป

ด้านล่างซ้ายมีรูปบุรุษนั่งอยู่บนแท่น หันหน้าออกมาด้านหน้า ด้านขวามีรูปสตรีนั่งอยู่บนแท่นระดับที่ต่ำกว่า กำลังแสดงท่าอัญชลีต่อพระพุทธองค์ มีใบไม้แทรกเป็นลายอยู่พื้นหลัง สันนิษฐาว่าเป็นพระพิมพ์ดินเผา ที่แสดงการเล่าเรื่องพุทธประวัติ ตอนยมกปาฏิหาริย์ ที่เมืองสาวัตถี ซึ่งเป็นปาฏิหาริย์ตอนหนึ่งที่นิยมทำเป็นพระพิมพ์ดินเผาสมัยทวารวดี ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะที่เมืองนครจำปาศรี อ.นาดูน จ.มหาสารคาม นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังนิยมพระพิมพ์ดินเผาปางแสดงธรรม แลพระพิมพ์ดินเผาปางสมาธิ

“พระวัชรธร” เป็นประติมากรรมลอยตัว สลักเป็นรูปบุรุษนั่งสมาธิราบบนฐานกลีบบัว พระหัตถ์ทรงอยู่ใน “วัชรหุมการ” ซึ่งเป็นมุทราของพระพุทธเจ้าสูงสุดในคติพุทธตันตระ คือ พระอาทิพุทธ หรือ พระวัชรธร ประธานของพระพุทธเจ้าผู้ให้กำเนิดพระพุทธเจ้าองค์อื่นๆ พระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้นซ้อนกันในระดับพระอุระ ทรงถือวัตถุทั้งสองข้าง โดยหันด้านที่มีลักษณะคล้ายกลีบบัวออกมาด้านหน้า

สวมกุณฑล และสวมศิราภรณ์คล้ายมงกุฏ มุ่นมวยพระเกศาทรงกรวยแหลม รูปกลีบบัวซ้อนขึ้นไปเป็นชั้นๆ ด้านล่างของรูปเคารพมีเดือยเป็นแกนเพื่อตั้งลงในช่องกลางฐานรูปเคารพ พระวัชรธรพบที่กู่แก้ว มีลักษณะทางศิลปกรรมคล้ายคลึงกับพระวัชรธรที่พบจากกู่สันตรัตน์ อ.นาดูน จ.มหาสารคาม

“พระศิวะ” หรือ “ทวารบาล” เป็นประติมากรรมรูปบุรุษยืน ส่วนพระบาทแตกหักออกจากส่วนเข่า พระกรหักหายไปทั้งสองข้าง พระพักตร์เป็นรูปสี่เหลี่ยม กลางพระนลาฎสลักคล้ายตาที่ 3

สวมกระบังหน้า พระเกศาเกล้าเป็นชฎารูปทรงกระบอกบานออก ประดับกรองศอ สวมกุณฑล ผ้าทรงจีบเป็นริ้วเหน็บชายพกที่พระเพลาซ้ายพาดผ่านพระเพลาขวา ทิ้งชายภูษารูปหางปลาที่ด้านหน้า เสมอขอบภูษาทรงด้านล่าง ชายภูษาด้านบนแผ่เป็นรูปพัดเหนือเข็มขัด ซึ่งเป็นลักษณะการนุ่งผ้าในศิลปะลพบุรีร่วมสมัยกับศิลปะเขมรแบบนครวัด

ส่วนที่ฐานระหว่างพระบาททั้งสองข้างมีร่องรอยของคฑา จึงสันนิษฐานว่าประติมากรรมนี้น่าจะยืนถืออาวุธด้ามยาวอยู่ เนื่องจากมีการสลักคล้ายตาที่ 3 กลางหน้าผากจึงสันนิษฐานว่าประติมากรรมองค์นี้ อาจเป็น “รูปพระศิวะ” มหาเทพในศาสนาพราหมณ์ฮินดู แต่ก็มีนักวิชาการบางคนแย้งว่าน่าจะเป็น “ทวารบาล” นามว่า “นนทิเกศวร” ที่พบคู่กับทวารบาล นามว่า “มหากาล” ก็เป็นได้

โบราณวัตถุเหล่านี้ “มติชนอคาเดมี” พาไปสัมผัสด้วยตาให้เห็นของจริงกันจะจะ ในทัวร์ทริปพิเศษ “ทวารวดี” ปะทะ “เขมร” วัฒนธรรมไฮบริดบนลุ่มน้ำชี เป็นการเดินทางย้อนรำลึกประวัติศาสตร์โบราณในสองจังหวัด คือ ขอนแก่นและชัยภูมิ ซึ่งมีการผสมผสานระหว่างสองวัฒนธรรม ส่วนจะเป็นมาอย่างไรต้องไปฟัง 2 วิทยากรประชันความรู้และข้อพิสูจน์เป็นครั้งแรก

ระหว่าง “ศานติ ภักดีคำ” อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มศว.ประสานมิตร และ “รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง” อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร วันที่ 9-10 พฤศจิกายน 2562 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม และสำรองที่นั่งได้ที่ inbox เฟซบุ๊กเพจมติชนอคาเดมี หรือ โทร 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124 มือถือ 08-2993-9097, 08-2993-9105 ของดีในทริปยังไม่หมดเท่านี้ แต่ยังมีปราสาทสมบูรณ์และสวยที่สุดในอิสานให้ชมอีกด้วย9-10