เชื่อได้เลยว่าใครที่เป็นคอเกาหลีจะมีโมเมนต์อิจฉาทีมงานและคนดูแลศิลปินเกาหลีที่ตัวเองชอบ พวกเขาดูแลใกล้ชิดอย่างไรบ้าง เป็นคำถามที่ต้องหาคำตอบ พยายามควานหาผู้ที่เคยดูแลศิลปิน แต่โดนปฏิเสธ ด้วยเหตุผลที่ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และสุ่มเสี่ยงที่อาจจะตกงานไม่รู้ตัว แต่แล้วก็มาเจอผู้ที่ประสบการณ์ในการดูแลศิลปิน-ไอดอลเกาหลีมาแล้วหลายคน ออดอ้อนขอสัมภาษณ์กันอยู่เป็นเดือนจนกระทั่งเขาตอบตกลง แต่อยู่บนเงื่อนไขที่ว่า ห้ามเปิดเผยชื่อ และต้องเขียนด้วยความระมัดระวัง…

จากพีอาร์สู่หน้าที่ดูแลศลป.

เขาเล่าถึงเส้นทางการทำงานก่อนจะมาเป็นผู้ดูแลศิลปินเกาหลีว่า ก่อนหน้านี้ทำงานเป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ของสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง ซึ่งบางครั้งต้องรับหน้าที่ดูแลนักแสดงของช่องด้วย ประกอบกับในขณะนั้นคนสนใจทำงานประชาสัมพันธ์น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณงานที่มี และเริ่มมีศิลปินจากเกาหลีมาโปรโมตในไทยมากขึ้น ทางช่องจึงให้รับหน้าที่ดูแลศิลปินเกาหลีไปโดยปริยาย หลังจากนั้นมีผู้จัดอีเวนท์เกาหลีทาบทามให้มาทำงานด้วย และก็ยังอยู่ทำงานจนถึงวันนี้

อีจงซอก (ภาพจากอินเทอร์เน็ต)

เขาเล่าถึงหน้าที่การดูแลศิลปินก่อนว่า จะต้องจัดหาสิ่งที่ทีมงานและศิลปินต้องการ ทั้งที่ระบุไว้ในสัญญา Artist Rider และที่ท้าทายคนดูแลศิลปินก็คือ การรีเควสต์หน้างาน ที่ไม่ได้ระบุไว้ในข้อตกลง งานแรกที่ได้รับมอบหมายคือการดูแล “อีจงซอก” ในตอนนั้นรู้สึกตื่นเต้นมาก แต่พอผ่านไปหลายงานก็รู้สึกคุ้นชิน เพราะเป็นหน้าที่ที่ต้องทำอยู่แล้ว “ถือเป็นงานแรกที่จะไม่มีวันลืมเลย คิดว่าตัวเองโชคดีที่งานแรกได้เจออีจงซอก เพราะเขาเป็นคนที่ใส่ใจทีมงานมาก ดูสนิทกับทั้งสไตล์ลิสและผู้จัดการส่วนตัว เหมือนเป็นเพื่อนมากกว่าการเป็นผู้ร่วมงาน เขา Nice มากๆ”

ขอขยายความ “หน้าที่” การดูแลศิลปินให้เห็นภาพชัดขึ้น งานดูแลศิลปินจะเริ่มขึ้นเมื่ออย่างเป็นทางการเมื่อศิลปินมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ตั้งแต่ให้การต้อนรับดูแลการเดินทางและการใช้ชีวิตต่างๆ ในระหว่างที่อยู่ในเมืองไทย ตามสัญญาที่ระบุไว้โดยละเอียด “โดยปกติแล้วจะมีรายละเอียดที่ชัดเจน บางศิลปินที่มีชื่อเสียงมากๆ ข้อกำหนดในสัญญาจะมีค่อนข้างมาก บางสัญญารายละเอียดประมาณ 100 ข้อก็มี แต่ที่น่าสนใจและถือเป็นความท้าทายอย่างมากคือการรีเควสต์หน้างาน ถือเป็นงานหินของผู้ดูแลศิลปิน”

