แนวคิดที่เรียกว่า “เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน” หรือภาษาอังกฤษว่า “sharing economy” เป็นหนึ่งในโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ที่น่าจับตามองในปัจจุบัน โดยมีแนวคิดสำคัญคือการทำธุรกิจแบบการจับคู่กันระหว่าง “ผู้ให้บริการ” ที่มีทรัพยากรหรือทรัพย์สินที่ไม่ได้ใช้งาน หรือมีมากเกินความจำเป็น กับ “ผู้บริโภค” ที่ต้องการใช้สินค้าหรือบริการนั้น ๆ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคแทนการซื้อสินค้าหรือบริการนั้นเป็นของตัวเอง

อีกทั้งยังเป็นช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับผู้ให้บริการอีกด้วย ซึ่งจะอยู่ในรูปแบบของการเช่าหรือการยืมใช้ชั่วระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยมีแพลตฟอร์มหลักเชื่อมโยงธุรกรรมผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อทำให้ทรัพยากรหรือทรัพย์สินเหล่านั้นถูกนำมาใช้หรือจัดสรรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อระบบเศรษฐกิจในวงกว้าง

คนรุ่นใหม่อย่างกลุ่มเจน Z หรือกลุ่มมิลเลนเนียล คือ กลุ่มคนที่เป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตของโมเดลธุรกิจรูปแบบนี้ ซึ่งเป็นผลจากความคุ้นเคยในเรื่องเทคโนโลยี รวมทั้งแรงจูงใจในเรื่องการเติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงการตระหนักเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมและสภาวะโลกร้อนมากกว่าคนรุ่นก่อน  มีเป้าหมายเพื่อลดการผลิตและการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ที่สิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น นำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศ

ตัวอย่างของโมเดลธุรกิจในลักษณะนี้ที่หลาย ๆ คนอาจจะคุ้นเคยกันดี เช่น  อูเบอร์ (Uber) แกรบ(Grab) Airbnb, Car Sharing, Co-Working Space เป็นต้น

หากมองในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม จะพบว่าเริ่มมีการนำแนวคิดเรื่อง “เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน” มาปรับใช้แล้ว ตัวอย่างหนึ่งที่ค่อนข้างชัดเจนและเริ่มแพร่หลายมากขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ คือ “ครัวกลาง” หรือ shared kitchen ซึ่งเป็นการให้บริการเช่าพื้นที่ครัวส่วนกลางและอุปกรณ์ทำครัวแบบอุตสาหกรรมเพื่อประกอบธุรกิจร้านอาหาร

โดยอาจจะรวมถึงการให้บริการเสริมอื่น ๆ ร่วมด้วย อาทิ การทำ branding, จัดซื้อวัตถุดิบ, บรรจุและจัดส่งอาหาร, วิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคและทำการตลาด หรือแม้แต่การให้บริการซอฟต์แวร์สำหรับธุรกิจอาหาร  ซึ่งนอกจากจะช่วยลดภาระของผู้ประกอบการแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนและลดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจลงได้อีกด้วย โดยเฉพาะในส่วนของต้นทุนคงที่ ซึ่งสามารถแชร์กับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่หน้าร้านหรือพื้นที่ครัวเป็นของตัวเอง

นอกจากนี้ หลายประเทศในแถบยุโรปยังมีบริการรับจ้างผลิตอาหารให้กับแบรนด์ร้านอาหารดัง ๆ เพื่อจัดส่งในรูปแบบเดลิเวอรี่อีกด้วย และในแง่ของการท่องเที่ยวนั้นเพื่อตอบโจทย์ทั้งในเรื่องที่พักและอาหาร นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการจากเจ้าของที่พักในท้องถิ่นเพื่อจัดเตรียมอาหารให้ในลักษณะ “ร่วมรับประทานอาหารกับเจ้าบ้าน” ในฐานะแขกของบ้านหลังนั้นอย่างเป็นกันเอง

ซึ่งพบว่านักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ชื่นชอบแนวคิดนี้มาก เพราะเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่แตกต่างจากการไปรับประทานตามร้านอาหารทั่วไป และยังพบว่าปัจจุบัน การกินร่วมกับเจ้าของบ้านได้ขยายรูปแบบการให้บริการไปสู่คอร์สสอนทำอาหารท้องถิ่น รวมทั้งการจัดเตรียมอาหารกล่องสำหรับปิกนิกให้นักท่องเที่ยวด้วย

อย่างไรก็ตาม โมเดลที่ครบวงจรและเป็นระบบแบบนี้อาจจะยังไม่เกิดขึ้นมากนักในไทย แต่เชื่อว่าน่าจะเป็นแนวทางในอนาคตสำหรับธุรกิจอาหารที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะตอบโจทย์แนวคิดรักษ์โลกแล้ว ยังเป็นโมเดลธุรกิจในยุคเศรษฐกิจแบบแบ่งปันที่สร้างความสุขใจทั้งแก่ผู้ให้และผู้รับอีกด้วย