รีเควสต์หน้างานคือความท้าทาย

เขาเล่าถึงการเผชิญกับงานหิน คือ การรีเควสต์หน้างานจากทีมงานเกาหลีว่าต้องการเครื่องดื่ม ยกตัวอย่างคือ “แชมเปญ” ที่ระบุยี่ห้อและปีที่ผลิตมาพร้อม

“โจทย์ค่อนข้างยาก แถมมีข้อจำกัดอีกคือ ตอนนั้นเที่ยงคืนแล้ว หากันแบบแทบพลิกกรุงเทพฯ เพราะร้านส่วนใหญ่ก็ปิด บางรายกำหนดสเปคเรื่องการเดินทางว่า ต้องเป็นรถเมอร์เซเดสเบนซ์เท่านั้น หากเดินทางด้วยเครื่องบินก็ต้องระดับ First Class หรือ Business Class เท่านั้น รวมถึงโรงแรมที่พักต้อง 5 ดาว ที่มี Chain ทั่วโลก ระบุอาหารที่ต้องการซึ่งล้วนเป็นอาหารที่มีราคาแพงมาก รวมถึงจำนวนบอดี้การ์ด และการดูแลหน้าห้องตลอด 24 ชั่วโมงก็มี ท้าทายคนทำงานอย่างเรามาก”

ถามเขาต่อว่า ถ้าทำไม่ได้ตามที่รีเควสต์มา จะส่งผลต่องานชิ้นใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่ เขาเล่าว่าส่วนใหญ่จะจัดหาตามที่รีเควสต์มาได้ แต่สำหรับกรณีที่ไม่ได้จริงๆ ก็จะใช้วิธีหาให้ได้ ใกล้เคียงกับที่ต้องการมากที่สุด ถามต่ออีกว่าในกรณีที่ทำให้ไม่ได้ตามที่ต้องการจะส่งผลต่องานในอนาคตหรือไม่นั้น เขาบอกว่า ก็ต้องบอกเหตุผลให้ทีมงานเกาหลีฟังว่าเพราะอะไร ที่ผ่านมาก็รับฟังและจนถึงทุกวันนี้ก็ยังทำโปรเจกต์ต่างๆ ร่วมกันต่อเนื่อง

อีจงซอก (ภาพจากอินเทอร์เน็ต)

ใกล้ชิดศลป.จนน่าอิจฉา

เขาออกตัวมาเลยว่า ไม่ได้ใกล้ชิดศิลปินหรือไอดอลขนาดนั้น แม้ว่าหน้าที่คือการดูแลศิลปินก็ตาม การทำงานคือ ประสานงานกับผู้จัดการหรือทีมงาน ไม่สามารถรับรีเควสต์ตรงจากศิลปินได้ ฉะนั้นจึงไม่มีโมเมนท์ให้อิจฉา โดยเฉพาะศิลปินที่มีชื่อเสียงมากๆ แต่ก็มีบางศิลปินที่ใส่ใจทีมงานที่เมื่อจบงานก็จะกล่าวขอบคุณอาจจะมีเชคแฮนด์บ้าง “ที่น่าจะอิจฉาคือบอดีการ์ดนะ นั่นใกล้จริงๆ โดยเฉพาะเมื่อต้องอยู่ในที่สาธารณะอย่างสนามบินต้องจัดทีมเหนียวแน่น เพื่อป้องกันการรุมของเหล่าแฟนคลับที่มาต้อนรับ”

เทียบศลป.ที่ดังแล้วกับเริ่มเดบิวต์

ในช่วงที่ผ่านมาก็มีทั้งศิลปินที่มีชื่อเสียงแล้ว กับศิลปินที่เริ่มเดบิวต์ที่ต้องดูแล ซึ่งการดูแลแตกต่างกันแน่นอน ถ้าเป็นศิลปินใหม่ก็จะสนุกเพราะความเป็นเด็กของพวกเขาทำให้โจทย์ในการดูแลไม่ยาก “ที่เจอคือจะรีเควสต์ของกินอร่อยๆ โดยเฉพาะไก่ทอดที่เป็นเมนูโปรดของเหล่าศิลปิน รู้สึกเหมือนว่าได้ดูแลน้องมากกว่า”

ทั้งนี้ เมื่อให้เปรียบเทียบการดูแลศิลปินไทยกับเกาหลีแล้วเป็นอย่างไร เขาบอกว่า แตกต่างกันมาก เพราะเกาหลีก็จะมีมาตรฐานของเขา ส่วนศิลปินไทยจะดูแลกันแบบเสมือนเป็นพี่น้อง สบายๆไม่ได้มีความกดดันมากนัก ขณะที่เมื่อทำงานกับเกาหลีที่มีมาตรฐานสูง ทำให้รู้สึกว่า คนละฐานะไปเลยนะ แต่ก็ยกเว้นสำหรับศิลปินที่ทำงานมานาน ที่เข้าใจสไตล์ของแต่ละฝ่ายอยู่แล้ว ทำงานไม่ยาก

มาตรฐานไม่เปลี่ยน

เป็นที่รู้กันดีสำหรับแวดวงผู้จัดอีเวนท์เกาหลีว่า ทันทีที่ได้เป็นคู่สัญญากับต้นสังกัดของศิลปินแล้ว ไม่ว่าจะเป็นงานแฟนมีตติ้งหรือคอนเสิร์ต ก็จะมีข้อตกลง 2 ฉบับคือ ข้อตกลงทางเทคนิค หรือ Technical Rider และข้อตกลงในการบริหารและดูแลศิลปิน หรือ Artist Rider ไม่ว่าจะผ่านไปนานขนาดไหน แต่ข้อตกลงทั้ง 2 ฉบับก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ถือเป็นกรอบการปฏิบัติที่ถ้าใครทำได้ เท่ากับว่าไม่มีอะไรยากแล้วสำหรับธุรกิจจัดอีเวนท์นี้

อย่างไรก็ตาม การจัดอีเวนท์เกาหลีในแต่ละประเทศก็มีความแตกต่างกัน อย่างเช่น หากจัดอีเวนท์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา การดูแลศิลปินกลับแตกต่างจากข้อตกลงในการบริหารและดูแลศิลปินอย่างมาก การรีเควสต์น้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชีย “คิดเอาเองว่าที่มาตรฐานไม่เท่ากันเพราะการขึ้นคอนเสิร์ตที่สหรัฐอเมริกา ก็เสมือนหนึ่งว่าได้ ‘โกอินเตอร์’ เพราะหากขยายตลาดเคป็อปเข้ามาได้ นั่นหมายถึงรายได้จะมหาศาลขนาดไหน เช่น กรณีของวงบีทีเอส (BTS) ที่ตอนนี้กลายเป็นศิลปินเคป็อปที่ทั่วโลกรู้จัก ค่าตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว

วง BTS ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก 방탄소년단

ตัวแทนความพยายาม คังดงวอน-เรน

ในช่วงท้ายๆ ของการสัมภาษณ์ ถามเขาว่ามีศิลปินเกาหลีที่เป็นแรงบันดาลใจให้หรือไม่ เขาตอบว่า “ไม่มี” แต่ตลอดระยะเวลาหลายปีในการดูแลศิลปินเกาหลีนั้น ได้สัมผัสถึงความพยายามของศิลปินแต่ละคน เช่น คังดงวอน “ทุกครั้งที่เขาอยู่หน้ากล้อง เขาสามารถทำหน้าที่นักแสดงได้สมบูรณ์แบบ เมื่อสั่งคัทเขาก็มักจะดูแลทีมงานทุกคน ที่สำคัญคือมีความเป็นผู้ใหญ่มากๆ และ เรน หรือ ชอง จี-ฮุน เขาบอกว่าในเวลาทำงาน เรน มีความตั้งใจอย่างมาก ทำให้รู้สึกได้ว่า เขาผ่านอะไรมาเยอะกว่าจะมีวันนี้ ในแต่ละวันต้องฝึกซ้อมอย่างหนักมาตั้งแต่เด็ก เพราะความพยายามทำให้เขามาถึงจุดที่เรียกว่า “ความสำเร็จ” ในวันนี้

เรน

ก่อนแยกย้าย เขาบอกกับเราว่า จะดีแค่ไหนถ้าประสบการณ์นี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครสักคน

และใครจะไปรู้ว่า..วันหนึ่งผู้ที่อ่านเรื่องราวนี้ อาจจะกลายเป็นไอดอลให้เขาได้ดูแลก็เป็นได้!